data-ad-format="autorelaxed">
มันสำปะหลัง : ลักษณะดินและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
มัน สำปะหลังเป็นพืชหัว ผลผลิตที่ใช้ประโยชน์คือ รากที่มีการสะสมอาหาร เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย สภาพดินที่ไม่มีน้ำขัง มีการระบายและอากาศดี มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ระหว่าง 5.5-8.0 มีความต้องการปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจน 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ ฟอสฟอรัส 6-10 กิโลกรัมต่อไร่ และโพแทสเซียม 8-12 กิโลกรัมต่อไร่ มีอุณหภูมิอยู่ในช่วง 10-30 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝน 500-2,500 มิลลิเมตรต่อปี
พันธุ์มันสำปะหลัง
พันธุ์ที่นิยมปลูกได้แก่ พันธุ์ระยอง 1 พันธุ์ระยอง 60 พันธุ์ระยอง 90 อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 10-12 เดือน โดยใช้ระยะปลูกดังนี้
- พันธุ์ระยอง 1 ระยะปลูก 100x100 เซนติเมตร
- พันธุ์ระยอง 60 ระยะปลูก 60x100 เซนติเมตร
- พันธุ์ระยอง 90 ระยะปลูก 80x100 เซนติเมตร
การเตรียมดินสำหรับมันสำปะหลัง
ทำการ ไถกลบและพรวนอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ลึก 20-30 เซนติเมตร เพื่อกลบเศษซากพืชจากฤดูก่อน และทำลายวัชพืชต่าง ๆ ให้ลดจำนวนลง ถ้าพื้นที่มีความลาดชัน ต้องไถพรวนตามแนวขวาง เพื่อป้องกันการชะล้างของดิน และถ้าดินระบายน้ำไม่ดี ต้องยกร่องปลูก และทำการปลูกพืชปุ๋ยสด เพื่อปรับปรุงบำรุงดินและตัดวงจรการระบาดของโรค ปุ๋ยพืชสดที่นิยมใช้ ได้แก่ ถั่วพร้า อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านหรือโรยเป็นแถวก่อนปลูกมันสำปะหลัง แล้วทำการไถกลบเมื่ออายุ 50 วัน ซึ่งเป็นช่วงระยะออกดอก แล้วปล่อยให้ย่อยสลาย 15 วัน จึงเตรียมแปลงปลูกมันสำปะหลัง หรืออาจใช้ถั่วพุ่ม อัตรา 8 กิโลกรัมต่อไร่ ทำการไถกลบเมื่ออายุ 40 วัน โดยทำวิธีการเดียวกับถั่วพร้า ในขณะเตรียมดินก่อนปลูกมันสำปะหลัง ให้ฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ผลิตจากสารเร่ง พด.2 โดยใช้อัตรา 5 ลิตรต่อไร่ นำมาเจือจาง 1:500 และก่อนปลูกมันสำปะหลัง ให้ใส่เชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช (ผลิตจากสารเร่ง พด.3) ระหว่างแถวที่จะปลูกอัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อป้องกันโรคเน่าและลำต้นเน่าของมันสำปะหลัง
การปลูกมันสำปะหลัง
โดย คัดเลือกต้นพันธุ์มันสำปะหลังที่สมบูรณ์มีอายุแก่ตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป ตัดลำต้นให้เป็นท่อนยาว 15-20 เซนติเมตร แล้วนำไปแช่ในปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่เจือจางด้วยน้ำในสัดส่วน 1:500 หรือ 1:1,000 เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วปลูกในพื้นที่ที่เตรียมไว้ โดยนำท่อนพันธุ์ที่เตรียมไว้ปักลงในดินให้ลึกประมาณ 2/3 ของท่อนพันธุ์ ควรระวังอย่าปักส่วนยอดลงดิน เพราะตาจะไม่งอก การปักตรง 90 องศา หรือปักเฉียง 45 องศากับพื้นดินให้ผลผลิตไม่แตกต่างกันแต่สะดวกต่อการกำจัดวัชพืช ง่ายต่อการเก็บเกี่ยวและให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกฝัง 10-15 เปอร์เซ็นต์
การปลูกพืชแซมมันสำปะหลัง
หลัง จากปลูกมันสำปะหลังได้ 15 วัน ให้ทำการปลูกพืชปุ๋ยสด เช่น ถั่วพุ่ม หรือถั่วพร้า โรยเป็นแถวแทรกระหว่างแถวมันสำปะหลัง เพื่อป้องกันวัชพืช เมื่อพืชปุ๋ยสดมีอายุ 50 วัน ให้ทำการตัดแล้วนำมาคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นในดิน และเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน
ในกรณี พื้นที่ลาดชันหรือมีการชะล้างพังทลายของดิน ควรปลูกแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่ ภายหลังจากที่ไถเตรียมดินแล้ว โดยการขุดหลุมในร่องที่ไถไว้สำหรับเป็นแนวระดับยาวตามพื้นที่ ให้แต่ละต้นห่างกัน 5 เซนติเมตร แฝกแนวต่อไปก็จะปลูกขนานไปกับแนวแรก โดยมีระยะห่างขึ้นกับสภาพความลาดชันของพื้นที่ เช่น ถ้าระยะตามแนวดิ่งคือ 2 เมตร แนวรั้วหญ้าแฝก ณ ความลาดเอียง 5, 10 และ 15 เปอร์เซ็นต์ จะอยู่ห่างกัน 40 เมตร 15 เมตร และ 10 เมตร ตามลำดับ ควรระมัดระวังในการไถเตรียมดิน โดยให้รักษาแนวแฝกไว้ นอกจากนี้ควรตัดใบแฝกให้อยู่ระดับ 30-50 เซนติเมตร และปลูกแฝก ซ่อมแซมให้หนาแน่น แนวรั้วแฝกที่หนาแน่นจะช่วยชะลอ และกระจายน้ำไหลบ่าเพิ่มการแทรกซึมลงสู่ผิวดินรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน
การดูแลรักษามันสำปะหลัง
ทำการ ฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำให้กับพืชปุ๋ยสด ทุก 7 วัน อัตรา 2 ลิตรต่อไร่ เจือจาง 1:1,000 เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของพืชปุ๋ยสด และหลังจากปลูกมันสำปะหลัง 15 วัน ให้ฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำทางใบหรือลำต้นให้กับมันสำปะหลังหรือรดลงดิน ทุก 1 เดือน จนถึงระยะเก็บเกี่ยว กรณีที่ปลูกพืชแซมในขณะที่ให้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำกับมันสำปะหลัง ควรฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำให้กับพืชตระกูลถั่วที่ปลูกแซมแทรกระหว่างแถวมัน สำปะหลังด้วย หากเกิดการระบาดของโรคใบจุดสีน้ำตาล โรคใบจุดไหม้ ใบจุดขาว และแมลงต่าง ๆ เป็นต้น ให้ใช้สารสกัดธรรมชาติหรือสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ส่วนการกำจัดวัชพืชที่ปลูกในช่วง 2-3 เดือนแรก สามารถกำจัดได้โดยวิธีกล
การจัดการดินหลังเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง
หลังจากเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ต้องตัดเหง้าและต้นออก และรีบส่งหัวมันสดเข้าโรงงานทันที ส่วนลำต้นเก็บเพื่อใช้ทำพันธุ์ต่อไป ส่วนกิ่ง ก้าน ใบ และส่วนที่เป็นวัสดุตอซัง ให้ไถกลบลงดินทุกครั้งหลังการเก็บเกี่ยว เป็นการเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้กับดิน และดำเนินการปรับปรุงบำรุงดิน โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ปุ๋ยพืชสด และใส่เชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามคำแนะนำ จะสามารถลดอัตราการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือสามารถเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับวิธีการปฏิบัติเดิมของเกษตรกรได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์
อ้างอิง : ku.ac.th