data-ad-format="autorelaxed">
โลกร้อนได้อย่างไร
เป็นเวลากว่าทศวรรษมาแล้วที่ Syante Arrhenius นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน ได้พิสูจน์ว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สามารถเก็บกักความร้อนได้ โดย CO2 ในชั้นบรรยากาศซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติได้เก็บความร้อนที่ส่งมาจากดวงอาทิตย์ให้คงอยู่ภายในโลก ทำให้โลกมีอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่หนาวเย็นจนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
แต่ขณะนี้ CO2 ก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาโลกร้อน ได้เพิ่มปริมาณขึ้นมากกว่าช่วงเวลาใดๆ ในประวัติศาสตร์ 420,000 ปีที่ผ่านมา
ปรากฎการณ์เรือนกระจก
ภูมิอากาศของโลกเกิดจากการไหลวนของพลังงานจากดวงอาทิตย์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของแสงแดด พลังงานประมาณร้อยละ 70 ได้ถูกดูดซับโดยผ่านชั้นบรรยากาศลงมาให้ความอบอุ่นกับพื้นผิวโลก แต่อีกร้อยละ 30 จะสะท้อนกลับไปสู่ห้วงอวกาศ ในรูปของแสงอินฟราเรดหรือรังสีความร้อน ทำให้โลกไม่ร้อนจนเกินไป
สูงจากโลกเราขึ้นไปในชั้นบรรยากาศมี “ก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งเปรียบเสมือน “ผ้าห่มธรรมชาติ” ห่อหุ้มอยู่ ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญคือไอน้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) โอโซน(O3) มีเทน(CH4) ไนตรัสออกไซด์(N2O) ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ก๊าซเหล่านี้มีปริมาณรวมกันทั้งสิ้นไม่ถึงร้อยละ 1 ของบรรยากาศ แต่ก็มากเพียงพอที่จะทำให้โลกของเรามีอุณหภูมิอุ่นขึ้นจากเดิมประมาณ 30 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์
CO2 คือตัวการสำคัญ
สาเหตุสำคัญของปัญหาโลกร้อนกว่าร้อยละ 80 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของ CO2ในชั้นบรรยากาศ ในปี พ.ศ. 2534 มีการปล่อย CO2 รวมทั้งโลกในปริมาณสูงถึง 26.4 พันล้านตัน จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก
นักวิทยาศาสตร์ประมาณการเปลี่ยนแปลงของ CO2 ในช่วง 10,000 ปี ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมว่ามีไม่ถึงร้อยละ 10 และธรรมชาติสามารถปรับตัวให้สมดุลกับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ แต่ในช่วงระยะเวลาเพียง 200 ปีที่ผ่านมาระดับ CO2 ได้เพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 30 ถึงแม้บางส่วนจะถูกดูดซับไปโดยมหาสมุทรและพืช แต่ปริมาณ CO2 ก็ยังคงเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ในทุกๆ 20 ปี ซึ่งขณะนี้มีก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศมากที่สุดในรอบ 420,000 ที่ผ่านมา
คาดการณ์ว่าปริมาณการปล่อย CO2 อาจเพิ่มสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันร้อยละ 4 ถึง 320 ในปี พ.ศ. 2643 ซึ่งจำนวนนี้ถือว่ามากกว่าระดับที่มีอยู่ตามธรรมชาติก่อนที่มนุษย์จะเริ่มเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลครั้งใหญ่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ประมาณสองถึงสามเท่า
ก๊าซเรือนกระจกที่มีปริมาณรองลงมาอย่างก๊าซมีเทน (CH4) ก็เพิ่มปริมาณขึ้นเป็นสองเท่าเนื่องจากการทำการเกษตรโดยเฉพาะการปลูกข้าวในนาที่มีน้ำขังและการปศุสัตว์ นอกจากนี้ การฝังกลบขยะ การทำเหมืองถ่านหินและการผลิตก๊าซธรรมชาติก็ปล่อย CH4 เช่นกัน คาดว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจาก CH4 ประมาณร้อยละ 15-20 และการเพิ่มขึ้นของไนตรัสออกไซด์ (N2O) คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) และโอโซน (O3)ประมาณร้อยละ 20 ปริมาณ N2O ที่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 เป็นผลมาจากการทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่
ใครปล่อย CO2
ในปี พ.ศ.2541 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา) ปล่อย CO2 รวมกันถึง ร้อยละ 79 ของปริมาณที่ปล่อยจากประเทศที่พัฒนาแล้ว 25 ประเทศ (OECD) ในปี พ.ศ.2542 กลุ่มประเทศ G8 ได้แก่ ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ และรัสเซีย ได้ปล่อย CO2 รวมกัน คิดเป็นร้อยละ 48.7 ของการปล่อยจากทั่วโลก
ดังนั้นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำจึงควรแสดงความรับผิดชอบโดยการเร่งดำเนินการเพื่อลดการปล่อย CO2 อย่างจริงจังในประเทศของตนเพื่อเป็นตัวอย่างและแนวทางให้แก่ประเทศอื่นๆ ได้ปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นไปตามหลักการของพิธีสารเกียวโต คือ ไม่มีการกำหนดพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่ประเทศที่กำลังพัฒนา ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องเป็นผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริง