data-ad-format="autorelaxed">
สมัย ลิ้มวัชราภรณ์ ทำน้ำหยดในไร่มัน ที่โนนสุวรรณ เพิ่มผลผลิต หยุดเพลี้ยแป้ง
เพราะได้แรงบันดาลใจจากผู้เป็นบิดา คือ คุณประกอบ ลิ้มวัชราภรณ์ ที่ได้นำระบบน้ำหยดเข้ามาใช้กับการปลูกแตงกวา และข้าวโพด จนได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี จึงทำให้ คุณสมัย ลิ้มวัชราภรณ์ ผู้เป็นลูกชาย และเป็นสมาชิกของสหกรณ์การเกษตรโนนสุวรรณ จำกัด เลขทะเบียน 936 อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 30 หมู่ที่ 5 บ้านหนองตาเฮียง ตำบลดงอีจาน อำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้นำระบบน้ำหยดเข้ามาในแปลงปลูกมันสำปะหลังจนประสบความสำเร็จ
ในวันนี้ บนพื้นที่ 20 ไร่ ในครอบครองของคุณสมัย ที่เน้นการปลูกมันสำปะหลังด้วยระบบน้ำหยด จึงกลายเป็นแปลงสาธิตการผลิตมันสำปะหลังระบบน้ำหยด เปิดให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่สนใจ ได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติ
คุณสมัย บอกว่า ได้ปลูกมันสำปะหลังมาเป็นเวลาประมาณ 13 ปีแล้ว โดยในครั้งที่ยังปลูกมันสำปะหลังแบบเดิมจะได้ผลผลิตเพียง 3-4 ตัน ต่อไร่ มีรายได้จากการขายหัวมันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตเท่าไรนัก
แต่ในวันนี้ เมื่อปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบการปลูกแบบน้ำหยด ทำให้ได้ผลผลิตหัวมันสดที่ดีขึ้นมาก โดยเฉลี่ยที่ไร่ละประมาณ 7-8 ตัน ทีเดียว
"สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ได้จากการนำระบบน้ำหยดมาใช้ในการปลูกมันสำปะหลังนั้น มีด้วยกันหลายประการ ทั้งประหยัดเวลาในการดูแล ผลิตมันได้มากขึ้น ลดการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังได้ และมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย" คุณสมัย กล่าว
"อย่างเพลี้ยแป้งนั้นเห็นได้ชัดเลยว่า มีอัตราการระบาดลดลงอย่างมาก ตั้งแต่มีระบบน้ำหยด โดยจากเดิมนั้น ไร่มันสำปะหลังจะต้องได้รับความเสียหายจากการระบาดของเพลี้ยแป้ง ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 แต่เมื่อนำระบบน้ำหยดมาใช้แล้ว การระบาดลดลงเหลือเพียง ร้อยละ 10 เท่านั้น"
คุณสมัย ยังกล่าวถึงรายได้ที่ได้รับว่า ในช่วงที่ผ่านมาขายมันสำปะหลังได้ กิโลกรัมละ 2.50-3 บาท เฉลี่ยไร่ละ 24,000 บาท หากรวมทั้ง 20 ไร่ จะมีรายได้ประมาณ 480,000 บาท นอกจากนี้ ยังสามารถขายท่อนพันธุ์ได้อีก ต้นละ 2 บาท เฉลี่ยแล้วไร่หนึ่งจะมีรายได้จากการขายท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง ประมาณ 3,000 บาท
แต่อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมมองหนึ่งของคุณสมัยที่ทำให้ระบบการปลูกมันสำปะหลังด้วยระบบน้ำหยดยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ทั้งที่มีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเข้ามาดูงานอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ ปัญหาการขาดเงินลงทุน การขาดแคลนแหล่งน้ำและปัญหาระบบไฟฟ้าเข้าไม่ถึงพื้นที่ปลูก
"สำหรับระบบการทำน้ำหยดในไร่มันนั้น จะต้องใช้ต้นทุนประมาณ 7,000 บาท ต่อไร่" คุณสมัย บอกกล่าวถึงต้นทุนที่ต้องเตรียมการไว้
ในไร่มันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 60 ทั้ง 20 ไร่ ในวันนี้ของคุณสมัย จึงมีระบบน้ำหยดวางอยู่ทั่วทั้งแปลง ซึ่งหมายถึงว่าต้องใช้เงินทุนสำหรับการนี้ประมาณ 140,000 บาท
"ทั้งนี้ จะเป็นการลงทุนในครั้งแรกมากที่สุด เพราะต้องซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าเครื่องสูบน้ำ ท่อน้ำ และอื่นๆ แต่หลังจากนั้นจะลงทุนน้อยลง โดยเฉพาะอยู่ที่ไร่ละ 3,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะมีค่าไฟฟ้าอีกปีละ 6,000 บาท และค่าปุ๋ยหมักชีวภาพที่ให้ไปพร้อมกับระบบน้ำอีก เฉลี่ยไร่ละ 1,500 บาท"
"แต่เราจะมีรายได้จากการขายหัวมันสำปะหลังและท่อนพันธุ์ เฉลี่ยปีละ 2 ครั้ง โดยอายุของต้นมันที่ขุดได้นั้น อยู่ที่ประมาณ 6-7 เดือน จากที่ผมทำมานั้นเพียงแค่ขุดหัวมันขายในรอบแรก เราก็สามารถคืนทุนได้แล้ว ส่วนรอบ 2 นั้นถือว่าเป็นกำไร" คุณสมัย กล่าว
สำหรับระบบน้ำหยดของคุณสมัยนั้น จะใช้น้ำจากบ่อน้ำที่ขุดไว้ ซึ่งเป็นบ่อน้ำซับ สามารถมีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งพื้นที่บ่อมีความจุประมาณ 1,260 ลูกบาศก์
ให้ปุ๋ยทางน้ำไว้ด้วย โดยใช้อุปกรณ์ง่ายๆ คือ นำปุ๋ยชีวภาพมาผสมกับน้ำและคนให้เข้ากันในถังพลาสติคใบใหญ่ และจะต่อสายยางในรูปแบบของกาลักน้ำ เพื่อนำปุ๋ยที่ผสมแล้วเข้าไปสู่ระบบท่อที่สูบน้ำจากบ่อ ปุ๋ยดังกล่าวจะไหลไปตามท่อเมนที่วางยาวไว้กลางไร่มันสำปะหลัง ซึ่งจะมีการต่อท่อน้ำหยดในลักษณะก้างปลากระจายไปทั่วทุกแถวของต้นมันสำปะหลัง
"ระบบท่อน้ำหยดนี้ สามารถหาซื้อได้จากร้านจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรทั่วไป คุณสมัยจะวางเครื่องสูบน้ำที่จะมีการวางระบบซึ่งเป็นสายสำเร็จรูป เราเพียงนำมาวางในไร่มัน โดยวางไปตามร่องปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งระยะของรูที่เจาะเพื่อปล่อยให้น้ำหยดออกมานั้น จะอยู่ห่างกันประมาณ 10 เซนติเมตร" คุณสมัย กล่าว
สำหรับท่อน้ำหยดที่วางไปตามร่องปลูกต้นมันสำปะหลังนั้น คุณสมัย บอกว่า จะวางท่อไปพร้อมกับการนำต้นพันธุ์มาปลูก พอเมื่อจะเก็บเกี่ยวขุดหัวมันปะหลังขึ้นมาขาย จะดำเนินการรื้อท่อออกก่อน แล้วจึงเริ่มขุด ส่วนท่อที่รื้อมานั้นจะเก็บไว้ใช้งานในครั้งต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับท่อน้ำหยดที่วางไว้ในไร่มันสำปะหลังนั้น คุณสมัย บอกว่า จะมีอายุการใช้งานได้นานประมาณ 3-4 ปี
"โดยจะให้น้ำหยดแก่ต้นมันสำปะหลังที่ปลูก สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง"
ในส่วนของการให้ปุ๋ยนั้น ครั้งแรกคุณสมัยบอกว่า จะให้ปุ๋ยชีวภาพในช่วงก่อนการไถกลบ เมื่อต้นมันสำปะหลังอายุได้ประมาณ 3 เดือน จะให้ปุ๋ยสูตรระเบิดหัว และในเดือนที่ 5 จะให้ปุ๋ยสูตรระบิดหัวอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ จะใช้ปุ๋ย 7 กระสอบ และเมื่อต้นมันสำปะหลังอายุได้ประมาณ 7 เดือน จะขุดหัวขึ้นมาขาย
"พอผมมาใช้ระบบน้ำหยดแบบนี้ ในเรื่องของการเก็บเกี่ยวก็เร็วขึ้น จากเดิมหากปลูกตามธรรมชาติ การดูแลจะต้องปล่อยให้ต้นเติบโตนาน 12 เดือน จึงขุดหัวมันขึ้นมาได้ แต่พอมาใช้ระบบน้ำหยดสามารถย่นระยะเวลาได้มากขึ้น เหลือเพียง 7 เดือน ก็สามารถขุดหัวมันขายได้แล้ว ที่สำคัญได้หัวมันที่ใหญ่ น้ำหนักดีขึ้นกว่าเดิมมากด้วย" คุณสมัย กล่าว
"ในการทำไร่มันสำปะหลังด้วยระบบน้ำหยดนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าที่อื่นจะมีใครทำหรือไม่ แต่จากที่ผมได้ทำมา รับรองได้เลยว่า สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีมากจริงๆ" คุณสมัย กล่าวในที่สุด
สำหรับผู้สนใจ ต้องการไปศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ระบบน้ำหยดในมันสำปะหลัง สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานสหกรณ์การเกษตรโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 607-187 ซึ่งทางสหกรณ์พร้อมที่จะให้คำแนะนำและนำเยี่ยมชมแปลงสาธิตการปลูกมันสำปะหลังน้ำหยด เพื่อช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังสามารถนำไปปรับใช้จนประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับ คุณสมัย ลิ้มวัชราภรณ์
เร่งสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ตั้งเป้ารุ่นแรก 2,000 คน
คุณธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ส่งผลต่อภาคแรงงานไทยเป็นอย่างมาก ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากถูกเลิกจ้าง โดยในปีที่ผ่านมามีแรงงานถูกเลิกจ้างไปแล้ว จำนวน 163,726 คน ทั้งชายและหญิง และโรงงานปิดกิจการไปแล้วอย่างน้อย 1,000 แห่ง ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การเลิกจ้างในภาคต่างๆ ทำให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนหนึ่งได้รับความเดือดร้อน
"ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาเร่งรัด และดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ถูกเลิกจ้างดังกล่าว โดยการสนับสนุนให้ผู้ถูกเลิกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้ตามกฎหมายโดยเร็ว เช่น การหางานทำใหม่ การส่งเสริมอาชีพอิสระ การสร้างงาน และการเพิ่มพูนทักษะในการปรับเปลี่ยนอาชีพ ทำให้มีผู้ถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมากที่มีศักยภาพในเรื่องการบริหารจัดการตลาด และการผสมผสานเทคโนโลยีเป็นอย่างดี มีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงอาชีพจากการเป็นแรงงานในสถานประกอบการมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม"
แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ยังมีปัญหาเรื่องขาดความรู้ ขาดทักษะ และไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้สนใจขาดโอกาสในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพพื้นฐานของสังคมไทย ที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่แผ่นดิน และสร้างความยั่งยืนของแหล่งผลิตอาหารเพื่อบริโภคและส่งออกให้แก่ประเทศ
"ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้เตรียมจัดงาน "งานชุมนุมเกษตรกรรุ่นใหม่ สร้างเกษตรไทยยั่งยืน" เป็นโครงการที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดโครงการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงานฯ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปฏิรูปที่ดินจังหวัด ยุวเกษตรกร ปราชญ์เกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ ภายใต้โครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ จำนวนประมาณ 2,000 คน"
คุณเฉลิมพร พิรุณสาร เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ ปี 2551-2555
"โดยจะรณรงค์สร้างแรงจูงใจให้บุคคลที่สนใจประกอบอาชีพเกษตรกรรม เห็นความสำคัญและสนใจเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยประมง และวิทยาลัยการอาชีพ ภายใต้หลักสูตรเฉพาะ ที่ให้การศึกษาภาคทฤษฎี และปฏิบัติในการฝึกทักษะ ตลอดจนการคัดเลือกยุวเกษตรกรที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับเข้าศึกษาต่อในระดับวิทยาลัย"
นอกจากนี้ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ลงนามความร่วมมือโครงการพัฒนาเกษตรกรมืออาชีพยุคใหม่กับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเกษตรกรขาดความรู้ในการประกอบอาชีพ ผ่านกระบวนการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ มีจำนวนทั้งสิ้น 3 หลักสูตร ได้แก่
1. หลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ระยะเวลา 3 เดือน กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ว่างงาน แรงงานเลิกจ้าง ผู้ที่จบการศึกษาด้านเกษตรกรรมหรือผู้สนใจ ในปี 2553 มีผู้ที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรดังกล่าว 2 รุ่น จำนวน 550 ราย
2. หลักสูตรพัฒนาเกษตรยั่งยืน กลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และมีที่ดินแล้ว หรือมีบุตรหลานเกษตรกรในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินหรือนอกเขต ในปี 2553 มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 6,570 ราย
3. หลักสูตรเกษตรกรมืออาชีพยุคใหม่ (ปวส. สาขาเกษตรกรรม)
อ้างอิง:
เทคโนโลยีการเกษตร
ธนสิทธิ์ เหล่าประเสริฐ รายงาน
matichon.co.th