data-ad-format="autorelaxed">
แตนเบียนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู
กรมวิชาการเกษตรโดยสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ได้ทำการศึกษาแมลงศัตรูธรรมชาติของ
เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู พบว่า มีแตนเบียนชนิดหนึ่งที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anagyrus lopezi เป็นแมลงที่มีประโยชน์ ช่วยทำลายเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู ที่มีปัญหาระบาดทำลายมันสำปะหลังอยู่ในขณะนี้
แตนเบียนชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ เช่นเดียวกับเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู นักกีฏวิทยาจากศูนย์วิจัยเกษตรเขตร้อนนานาชาติ (International Center for Tropical Agriculture, CIAT) ประเทศโคลัมเบีย สำรวจพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศปารากวัย และนำเข้าไปใช้ควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูในประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกา ตะวันตก รวม 25 ประเทศได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี การใช้แตนเบียนควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังเป็นการใช้ประโยชน์จากการควบคุมศัตรูพืชโดยธรรมชาติ ไม่มีอันตรายต่อคน สัตว์ และสภาพแวดล้อม อาจต้องใช้เวลานานเพื่อรอให้เห็นผลในการควบคุม แต่ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจะเป็นผลสำเร็จที่ยั่งยืน
ประวัติและลักษณะของแตนเบียนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู
แตนเบียนนี้ กรมวิชาการเกษตรนำเข้ามาจากสาธารณรัฐเบนิน เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 จำนวน 500 ตัว และได้นำมาศึกษาทดสอบในห้องปฏิบัติการและสภาพแปลงปลูก เพื่อศึกษาถึงความปลอดภัยในการนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทย และการปรับตัวของแตนเบียนดังกล่าว ตลอดจนประสิทธิภาพในการเข้าทำลายเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง รวมทั้งการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เนื่องจากเป็นแมลงที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
แตนเบียนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู เป็นแมลงขนาดเล็ก มีลำตัวยาว 1.2-1.4 มิลลิเมตร สีดำสะท้อนแสง เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ ปล้องฐานหนวดส่วนที่ต่อจากหัวมีลักษณะเป็นแผ่นแบนขนาดใหญ่กว่าหนวดปล้องอื่น ๆ ส่วนเพศผู้มีปล้องหนวดเรียวยาวทุกปล้อง นอกจากนั้น แตนเบียนเพศเมียยังมีอวัยวะวางไข่ ลักษณะคล้ายเข็มปลายแหลมเรียวยาว ซึ่งปกติจะเก็บซ่อนอยู่ใต้ท้อง ใช้สำหรับแทงฆ่าเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังโดยตรง และใช้สำหรับวางไข่ในลำตัวเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง
ลักษณะแตนเบียนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูเพศเมีย
แตนเบียนช่วยควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอย่างไร
แตนเบียนชนิดนี้เข้าทำลายเพลี้ยแป้งได้ 2 วิธี ได้แก่ การห้ำ และการเบียน โดยสามารถทำลายทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยแป้ง การทำลายโดยการห้ำ แตนเบียนจะออกล่าและฆ่าเพลี้ยแป้งโดยใช้อวัยวะวางไข่แทงเข้าไปในลำตัวเพลี้ยแป้งเพื่อสร้างบาดแผล จากนั้นจะใช้ปากเลียกินของเหลวจากรอยแผล เพื่อนำโปรตีนจากของเหลวในลำตัวเพลี้ยแป้งไปสร้างไข่ วิธีนี้จะทำให้เพลี้ยแป้งตายทันที เมื่อไข่พัฒนาและพร้อมที่จะวางไข่แล้ว แตนเบียนเพศเมียจะทำหน้าที่เป็นตัวเบียนโดยการใช้อวัยวะวางไข่แทงเข้าในลำตัวเพลี้ยแป้ง และวางไข่อยู่ภายในลำตัว เมื่อไข่ของแตนเบียนฟักเป็นตัวหนอน ตัวหนอนจะดูดกินของเหลวในลำตัวเพลี้ยแป้ง เจริญเติบโต และเข้าดักแด้อยู่ภายใน ทำให้เพลี้ยแป้งค่อย ๆ ตายไป และตัวเพลี้ยแป้งจะมีลักษณะเป็นซากแข็ง สีน้ำตาล ซึ่งมีดักแด้แตนเบียนอยู่ภายใน เรียกว่า “มัมมี่” เมื่อพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยแล้วจะเจาะผนังมัมมี่ออกมาสู่ภายนอก และออกหาเพลี้ยแป้งเพื่อห้ำและเบียนต่อไป
แตนเบียนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูเพศเมียกำลังเข้าทำลายเพลี้ยแป้งสีชมพู
ระยะเวลาตั้งแต่วางไข่ถึงตัวเต็มวัยเจาะออกจากมัมมี่ประมาณ 17-20 วัน ขนาดและความสมบูรณ์ของเพลี้ยแป้งเป็นตัวกำหนดเพศของแตนเบียน โดยแตนเบียนเพศเมียเมื่อผสมพันธุ์ แล้ววางไข่ในเพลี้ยแป้งขนาดเล็กมักจะเจริญเติบโตเป็นแตนเบียนเพศผู้ หากวางไข่ในเพลี้ยแป้งขนาดใหญ่และมีความสมบรูณ์มักจะได้แตนเบียนเพศเมีย แตนเบียน 1 ตัวสามารถฆ่าและทำลายเพลี้ยแป้งได้วันละ 20-30 ตัว ขึ้นกับขนาดของเพลี้ยแป้งที่ถูกกิน และลงเบียนเพลี้ยแป้งได้วันละ 15-20 ตัว
การปล่อยแตนเบียนในแปลงมันสำปะหลัง
หลังจากศึกษา ทดสอบ ในห้องปฏิบัติการแล้ว พบว่ามีความปลอดภัยสามารถนำมาใช้ควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูในประเทศได้ กรมวิชาการเกษตรจึงให้นำแตนเบียนออกปล่อยเพื่อทดสอบ ภายใต้การควบคุม และกำกับดูแลของนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง โดยทำการปล่อยอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ในวันที่ 28 ธันวาคม 2552 และนำออกปล่อยเพื่อประเมินผลเพิ่มเติมที่สถาบันวิจัยมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย (ห้วยบง) และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดนครราชสีมา คาดว่าจะสามารถทราบผลได้ภายใน 6 เดือน และประเมินประสิทธิภาพในการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้อนุญาตให้ปล่อยเพื่อควบคุมในสภาพแปลงได้ และได้มีพิธีปล่อยแตนเบียน และส่งมอบแตนเบียนนี้ให้กับหน่วยงานที่เกียวข้องนำไปขยายผลต่อไปในวันที่ 17 กรกรฏาคม 2553
แตนเบียนเพศผู้
แตนเบียนเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้
การปล่อยแตนเบียนในแปลงมันสำปะหลัง
ยอดมันสำปะหลังภายหลังปล่อย 3 เดือน
การใช้แตนเบียนควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังไม่มีอันตรายต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
แต่อาจต้องใช้เวลานานเพื่อรอให้เห็นผลในการควบคุม แต่ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจะเป็นผลสำเร็จที่ยั่งยืน
ข้อมูลจาก
กรมวิชาการเกษตร 50 พหลโยธิน จตุจักร กรุงเทพ 10900
Tel : 02-9406408 e-mail:[email protected]