data-ad-format="autorelaxed">
การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันสำปะหลัง
คอลัมน์ คลื่นความคิด วงศ์ศักดิ์ จารุวนาลัย มติชนรายวัน ฉบับที่ 9953
บทนำ
มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจหลักชนิดหนึ่งของประเทศ ซึ่งปลูกกันมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็นร้อยละ 53.66 ภาคกลาง คิดเป็นร้อยละ 32.10 และภาคเหนือ คิดเป็นร้อยละ 14.23 ในฤดูกาลผลิตปี 47/48 ที่ผ่านมา พื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 6.329 ล้านไร่ ได้ผลผลิตรวม 16.977 ล้านตัน คาดการณ์ว่าในฤดูการผลิตปี 48/49 นี้ มีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 6.44 ล้านไร่ จะได้ผลผลิตรวมทั้งสิ้นประมาณ 18.246 ล้านบาท อันเนื่องจากราคาผลผลิตที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี เฉลี่ยทั่วประเทศประมาณกิโลกรัมละ 1.49 บาท จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น
ปัญหาที่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมักประสบตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาอย่างซ้ำซาก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็คือปัญหาผลผลิตล้นตลาด แม้บางปีผลผลิตจะลดลงไปบ้างก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ราคามันสำปะหลังตกต่ำ
ในอดีตที่ผ่านมาส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะเข้ามาแก้ไขทั้งด้านการผลิต การตลาดและการแปรรูปอย่างมากมาย เช่น โครงการลดพื้นที่การปลูกมันสำปะหลังโดยปลูกข้าวฟ่างลูกผสมสีแดงแทน โครงการส่งเสริมการปลูกมะม่วงหิมพานต์ แทนมันสำปะหลัง มาตรการจูงใจโดยให้โบนัสหรือโควต้าพิเศษแก่ผู้ส่งออกที่สามารถส่งออกมันสำปะหลังไปยังประเทศนอกกลุ่มประชาคมยุโรป การยืมโควต้าจากสัญญาข้อตกลงการค้ามันสำปะหลังระหว่างไทย-ยุโรป การผลิตผลิตภัณฑ์อาหารจากมันสำปะหลัง การกลั่นแอลกอฮอล์ หรือน้ำมันเชื้อเพลิงจากมันสำปะหลังเพื่อผสมหรือใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันมีการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังด้วยการรับจำนำหัวมันสดที่มีเชื้อแป้ง 25% ณ ลานมันกิโลกรัมละ 1.50 บาท
ความพยายามที่จะดำเนินการทุกวิถีทางของส่วนราชการและเอกชนที่จะยกระดับราคามันสำปะหลังให้สูงขึ้นดังกล่าว ดูเหมือนว่าเกษตรกรผู้ยากไร้ได้ผลประโยชน์ตอบสนองกลับมาน้อยเต็มที และตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบทางการค้ามาโดยตลอด ด้วยระบบกลไกการตลาดที่เอื้ออำนวยให้กับคนกลางในการแสวงหากำไรสูงสุดจากการประกอบธุรกิจของตนเอง
ดังนั้น เกษตรกรยุคการค้าไร้พรมแดน จำต้องปรับหลักคิดและระบบการจำหน่ายมันสำปะหลังของตนเองเสียใหม่ โดยใช้ความได้เปรียบทางต้นทุนเดิมที่มีอยู่แล้วในชุมชน ควบคู่ไปกับการศึกษาวิถีการตลาดที่มีประสิทธิภาพ และเลือกใช้วิธีการที่มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับตนเองเป็นไปตามของสถานการณ์ทางการค้าในปัจจุบัน
สำหรับกลไกการตลาดมันสำปะหลังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สามารถจำแนกออกได้ตามลักษณะกระบวนการทางการตลาด ซึ่งมีขั้นตอนดังภาพที่จะแสดงประกอบได้ ดังนี้
พฤติกรรมการจำหน่าย
การจำหน่ายมันสำปะหลังของเกษตรกรภายหลังจาก 9-12 เดือนที่ปลูกและขุดมันสำปะหลังแล้วมักจะนิยมจำหน่ายในรูปหัวมันสดแก่คนกลางถึงร้อยละ 84-90 เนื่องจากสะดวกเพราะอยู่ใกล้ตัว หรือความเคยชินหรือมีภาระผูกพันต่อกันทางด้านการเงิน หรือบุญคุณหรือจำเป็นต้องนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวหรือนำมาชำระหนี้สินก็ตาม เกษตรกรไม่สามารถที่จะเป็นผู้กำหนดราคามันสำปะหลังของตนเองได้ แม้จะอยู่ในฐานะเป็นผู้ผลิตเช่นเดียวกับผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม
การสร้างมูลค่าเพิ่ม
เมื่อกลไกการตลาดเป็นเครื่องจำกัดความได้เปรียบในทางการค้า เกษตรกรจึงควรเปลี่ยนพฤติกรรมการจำหน่ายมันสำปะหลังของตนเองเสียใหม่ จากรูปแบบเดิมซึ่งจำหน่ายให้แก่คนกลางในรูปหัวมันสดเป็นการจำหน่ายเป็นมันเส้น เพราะว่าจะได้ราคาสูงกว่า ทั้งนี้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันสำปะหลังทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ที่มุ่งแก้ปัญหาความยากจนและเพิ่มศักยภาพรวมทั้งโอกาสของคนไทยในการพึ่งพาตนเอง โดยสร้างโอกาสให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วยตนเอง
เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ผู้เขียนใคร่ขอแสดงกรณีตัวอย่างสมมุติว่า ขณะนี้ราคามันสดยืนอยู่ ณ ราคา 1.41 บาท/กก. และมันเส้นราคา 3.90 บาท/กก. แต่หัวมันสดนั้นเมื่อแปรรูปเป็นมันเส้นแล้วจะเหลือน้ำหนักเพียง 0.40 กก. ดังนั้น หัวมันสด 1 กก. หากแปรรูปเป็นมันเส้นสามารถจำหน่ายได้ราคาเพิ่มขึ้น 0.15 บาท พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของครอบครัวเกษตรกรระดับกลางเฉลี่ยมีประมาณครอบครัวละ 10-15 ไร่ ผลผลิตโดยเฉลี่ย 2.5-3.0 ตัน/ไร่
ฉะนั้น หากเกษตรกรจำหน่ายมันสำปะหลังในรูปมันเส้นแล้ว จะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงครอบครัวละ 3,750-6,750 บาท เมื่อหักค่าขนส่งมันเส้นซึ่งต่ำกว่าค่าขนส่งมันสดเพราะว่าเบากว่าแล้ว เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 3,750-6,750 บาท ตามแต่ระยะทางใกล้หรือไกลเพียงใด
การแปรรูปเป็นมันเส้น
ปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในการแปรรูปมันเส้น โดยมากจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับลานตากมัน แนวทางแก้ปัญหาก็คือทยอยขุดในช่วง 9-12 เดือนนับจากวันปลูก ทยอยสับมันสำปะหลัง และทยอยนำออกจำหน่ายเป็นระยะเท่าที่สถานที่สำหรับตากและเก็บและเอื้ออำนวย หรือตามความจำเป็นในการใช้จ่ายหรือตามแรงจูงใจของราคามันสำปะหลัง ส่วนแรงงานที่ใช้สับเป็นมันเส้นนั้นใช้แรงงานในครอบครัว เช่น แรงงานในช่วงเวลาว่างหลังไร่นา หรือเวลาว่างหลังเลิกเรียน โดยเฉพาะเด็กชนบทโดยธรรมชาติจะรู้จักใช้มีดพร้ากันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว จึงเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อครัวเรือนของตนเอง
กรรมวิธีการแปรรูปเป็นมันเส้น
มันเส้น หรือมันสับมือ มันอีโต้ หรือมันกากมือ ซึ่งเกษตรกรบางแห่งใช้เรียกนั้น แท้จริงก็ คือมันเส้นนั่นเอง วิธีการสับเกษตรกรควรสับเฉียง ความหนาไม่เกินกว่า 1 เซนติเมตร(ซม.) เพราะหากหนาเกินไปจะต้องเสียเวลาตากนานมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ระยะเวลาการตากควรอยู่ระหว่าง 5-7 วัน สุดท้ายแล้วแต่ว่าแดดจะจัดเพียงใด ซึ่งแตกต่างกับมันเส้นที่ใช้เครื่อง ซึ่งใช้เวลาตากเพียง 1-3 วัน เท่านั้น เนื่องจากแผ่นบางกว่า เมื่อสับเป็นมันเส้นแล้ว เกษตรกรควรตากที่ลานหรือสถานที่ตากที่ได้รับแดดมากที่สุด หรือที่สำคัญเวลาเก็บควรทำความสะอาดสิ่งเจือปนน้อยที่สุด เพื่อขจัดปัญหาข้อขัดแย้งกับผู้ซื้อ
บทส่งท้าย
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้ที่เกี่ยวข้องควรรณรงค์หรือส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนพฤติกรรมการจำหน่ายในรูปมันเส้นอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นในรูปมันเส้นที่ใช้มีดหรือพร้า หรือมันเส้นที่ใช้เครื่องระบบอุตสาหกรรม แล้วแต่ฐานะทางการเงินจะเอื้ออำนวย โดยมีองค์กรของหมู่บ้านเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันสำปะหลังและเป็นการเพิ่มพูนรายได้ให้กับเกษตรกรทางหนึ่ง อีกทั้งยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาชนบทแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ที่มุ่งแก้ปัญหาความยากจน โดยสร้างโอกาสให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วยตนเอง
และประการสำคัญที่สุดในยามที่มีปัญหาสถานการณ์ความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และความตึงตัวของราคาสินค้าดังที่ทราบกันอยู่นั้น ก็จะเป็นการช่วยขยายเวลาการหายใจของเกษตรกรออกไปได้อีกเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีภาวะหนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบ ในระบบ หรือแม้แต่เกษตรกรที่เป็นผู้ปกครองนักเรียนซึ่งมีแต่ภาครายจ่าย เพราะเป็นการลงทุนที่ไม่ได้มุ่งหวังสิ่งตอบแทนอื่นใดกลับคืนมา ดังนั้น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันสำปะหลังดังที่กล่าวไว้ข้างต้น จึงเป็นการช่วยให้เกษตรกรมีช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกช่องทางหนึ่ง
แม้อาจเพียงเล็กน้อยในทรรศนะของผู้ที่มีฐานะดีอยู่แล้ว แต่สำหรับเกษตรกรถือว่ามีคุณค่าและเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการดำรงชีพอยู่ในสังคมวัตถุนิยมเช่นนี้
อ้างอิง : http://www.nidambe11.net/