data-ad-format="autorelaxed">
ไผ่ เป็นไม้พุ่มหลายชนิดและหลายสกุลอยู่ใน วงศ์หญ้า เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ขึ้นเป็นกอ ลำต้นเป็นปล้องๆ ผลผลิตจากไผ่ที่สำคัญคือ หน่อไม้ ซึ่งเป็นอาหารสำคัญของคนไทย นิยมทานกันมากในเกือบทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน นอกจากนี้ไม้ไผ่ยังมีคุณสมบัติพิเศษทั้งด้านความแข็งแรงและยืดหยุ่นที่เหนือกว่าวัสดุสังเคราะห์หลายชนิด ดังนั้นจึงยังได้รับความนิยมในการทำเครื่องมือเครื่องใช้หลายประเภท ใช้ชะลอน้ำที่เข้าป่าชายเลน นั่งร้านก่อสร้างและบันได เป็นต้น
และ ณ วันนี้ไผ่ได้รับการพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นโดยงานวิจัยของคนไทยที่ได้นำมาพัฒนาเป็นยาจุดกันยุง ไผ่ผลผลิตทางธรรมชาติที่พบเห็นทั่วไปในประเทศไทย กลายเป็นผลงานติดอันดับสากล จากการเปิดเผยของนักวิชาการ นายบัญชร โชคอาภรณ์ชัย อาจารย์พิเศษสถาบันทีเอ็มเอ ระบุว่า นับเป็นความสำเร็จของประเทศไทยและคนไทยที่สามารถคิดค้นและผลิตยาจุดกันยุงจากต้นไผ่ ที่ให้ควันน้อย แต่มากด้วยคุณสมบัติในการส่งกลิ่นไล่ยุงได้ไกล และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้
ที่สำคัญมีอายุการใช้งานอยู่ได้นาน ทีมนักวิจัยได้วิจัยและพัฒนา โดยศึกษาความเป็นจริงของสภาพสังคมไทยพบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาแพ้ควันจากยากันยุง ซึ่งบางรายมีอาการระคายเคือง แสบตา แสบจมูก แต่ยาจุดกันยุงที่ใช้ต้นไผ่เป็นวัตถุดิบพื้นฐานในการผลิต จะลดปัญหาเหล่านี้ด้วยมีควันน้อย แต่ก็ให้ผลแรง สามารถไล่ยุงได้ในรัศมีไกล
นายบัญชร ยังกล่าวด้วยว่า จากรายงานผลการทดสอบยาจุดกันยุงในมหาวิทยาลัยคาทอริค กรุงโซล ประเทศเกาหลี ระบุว่า ยาจุดทั่วไป 1 ขดจะมีฝุ่นควันและสารฟอร์มาลีนเทียบเท่าบุหรี่มากถึง 50 มวน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตในระยะยาว
ด้าน นายธนัท ธนาบริบูรณ์ ผู้บริหารระดับสูง บริษัท ธนัธกร อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดผู้ผลิตยาจุดกันยุง ที่ใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบพื้นฐานในการผลิต ที่มีชื่อเรียกขานกันว่า “เรนเจอร์ สเก้าท์” นั้นเป็นผลผลิตจากโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า หลังจากได้ทดลองนำมาเผยแพร่เพื่อใช้ในประเทศไทย พบว่าสังคมไทยให้การตอบรับเป็นอย่างดี เพราะเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศแบบเอเชีย โดยเฉพาะที่ประเทศพม่าและกัมพูชา จะเป็นที่นิยมค่อนข้าสูง และเพื่อความสะดวกมากยิ่งขึ้นก็จะมีการพัฒนาขบวนการผลิตเพื่อความสะดวกในการใช้งานของผู้ใช้โดยจะผลิตกล่องสำหรับพกติดตัวไปใช้ในที่ต่างๆ ได้
นายธนัท กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ความเหมาะสมต่อการใช้ยาจุดชนิดนี้ นอกจากผู้อยู่อาศัยในบ้านพักโดยทั่วไปแล้ว เกษตรกรชาวสวนยาง, ปศุสัตว์, ทหาร-ตำรวจตระเวนชายแดนและอาสาสมัครที่ต้องใช้ชีวิตและปฏิบัติหน้าที่ในป่าในช่วงกลางคืน รวมถึงเจ้าของฟาร์มและสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นสุนัข, แมว, ไก่, เปิด, หมู, วัว, ควาย ฯลฯ ล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับยุงและโรคร้ายที่ยุงนำมาจึงต้องมีการป้องกัน
ทั้งนี้ การจุดยาจุดกันที่ผลิตจากต้นไผ่จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องยุงได้อย่างครบวงจร และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ อีกด้วย
ข้อมูลจาก dailynews.co.th