data-ad-format="autorelaxed">
เกษตรปลอดสารพิษ สู่วิถีชีวิตที่...พอเพียง
ปัจจุบัน หลายคนให้ความสนใจและใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน ต่างพิถีพิถัน เลือกสรรสิ่งที่ดีในการบริโภค พืชผักต่าง ๆ ที่ปลอดสารพิษ จึงได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน แต่หากจะมองในแง่ของการการทำการเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติ แน่นอนว่า ย่อมเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ปลอดภัย แต่ต้องแน่ใจว่าเป็นการเกษตรที่ปลอดสารอย่างแท้จริง
สำหรับในจังหวัดเชียงใหม่ มีการปลูกพืชผักปลอดสารพิษกันหลายพื้นที่ เช่นเดียวกับที่นี่ แปลงเกษตรบนเนื้อที่ 13 ไร่ ของคุณจรูญ ธาตุอินจันทร์ เกษตรกรผู้ปลูกพืชผักปลอดสารพิษ และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และเป็นเกษตรกรในตัวอย่าง ของ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เล่าให้ถึงการทำเกษตรปลอดสารพิษ ว่า ได้เริ่มทำการเกษตรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 แต่มาเริ่มทำการเกษตรแบบปลอดสารพิษ อย่างจริงจัง เมื่อประมาณ 5-6 ปี ที่ผ่านมา ด้วยเพราะตระหนักถึงสุขภาพ ทั้งต่อตนเองและผู้บริโภค
“เริ่มทำจริง ๆ จัง ๆ เมื่อปี 46 เดิมก็ทำอยู่แล้วเมื่อปี 35 แต่ทำแบบทั่วไป ไม่ได้ทำแบบชีวภาพ พอดีก็มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ ชวนเข้าร่วมโครงการ แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าไหร่ แต่เห็นว่าถ้าทำแบบนี้อายุไม่ยืนแน่นอน จึงหันมาทำอินทรีย์ แต่แรกก็ยังไม่ถึงขั้นปลอดสารจริง แต่ตอนนี้เริ่มเข้าสู่อินทรีย์ ตอนนี้มีบวบ, มะเขือเทศ, พริก, มะเขือ มีแตง มีกะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ตอนนี้มี 13 ไร่ เคมีจะเหลือประมาณซัก 10% เพราะปุ๋ยหมักทำก็ยังไม่พอ เพราะวัสดุก็ต้องไปขนเอา ตอนนี้ก็ขนเอาใบลำไยที่ป่าไผ่ ไม่ยุ่งยาก ต้นทุนก็แทบไม่มี แต่ต้องใช้แรงตัวเอง ต้องใช้เวลาไปขน อย่างตอนนี้มีการรณรงค์ไม่ให้เผาใบไม้ใบหญ้า เวลาเห็นเค้ากวาดกอง ๆ ไว้ ก็จะไปขอ เอารถไปใส่ ช่วยสิ่งแวดล้อมด้วย อีกอย่างก็รณรงค์การเผา ตอนนี้ที่บ้านกองเท่าภูเขา ซึ่งถ้าทำแบบไม่พลิกกอง ก็จะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน แต่ถ้าทำแบบพลิกกองประมาณเดือนสองเดือนก็ใช้ได้แล้ว และไม่ต้องใช้พื้นที่มาก ก็จะกองไว้ตามใต้ต้นไม้ ลานบ้าน ซึ่งทางศูนย์ได้มาทำพื้นที่ไว้ให้ที่บ้าน ใช้ได้หมด อย่างเศษฟาง เศษอะไร ใช้บังรอบก็ทำได้หมด ปีหน้านี้ก็พยายามจะให้หมดไป และไม่ใช้เลย คิดว่าเป็นปีหน้า ค่อยเป็นค่อยไป”
การปลูกผักปลอดสารพิษ ที่คุณจรูญ ทำอยู่นี้ นอกจาก จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการเพิ่มคุณภาพดินโดยการใช้ปุ๋ยหมัก เพิ่มผลผลิตโดยการใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ แล้ว ยัง นำไปสู่การใช้ชีวิตตามหลักแห่งความพอเพียงด้วย
“ตอนนี้ก็อย่างในหลวงท่าบอกไว้ อดทน ประหยัด รอบคอบและอยู่อย่างพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ อยู่อย่างมีความสุขไม่เบียดเบียนใคร อย่างทุกวันนี้คิดว่าครอบครัวอบอุ่น ลูกก็เรียนจบทั้งสามคน ได้น้ำพักน้ำแรงจากการทำสวน ทำกับแม่บ้าน คนงานมีจำนวนสองคน ก็อยากจะเชิญชวนพี่น้องเกษตรกร หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์นี้ เพราะประหยัดต้นทุน เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนเพิ่มรายได้ และปลอดภัยต่อชีวิตทั้งคนใช้และคนทำ”
การทำเกษตรอินทรีย์ เปรียบเสมือนการหวนกลับคืนสู่ธรรมชาติ อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตร ร่างกายไม่ต้องรับสารเคมีหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไป ทำให้เราได้ ใช้สิ่งที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง .....