data-ad-format="autorelaxed">
เกษตรฯแจ้งเตือนชาวไร่เฝ้าระวังโรค “อุบัติใหม่” ในมันสำปะหลัง พบครั้งแรกในเขต อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เชื้อราเป็นสาเหตุต้นกล้าไหม้-เน่า แนะเกษตรกรหมั่นตรวจแปลง หวั่นระบาดลามกระทบอุตสาหกรรมมันสำปะลังไทยทั้งระบบ
นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร ได้ตรวจพบโรคอุบัติใหม่ในแหล่งปลูกมันสำปะหลังของไทย คือ โรคต้นกล้าไหม้ ที่มีสาเหตุจากเชื้อรา Phytophthora parasitica ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีรายงานในประเทศไทยโดยพบในพื้นที่อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา โดยเชื้อราที่ก่อโรคดังกล่าวจะทำลายต้นกล้ามันสำปะหลังอายุ 1-3 เดือนที่อ่อนแอ โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนและมักทำลายต้นกล้าที่ถูกเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูทำลายด้วย ทำให้ต้นกล้าไหม้และเน่า สร้างความสูญเสียให้กับเกษตรกร
แม้ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคต้นกล้าไหม้ในมันสำปะหลังยังไม่รุนแรงมากนัก แต่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศต้องติดตามเฝ้าระวังโรคต้นกล้าไหม้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ก่อนที่จะแพร่ระบาดลุกลามเป็นกว้าง ซึ่งอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทยในระยะยาว และเชื้อรา P. parasitica นี้ ยังมีโอกาสที่จะระบาดลามไปยังสวนพริก งา และปอแก้วได้ด้วย
“ต้นกล้ามันสำปะหลังที่ถูกเชื้อรา P. parasitica เข้าทำลาย ประมาณ 1-3 เดือนหลังปลูก ใบจะไหม้เป็นสีดำ โดยใบที่อยู่ล่างสุดและใกล้ดินจะแสดงอาการใบไหม้ก่อน จากนั้นก้านใบก็แห้งและเชื้อราจะเข้าทำลายลำต้นทำให้ต้นเน่าและตายในที่สุด ซึ่งต้นกล้ามันสำปะหลังจะตายเป็นหย่อมๆ และค่อยลุกลามกว้างขึ้นหากควบคุมไม่ทัน” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
นายจิรากรกล่าวถึงแนวทางป้องกันและควบคุมโรคต้นกล้าไหม้มันสำปะหลังว่า เบื้องต้นเกษตรกรควรควบคุมและกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู ให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระดับเศรษฐกิจของการผลิตมันสำปะหลัง โดยเลือกใช้ท่อนพันธุ์ดี สมบูรณ์ แข็งแรงและปลอดเพลี้ยแป้ง ควรเป็นท่อนพันธุ์สะอาดที่มาจากแปลงผลิตท่อนพันธุ์โดยตรง ไม่ควรใช้ท่อนพันธุ์จากแปลงที่ผลิตหัวมันสดป้อนโรงงาน ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นแนวทางป้องกันและลดปัญหาโรคต้นกล้าไหม้ได้
นอกจากนี้ก่อนปลูกควรไถและตากดินไว้ประมาณ 10-14 วัน เก็บเศษต้นมันสำปะหลังที่มีอยู่ในแปลงออกให้หมด ทำการปรับปรุงสภาพดินให้มีความเป็นด่างสูงขึ้นโดยใช้ปูนขาว พร้อมปรับปรุงบำรุงดินให้ระบายน้ำและอากาศได้ดี โดยเพิ่มจำนวนประชากรจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เพื่อแข่งขันและช่วยลดจำนวนเชื้อรา P. parasitica ด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดแข็งหรือเหลวผสมกับเชื้อราไตรโคเดอมา(Trichoderma) หรือเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส(Bacillus) คลุกลงไปในดินซึ่งเป็นการป้องกันด้วยชีววิธีที่ได้ผลดี
“หลังปลูกเกษตรกรควรเฝ้าระวังและหมั่นตรวจแปลงอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ หากพบต้นมันสำปะหลังมีอาการใบไหม้ดำและต้นเน่าต้องรีบกำจัดออกจากแปลงโดยเร็ว ถ้าพบการระบาดรุนแรงให้ใช้สารเคมีกลุ่ม metalaxyl เพื่อควบคุมและกำจัดโรค โดยฉีดพ่นทางใบและราดลงดินในอัตราที่เหมาะสมตามคำแนะนำบนฉลาก ซึ่งการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดควรเป็นทางเลือกสุดท้าย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคต้นกล้าไหม้ในมันสำปะหลัง สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-3930, 0-2579-0146
ขอบคุณ
รูปภาพจาก thaitapiocastarch.com
ข้อมูลจาก oknation.net