data-ad-format="autorelaxed">
ขณะนี้ผ่านมาแล้ว 1 เดือนเต็ม หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมลงนามในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและจีน (พิธีสารเส้นทาง R3) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ( AQSIQ) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2554 และได้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิถุนายน 2554 และในวันนั้นทางกรมวิชาการเกษตร ได้นำคณะสื่อมวลชนกว่า 30 ชีวิตเข้าร่วมสังเกตการณ์ในเส้นทางดังกล่าวด้วย
เดิมประเทศไทยส่งออกผลไม้ไปประเทศจีนโดยทางเรือ ซึ่งจะมีการขนส่งโดยบรรจุผลไม้ในตู้คอนเทนเนอร์จากโรงคัดบรรจุที่จันทบุรี ชุมพร และเชียงใหม่แล้วลากไปส่งออกที่ท่าเรือแหลมฉบังหรือท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5-7 วันที่จะขนไปขึ้นท่าเรือกวางโจวแล้วเข้าไปยังตลาดขายส่งผลไม้เจียงหนาน เมืองกวางโจว ก่อนถูกกระจายไปทั่วประเทศ
ที่ผ่านมาการส่งออกผลไม้จากไทยไปยังจีน จะเป็นการค้าชายแดนคือสินค้าต้องมีการถ่ายลำเปลี่ยนยานพาหนะขนส่งที่ประเทศลาว แล้วถึงจะขนสินค้าข้ามแดนเข้าประเทศจีนได้ ซึ่งการส่งออกโดยวิธีนี้ทำให้ผลไม้เสียหายง่ายและเสียเวลาในการขนถ่ายสินค้า แต่หลังจากมีการทำพิธีสารเส้นทาง R3 ระหว่างกันแล้ว ทำให้ไทยและจีนสามารถส่งสินค้าระหว่างกันได้โดยไม่ต้องเสียเวลาในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าและยานพาหนะ
โดยประเทศไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปประเทศจีนที่ด่านโมห่าน ซึ่งเป็นด่านนำเข้าสำคัญของจีนทางมณฑลยูนนาน เดิมทีจีนไม่อนุญาตให้นำเข้าโดยผ่านประเทศลาว ซึ่งมีระยะทาง 263 กม และจากด่านโมห่าน ผลไม้สามารถส่งไปที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน โดยถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ซึ่งมีระยะทาง 868 กิโลเมตรใช้เวลา 12-14 ชั่วโมง ซึ่งถ้าผู้ส่งออกส่งออกผลไม้จากจันทบุรีไปเมืองคุนหมิงก็จะใช้เวลาทั้งสิ้น 3 วัน หรือส่งไปตลาดเจียงหนาน มณฑลกวางโจว โดยผ่านมณฑลกวางสี มีถนนซูเปอร์ไฮเวย์อย่างดี มีระยะทาง 2,011 กิโลเมตร ก็จะใช้เวลา 40-48 ชั่วโมงเท่านั้น
แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแผนเร่งเจรจาและสร้างความร่วมมือกับจีน ในการเปิดเส้นทางส่งออกสินค้าเกษตรทางบกเพิ่มเติม เช่น เส้นทาง R12 จากไทย (นครพนม)-นาพาว (ลาว)-จาลอ-วิงห์-ฮานอย (เวียดนาม)-จีน (ด่านโหย่วอี้กวาน มณฑลกวางสี) หรือเส้นทาง R8 จากไทย(กรุงเทพฯ-หนองคาย)-ปากซัน-น้ำทอน (ลาว)-กาแจว-วิงห์-ฮานอย (เวียดนาม)-จีน (ด่านโหย่วอี้กวาน มณฑลกวางสี) ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนดังกล่าวก็จะช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่สินค้าเกษตรไทยในตลาดจีนได้เพิ่มสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว
"สุรัตน์ อัตตะ"
ข้อมูลจาก komchadluek.net