การทำรุ่นหญ้ามันสำปะหลัง อยากได้มันสำปะหลังผลผลิตสูงๆ ต่อไร่ แล้วมัวแต่ใส่ปุ๋ย..ใส่ปุ๋ยและก็ใส่ปุ๋ย...มันก็หัวไม่ยอมโตสักที..มาดูกันนะคะว่า ที่ผ่านมาเราพลาดอะไรไปบ้าง
พลาดอย่างหนักมากๆ ถึงมากที่สุดเลยคือ...การไม่กำจัดหญ้าในแปลงมันสำปะหลังในระยะเวลาที่เหมาะสมหรือบางครั้งทำแต่ทำผิดวิธี นี่คือองค์ประกอบที่สำคัญทีมีผลกระทบต่อผลผลิตมันสำปะหลังเลยทีเดียว
มันสำปะหลัง จะเจริญเติบโตดีสำหรับระยะหนุ่มสาวเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการออกหัวคือมันสำปะหลังระยะ 1-3 เดือน ระยะนี้หากเปรียบเป็นคนก็คงเป็นช่วงวัยรุ่นอายุไม่กิน 18 ปีที่ต้องกินเยอะๆให้ครบทุกหมู่และต้องการออกกำลังกาย
มันสำปะหลังระยะนี้ก็เช่นกัน ต้องการกินอาหารบำรุงเพื่อสร้างลำต้นและใบให้แข็งแรง แต่อุปสรรคที่สำคัญของมันสำปะหลังในระยะนี้คือ หญ้าหรือวัชพืช..หญ้าส่วนใหญ่จะมีระบบรากสั้น อาหารกินตามหน้าดินและกินอาหารได้เร็วกว่ามันสำปะหลังของเราที่รากอยู่ใต้ดินตามความลึกของท่อนพันธุ์ที่ปลูกลงดิน ดังนั้นหากไม่มีการกำจัดหญ้าให้กับมันสำปะหลังในระยะนี้ เวลาหว่านปุ๋ยหรือให้ปุ๋ยทางผิวใบก็แล้วแต่ หญ้าจะสามารถกินอาหารได้เร็วกว่ามันสำปะหลังและในที่สุดหากเราไม่สนใจดูแลมันสำปะหลัง หญ้าก็จะโตกว่ามันสำปะหลังในระยะนี้ทำให้มันสำปะหลังไม่สามารถสร้างหัวได้มาก และไม่โต
ดังนั้นการกำจัดหญ้าในระยะ 1-3 เดือนจึงมีความจำเป็นมาก แนะนำให้ทำการกำจัดหญ้าในช่วงมันสำปะหลังอายุ 30-45 วันโดยการไถกลบกลางร่องพร้อมกับการใส่ปุ๋ยบำรุงต้นมันสำปะหลังเพื่อเร่งการเจริญเติบโต หากไม่สามารถนำเครื่องมือมาทำรุ่นหญ้าได้ ก็สามารถใช้แรงงานคนในการถอนวัชพืชแทน
หากใช้เครื่องมือในการทำรุ่นหญ้าโดยการไถพรวนกลางร่องต้องทำในระยะที่มันสำปะหลังยังไม่สร้างปมหัว เท่านั้นคืออายุไม่เกิน 45 วัน ข้อดีของการกำจัดหญ้าด้วยวิธีการนี้จะเป็นการช่วยพรวนดินให้มีความร่วนซุยเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการออกหัวของมันสำปะหลัง พร้อมกับเป็นการช่วยกลบปุ๋ยไม่ได้โดนแสงแดดทำลายได้ในระยะที่ใบมันสำปะหลังยังไม่สามารถบังแสงได้
แต่หากใช้แรงงานคนในการกำจัดวัชพืชก็สามารถทำได้ระยะไม่เกิน 3 เดือน หรือเดือนที่ 4 ได้
หากมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชก็ให้ใช้ในระยะ 1-3 โดยต้องใช้ที่ครอบหัวยาฉีดพ่นทุกครั้งเพื่อป้องการยาฆ่าหญ้าฟุ้งกระจายไปโดนลำต้นและใบของมันสำปะหลัง และต้องใช้ยาฆ่าหญ้าชนิดเผาไหม้เท่านั้น ไม่แนะนำใช้ให้ชนิดดูดซึม เพราะยาจะตกค้างในดินเป็นเวลานานทำให้มันสำปะหลังชะงักการสร้างหัวในระยะที่สำคัญนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตมันสำปะหลังโดยตรง
ข้อแนะนำสำหรับการใช้สารเคมีกับมันสำปะหลังมีดังนี้ 1.หากในแปลงมีหญ้าและวัชพืชขึ้นเป็นประจำทุกปี แนะนำให้ใช้ยาฆ่าหญ้าฉีดพ่นตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดินโดยฉีดพ่นยาฆ่าหญ้าทิ้งไว้ 15-30 วันก่อนการไถผาล 7
2.การใช้ยาคุมหญ้าเพื่อคุมดอกหญ้าและวัชพืชขนาดเล็กพร้อมการปลูกมันสำปะหลัง ในขณะที่ปลูกเสร็จไม่เกิน 3 วัน (โดยทั่วไปจะทำพร้อมกันในวันที่ปลูกเสร็จแล้ว ฉีดยาคุมตามสันร่องได้เลย) ในขั้นตอนนี้ต้องใช้ที่ครอบหัวฉีดทุกครั้งระวังอย่าให้โดนลำต้นมันสำปะหลัง เพราะจะทำให้ปลายยอดแห้ง..มันสำปะหลังจะแตกตาล่างซึ่งไม่ใช่ลำหลักของมันสำปะหลัง ก็ส่งผลต่อผลผลิตอีกเช่นกัน
3.หากใช้ยาคุมหญ้าพร้อมกับการปลูกจะช่วยลดปัญหาหญ้าขึ้นในระยะ 1-2 เดือนมันสำปะหลังจะสามารถกินอาหารได้อย่างเต็มที่และสร้างลำต้นพร้อมใบจนถึงระยะ 3 เดือนมันจะสามารถคลุมหญ้าดินและหญ้าไม่สามารถเจริญเติบโตได้อีกเพราะไม่ได้รับแสงแดดในการสังเคราะห์แสง มันสำปะหลังก็หมดปัญหาวัชพืชแย่งอาหาร มีความสมบูรณ์พร้อมสร้างหัวต่อไป และไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าหญ้าอีก
4.เทคนิคในการกำจัดหญ้าที่สำคัญอีกประการคือ ต้องกำจัดหญ้าเก่าในแปลงให้หมดไป โดยการใช้แรงงานเดินเก็บหัวหญ้าที่กำจัดยากๆทั้งนอกแปลง และเวลาไถผาล 7 หรือไถแปรให้ไถในช่วงกลางวันที่แดดร้อนจัดๆ เพื่อหญ้าโดยแสงแดดเผาในขณะนั้นจะตายได้ง่าย ไม่สามารถฟื้นกลับมาสร้างปัญหาได้อีกในอนาคต
สละเวลาใส่ใจขั้นตอนในการกำจัดหญ้าสักนิด..แล้วผลผลิตจะเพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อค่ะ
เขียนโดย ปริม-ฟาร์มเกษตร
089-4599003