data-ad-format="autorelaxed">
7.3 หมื่นล้านเสริมสภาพคล่องะลอการเก็บเกี่ยว
ครม.ไฟเขียว 4 มาตรการดูแลชาวไร่มันสำปะหลัง มีวงเงินกู้รวม 7.3 หมื่นล้าน เพื่อชะลอการเก็บเกี่ยวใช้เสริมสภาพคล่อง ก่อนอัดเงินจ่ายขาด 2.76 พันล้าน ชดเชยดอกเบี้ยให้ธ.ก.ส. 3%
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. เห็นชอบในหลักการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในปี 2557/58 ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหนัง (นบมส.) ทั้งมาตรการระยะสั้น และระยะยาว รวม 4 มาตรการ มีวงเงินสินเชื่อรวมทั้งหมด 73,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะสนับสนุนวงเงินจ่ายขาด จำนวน 2,760 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าชดเชยดอกเบี้ย 3% ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำหรับการดำเนินมาตรการดังกล่าวต่อไป
รัฐชดเชยดอกเบี้ย 3% ให้กับเกษตรกร
สำหรับ 4 มาตรการดังกล่าว แบ่งเป็น มาตรการระยะสั้น (4-6 เดือน) คือการชดเชยดอกเบี้ยเพื่อชะลอการเก็บเกี่ยว โดยให้เกษตรกรกู้เงินจากธ.ก.ส. ในวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 50,000 บาท เป้าหมายเกษตรกร 500,000 ราย วงเงินรวม 25,000 ล้านบาท มีระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่ธ.ค.2557-มี.ค.2558 โดยรัฐจะชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกร 3% ต่อปี เป็นเวลา 6 เดือน คิดเป็นวงเงินชดเชย 375 ล้านบาท
สนับสนุนวิสาหกิจ สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการ
ส่วนอีกมาตรการคือ การเพิ่มสภาพคล่องทางการค้า โดยให้สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการค้า และผู้แปรรูปมันสำปะหลัง กู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ หรือธ.ก.ส. เพื่อเสริมสภาพคล่องในการรวบรวมมันสำปะหลังจากเกษตรกรเพิ่มขึ้น มีวงเงินกู้รวม 10,000 ล้านบาท โดยกำหนดกรอบวงเงินสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กกู้ได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท ขนาดกลางกู้ได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท และขนาดใหญ่กู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท มีระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่ธ.ค.2557-มี.ค.2558 โดยรัฐจะชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกร 3% ต่อปี เป็นเวลา 4 เดือน คิดเป็นวงเงินชดเชย 100 ล้านบาท
ขณะที่มาตรการระยะกลาง คือ การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกในระบบน้ำหยด โดยให้เงินกู้กับเกษตรกร ไม่เกินรายละ 230,000 บาท เป้าหมายเกษตรกร 100,000 ราย วงเงินรวม 23,000 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรพัฒนาการเพาะปลูกให้ผลผลิตต่อไรสูงขึ้น และทำให้ต้นทุนเฉลี่ยของเกษตรกรลดลง มีระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่ม.ค.-ธ.ค.2558 โดยรัฐจะชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกร 3% ต่อปี เป็นเวลา 24 เดือน คิดเป็นวงเงินชดเชย 1,380 ล้านบาท
ส่วนมาตรการสุดท้ายเป็นการยกระดับมาตรฐานการแปรรูปมันสำปะหลัง โดยให้สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการค้า และผู้แปรรูปมันสำปะหลัง กู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ หรือธ.ก.ส. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปและจัดเก็บ เช่น เครื่องมือเครื่องจักร ลานตาก เครื่องอบ คลังเก็บ และอื่นๆ มีวงเงินกู้รวม 15,000 ล้านบาท โดยกำหนดกรอบวงเงินสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กกู้ได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท ขนาดกลางกู้ได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท และขนาดใหญ่กู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท มีระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่ม.ค.-ธ.ค.2558 โดยรัฐจะชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกร 3% ต่อปี เป็นเวลา 24 เดือน คิดเป็นวงเงินชดเชย 900 ล้านบาท
อ้างอิง dft.go.th