ฟาร์มเกษตร
ครบเครื่อง เรื่องปุ๋ยยา
ช่องทางการสั่งซื้อสินค้าจากฟาร์มเกษตร
1. โทรสั่งซื้อที่ 089-459-9003
2. แอดไลน์ไอดี PrimPB แชทสั่งซื้อ
3. สั่งทางเฟสปริม เฟสบุ๊คปริมคลิกที่นี่
4. สั่งผ่านะระบบตระกร้าสินค้า FKX.asia
5. สั่งผ่านเว็บลาซาด้า LAZADA.co.th
ทุกช่องทาง ชำระเงินขณะรับสินค้าที่บ้านคุณ
หมวด: มันสำปะหลัง | อ่านแล้ว 18467 คน | สั่งพิมพ์หน้านี้ | L

มันสำปะหลัง พันธุ์มันสำปะหลัง

มันสำปะหลังในไทยปัจจุบัน มีมากมายให้เลือกปลูก มันสำปะหลังพันธุ์ที่รับรองแล้ว ลดความเสี่ยงด้านผลผลิต ต้านทานโรค และแมลง

data-ad-format="autorelaxed">

พันธุ์มันสำปะหลังรับรอง

 

มันสำปะหลังพันธุ์ที่ได้รับการรับรองพันธุ์แล้ว แน่นอน ปลอดภัยไม่กลายพันธุ์

สิ่งที่น่าจะเป็นเรื่องชวนปวดหัวอีกเรื่องหนึ่งของเกษตรกร และนักลงทุนปลูกมันสำปะหลังก็คือ การเลือกพันธุ์มันสำปะหลัง ว่าควรจะปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ไหนดี ให้ผลผลิตสูงที่สุด ประกอบกับในปัจจุบันนั้น พันธุ์มันสำปะหลังในตลาด มีให้เลือกปลูกกันอย่างมากมาย แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า พันธุ์มันสำปะหลังในตลาด หรือที่ประกาศขายกัน ทั้งตามแต่และพื้นที่ และบนโลกอินเตอร์เน็ตนั้น มีทั้งสายพันธุ์ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการแล้ว และมีอีกจำนวนหนึ่ง เป็นสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์มา จะด้วยความบังเอิญ หรือเจตนาก็แล้วแต่ แล้วนำมาตั้งชื้อกันเอง เพื่อทำตลาด หรือทำการค้า

มันสำปะหลังที่ได้รับรองสายพันธุ์แล้วดีอย่างไร?

ข้อดีหลักๆของมันสำปะหลังที่ได้รับรองสายพันธุ์แล้ว คือ ไม่กลายพันธุ์ ผลผลิตเฉลี่ยคงที่ คือคงที่ในค่าเฉลี่ยที่ทางหน่วยงานภาครัฐได้ทำสถิติไว้, ทนต่อโรคและแมลงในระดับหนึ่ง คือทนในระดับที่หน่วยงานได้ทดลองปลูก และเก็บสถิติไว้อย่างดี, มีข้อมูลที่มา ที่ไป การปลูกให้ได้ผลผลิตสูงตามรูปแบบที่กำหนด การแก้ไขปัญหา เมื่อเกิดปัญหาโรคและแมลง ก็พอจะมีข้อมูลให้ศึกษาอยู่บ้าง ไม่มาก ก็น้อย

มันสำปะหลังที่ไม่ได้รับการรับรองพันธุ์

มันสำปะหลังที่ถูกจัดในกลุ่มนี้ มีโอกาสกลายพันธุ์สูง เนื่องจากไม่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ และทดลองมาอย่างถูกต้องตามหลักการดังเช่นมันสำปะหลังสายพันธุ์ที่ได้รับการรับรองมาแล้ว ยกตัวอย่างที่ทางเราเคยทดลองแบ่งพันธุ์เกล็ดมังกรมาปลูกประมาณ 1,000 ไร่ พบว่า เปอร์เซ็นแป้งต่ำมาก มันสำปะหลังหัวใหญ่แต่เปราะ น้ำหนักเบา เมื่อเที่ยบกับพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ที่ได้รับการรับรองพันธุ์ และปลูกในพื้นที่เดียวกัน สภาพแวดล้อมเหมือนกัน ให้ปุ๋ยให้น้ำเท่ากัน เมื่อขุดทดสอบในตอนอายุ 5 เดือน พบว่า มันสำปะหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ มีเปอร์เซ็นแป้งสูงกว่ามาก น้ำหนักมากกว่า ในขนาดหัวที่เท่ากัน มีความทนแล้ง ทนโรค และแมลงดีกว่า ซึ่งการทดสอบในที่นี้ อ้างอิงจากไร่ของเราเอง บนพื้นที่ประมาณ 3,700 ไร่ ที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งปลูกมันหลายๆสายพันธุ์ ทดลองอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 4 ปี

 

มันสำปะหลังพันธุ์ต่างๆ ที่ได้รับรองสายพันธุ์แล้ว

 

มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 1

เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ปลูกครั้งแรกทางภาคใต้ของประเทศไทย ในบริเวณพื้นที่ปลูกยางพารา ต่อมามีผู้นำไปปลูกในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมทำแป้งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น พันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ยอดขาว ในปี 2509 สถานีกสิกรรมห้วยโป่ง จังหวัดระยอง
(ปัจจุบันเป็นศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง) ได้รวบรวมพันธุ์มันสำปะหลังจากท้องถิ่นต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเป็นครั้งแรก ทำการคัดเลือกและเปรียบเทียบผลผลิต พบว่า พันธุ์ระยองให้ผลผลิตสูงสุด ปี 2518 กลุ่มนักวิชาการผู้ปฏิบัติงานวิจัยตั้งชื่อให้ว่า พันธุ์ระยอง 1 และ แนะนำพันธุ์ โดยกรม กสิกรรม เมื่อปี 2500

ลักษณะเด่น ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศแปรปรวน เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ กัน
ผลผลิตและคุณภาพ ผลผลิตหัวสดประมาณ 4,150 กิโลกรัมต่อไร่ มีแป้ง 18.3%

ลักษณะประจำพันธุ์ ยอดสีม่วงใบที่เจริญเต็มที่สีเขียวปนม่วง ก้านใบสีเขียวปนม่วงยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นแบบใบหอกปลายมน (oblongceolate) มีแฉก 3, 5, 7 หรือ 9 แฉก ใบกว้าง 2.6-4.8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 17 เซนติเมตร ขอบตาหรือขอบใบ (leat scar) นูนใหญ่ห่างกันประมาณ
3-5 เซนติเมตร ลำต้นสีเขียวปนเทา หัวมีลักษณะเรียวยาว ผิวเรียบ เปลือกสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีขาว ความสูงของต้น 2.5-3.5 เซนติเมตร การแตกกิ่ง แตกกิ่งน้อยประมาณ 3 ระดับ ระดับแรก สูงจากพื้นดินประมาณ 200 เซนติเมตร กิ่งทำมุมกับลำต้น 15-30 องศา เก็บเกี่ยวอายุ 12 เดือน

ความต้านทานโรค ต้านทานโรคใบไหม้ปานกลาง

ฤดูปลูกที่เหมาะสม ต้นฤดูฝน เดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ปลายฤดูฝน เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม


มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 2

วันที่รับรอง : 16 กรกฏาคม 2527
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง

ประวัติ : เป็นพันธุ์ที่ได้คัดจากเมล็ดพันธุ์ลูกผสม นำมาจาก CIAT ประเทศโคลัมเบีย ปลูกคัดเลือก ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยองตั้งแต่ปี 2519 นำต้นที่คัดเลือกจากเมล็ด มาปลูกแบบต้นต่อแถว คัดเลือกได้สายพันธุ์ CM. 305-21 ให้ผลผลิตหัวสดและ มีค่าดัชนีการเก็บเกี่ยวสูงกว่าพันธุ์ระยอง 1

ลักษณะดีเด่น :
1. เป็นประเภทรับประทาน ไม่เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมทำแป้ง เพราะจะสู้ระยอง 3 ไม่ได้
2. เนื้อมันสด มีคุณค่าทางอาหารสูง (โปรตีน แคโรทีน และวิตามินเอ สูงกว่า พันธุ์ระยอง 1 )
3. เหมาะสำหรับทำอาหารรับประทาน เช่น ทำมันทอดได้ดี เพราะหั่นง่าย ทอดแล้วกรอบ ไม่แข็ง รสชาติดี โดยเฉพาะถ้าเก็บเกี่ยวในอายุที่เหมาะสม (8 เดือน) จะทำมันทอดได้คุณภาพดี เนื้อหัวสีเหลือง เนื้อเหนียว นอกจากนั้น มีแนวทางว่าจะใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี เพราะคุณค่าทางอาหารสูง ถ้าผลผลิตมี
เหลือมาก อาจใช้ทำแป้งได้ แต่เปอร์เซ็นต์แป้งอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ควรใช้ทำอาหารสัตว์ จะได้ประโยชน์มากกว่า
4. ผลผลิตหัวสดสูงใกล้เคียงกับพันธุ์ระยอง 1 คือ ผลผลิตเฉลี่ย 4,161 กก./ไร่ (ระยอง 1= 4,151 กก./ไร่)

ลักษณะทางการเกษตร :
ยอดสีเขียวอ่อน ใบแรกที่เจริญเต็มที่สีเขียวอ่อน ก้านใบสีเขียวอ่อนปนแดง ลำต้นสีน้ำตาลอ่อน หัวเปลือกมีสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในจะมีสีเหลืองอ่อน ความสูงของต้นประมาณ 285 ซม. อายุเก็บเกี่ยวถ้านำมารับประทาน 8 เดือนส่งโรงงานประมาณ 10-12 เดือน

ข้อจำกัด :
คุณภาพของหัวในการทำอาหาร จะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมถ้าแห้งแล้ง คุณภาพไม่ดี จึงต้องเก็บเกี่ยวในระยะที่ไม่แห้งแล้ง หรือมีการให้น้ำ
ความต้านทานต่อโรคและแมลง : ต้านทานโรคใบไหม้ปานกลาง


มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 3

วันที่รับรอง : 18 พฤษภาคม 2526
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง

ประวัติ : ได้มาจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ Mmex 55 กับพันธุ์ Mven 307 เรียกชื่อคู่ผสมนี้ว่า CM.407 นำเมล็ดลูกผสมมาจาก CIAT ประเทศโคลัมเบีย ปลูกคัดเลือกที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ลักษณะลำต้นค่อนข้างเตี้ย การเกิดของหัว รวมกันแน่น ทำให้ขุดง่ายเมื่อเก็บผลผลิต

ลักษณะดีเด่น :
1. ผลผลิตแป้งสูงถึง 914 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์ระยอง 1 ถึง 19.8%เหมาะสำหรับอุตสาหกรรม ทำแป้งและอาหารสัตว์
2. เปอร์เซ็นต์แป้ง หัวสดมีแป้งสูง 23.4% ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ระยอง 1ซึ่งมีแป้งเพียง 18.3% ทำให้พันธุ์ระยอง 3 ขายได้ราคาสูงกว่าพันธุ์ระยอง 1 เฉลี่ยตันละ 100 บาท
3. ให้ผลผลิตมันเส้นหรือมันแห้ง สูงถึง 1,486 กิโลกรัมต่อไร่ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ระยอง 1 ถึง 11.5% จึงเหมาะสำหรับการทำมันเส้น
4. เปอร์เซ็นต์มันแห้งหรือมันเส้น หัวสดทำเป็นมันเส้นได้มากกว่า 38.2 % เทียบกับ หัวสดพันธุ์ระยอง 1 ซึ่งทำมันเส้นได้ 31.5 % ทำให้ลดต้นทุนในการผลิตมันเส้นได้
5. ค่าดรรชนีเก็บเกี่ยว หรือสัดส่วนระหว่างน้ำหนักหัวสดกับน้ำหนักทั้งต้นของพันธุ์ ระยอง 3 สูงกว่าพันธุ์ระยอง 1 หมายความว่ามีหัวมากกว่าส่วนลำต้นและใบ แสดงว่ามีการใช้ธาตุอาหารอย่างมีประสิทธิภาพดีกว่าพันธุ์ระยอง 1
6. มีกรดไซยานิค ต่ำกว่าพันธุ์ระยอง 1เหมาะกับการใช้ส่วนของลำต้นทำประโยชน์ได้ทั่วไป
7. ความสูงเพียง 174 ซม. เทียบกับพันธุ์ระยอง 1 สูง 282 ซม.ทำให้การปฏิบัติดูแลรักษา การตัดต้น ทำได้สะดวก
8. มูลค่าผลผลิต เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตแป้งสูงจึงทำให้กสิกรมีรายได้จากการ ขายหัวสดสูงขึ้น โดยซื้อขายตามราคาเปอร์เซ็นต์แป้ง

ลักษณะทางการเกษตร : ยอดสีเขียวอ่อน ใบแรกที่เจริญเต็มที่สีเขียวอ่อน ก้านใบสีเขียวอ่อนปนแดง แผ่นใบแหลมแบบใบหอก ลำต้นสีน้ำตาลอ่อน หัวเปลือกมีสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีขาว ความสูงของต้นประมาณ 173 ซม. การแตกกิ่งประมาณ 3 ระดับ ลักษณะการเกิดของหัวจะรวมกันแน่นอายุเก็บเกี่ยว
ประมาณ 12 เดือน ขยายพันธุ์ด้วยลำต้น

ข้อจำกัด : ไม่ควรปลูกช่วงฝนตกหนักหรือแล้งจัด จะมีโอกาสตายมากและผลผลิตต่ำ และพันธุ์ระยอง 3 นี้จะตอบสนองต่อดินที่มีความอุดมสมบูรณ์
ความต้านทานต่อโรคและแมลง : ต้านทานต่อโรคใบไหม้ปานกลาง


มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 5

วันที่รับรอง : 28 ตุลาคม 2537
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง

ประวัติ : ได้มาจากการผสมพันธุ์และคัดเลือก ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง เมื่อปี 2525 ระหว่างพันธุ์ 27-77-10 กับ พันธุ์ระยอง 3 นำเมล็ดมาเพาะและปลูกคัดเลือก
เปรียบเทียบเบื้องต้น เปรียบเทียบมาตรฐาน เปรียบเทียบในท้องถิ่น เปรียบเทียบในไร่เกษตรกร และนำมาทดสอบในไร่เกษตรกร จนได้พันธุ์ดี

ลักษณะดีเด่น :
1. ให้ผลผลิตหัวสดสูง 4,420 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ระยอง 1 ระยอง 3 ระยอง 60 ระยอง 90 และเกษตรศาสตร์ 50 เท่ากับ 23, 9, 4, 12 และ 9 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
2. ให้ผลผลิตแป้งสูง 1,027 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ระยอง 1 ระยอง 3 ระยอง 60 ระยอง 90 และเกษตรศาสตร์ 50 เท่ากับ 44, 35, 21, 6 และ 8 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
3. ให้ผลผลิตมันแห้งสูง 1,554 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ระยอง 1 ระยอง 3 ระยอง 60 ระยอง 90 และเกษตรศาสตร์ 50 เท่ากับ 23, 37, 11, 9 และ 7 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
4. ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
5. มีความงอกดีและอยู่รอดจนถึงการเก็บเกี่ยวสูง 93 เปอร์เซ็นต์

พื้นที่แนะนำ :
มันสำปะหลังพันธุ์ CMR25 - 105 - 112 มีเสถียรภาพในด้านการให้ผลผลิตดี ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี สามารถปลูกได้ทั้งภาคตะวันออก และภาคตะวันออก เฉียงเหนือที่เป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังของประเทศ
ข้อควรระวัง : เป็นโรคใบไหม้ได้ง่ายกว่าพันธุ์อื่นๆ แต่อาการไม่รุนแรงถึงตาย


มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 7

ประวัติ: มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 7 ได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างพันธุ์ CMR30-71-25 กับพันธุ์ OMR29-20-118 ในปี 2535 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ได้ผ่านการคัดเลือกพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง และทำการประเมินพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ สถานีทดลองพืชไร่ และ
ไร่เกษตรกร รวม 13 จังหวัด แปลงทดลอง รวม 51 แปลง ระยะเวลาการทดลอง 12 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535-2547

ลักษณะเด่น :
1. ปลูกปลายฤดูฝนได้ดี เนื่องจากให้ความงอกเร็ว เปอร์เซ็นต์การงอก และเปอร์เซ็นต์การอยู่รอดสูงกว่าพันธุ์มาตรฐานที่เกษตรกรนิยมปลูกทุกพันธุ์
2. ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์มาตรฐานที่เกษตรกรนิยมปลูกทุกพันธุ์ โดยให้ผลผลิตหัวสด 6.08 ตันต่อไร่ ให้ผลผลิตแป้ง 1.71 ตันต่อไร่ และให้ผลผลิตมันเส้น 2.35 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ระยอง 90 ระยอง 5 เกษตรศาสตร์ 50 และระยอง 72 ตามลำดับ
3. ให้ปริมาณแป้งในหัวสดสูงกว่าพันธุ์มาตรฐานที่เกษตรกรนิยมปลูกทุกพันธุ์ โดยให้ปริมาณแป้งในหัวสด 27.7 เปอร์เซ็นต์

ข้อควรระวัง: ถ้าปลูกในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำและเกิดภาวะแล้งยาวนาน หลังจากได้รับน้ำฝนอีกครั้งจะเกิดการแตกตาตามลำต้นมากกว่าในสภาพปกติ ดังนั้น การนำลำต้นดังกล่าวไปเป็นท่อนพันธุ์ ควรปลูกในขณะที่ดินมีความชื้นสูง จะได้ต้นมันสำปะหลังที่มีเปอร์เซ็นต์การอยู่รอดสูงเหมือนกับใช้ท่อน
พันธุ์สภาพปกติ


มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9

ประวัติ: มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 เป็นลูกผสมปี 2535 ได้จากการผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์ที่มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ CMR31-19-23 เป็นแม่และ OMR29-20-118 เป็นพ่อ ผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง และประเมินศักยภาพของพันธุ์ในพื้นที่ภาคตะวันออกและ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งสิ้น 38 แปลงทดลอง ระหว่างปี 2535-2542 พบว่า สายพันธุ์ระยอง 9 ให้ผลผลิตแป้งและผลผลิตมันแห้งสูง ในปี 2544-2547 ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยองจึงร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในการประเมินผลผลิตเอทานอลจากสายพันธุ์ระยอง 9
ร่วมกับลูกผสมชุดเดียวกันนี้อีก 2 สายพันธุ์เปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐาน ได้แก่ ระยอง 5 ระยอง 72 ระยอง 90 และเกษตรศาสตร์ 50 ในระดับห้องปฏิบัติการโดยใช้ในเส้นเป็นวัตถุดิบ แล้วคัดเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเอทานอลสูงจากการทดลองระดับห้องปฏิบัติการ 2 พันธุ์ คือ สายพันธุ์ระยอง 9 และพันธุ์
ระยอง 90 ไปทดลองผลิตเอทานอลในระดับโรงงานต้นแบบขนาดกำลังผลิต 1,500 ลิตร ที่ใช้หัวสดเป็นวัตถุดิบ พบว่า สายพันธุ์ระยอง 9 ให้ผลผลิตเอทานอลสูงกว่าพันธุ์ระยอง 90 สายพันธุ์ระยอง 9 จึงเหมาะสำหรับอุตสาหกรรมเอทานอล และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ ได้แก่ แป้งมัน มันเส้น และมันอัดเม็ด

ลักษณะเด่น:
1. ผลผลิตแป้งและผลผลิตมันแห้งสูง 1.24 และ 2.11 ตันต่อไร่ ตามลำดับ
2. ให้ผลผลิตเอทานอลสูงทุกอายุเก็บเกี่ยว เมื่อเก็บเกี่ยวอายุ 8 เดือน 12 เดือนและ 18 เดือน ให้เอทานอล 191 208 และ 194 ลิตร จากหัวสด 1 ตัน ตามลำดับ
3. ทรงต้นดี สูงตรง ได้ต้นพันธุ์ยาวขยายพันธุ์ได้มาก อัตราขยายพันธุ์สูงกว่า 1: 8
4. เป็นโรคใบพุ่มน้อยกว่าพันธุ์มาตรฐานทุกพันธุ์

พื้นที่แนะนำ:
มันสำปะหลังสายพันธุ์ระยอง 9 ปลูกในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังได้ทั่วไป ศักยภาพในการให้ผลผลิตขึ้นกับศักยภาพของพื้นที่และการดูแลรักษา

ข้อควรระวัง:
ควรเก็บเกี่ยวเมื่ออายุประมาณ 1 ปี เนื่องจากสายพันธุ์ระยอง 9 มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงแต่สะสมน้ำหนักช้า ถ้าเก็บเกี่ยวเร็วจะให้ผลผลิตหัวสดต่ำกว่าพันธุ์มาตรฐานอื่น ๆ


มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 60

วันที่รับรอง : 30 กันยายน 2530
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง

ประวัติ :
ในปี พ.ศ. 2524 สาขาพืชหัวโดยศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ได้ทำการผสมพันธุ์ มันสำปะหลังเพื่ออายุเก็บเกี่ยวสั้น ต้นฝนปลายฝน จำนวน 89 คู่ผสม นำเมล็ด
ที่ได้ไปเพาะ เพื่อปลูกคัดเลือกพันธุ์ ได้จำนวน 6,839 ต้น สายพันธุ์ CMR 24 - 63 - 43 เป็นพันธุ์หนึ่งจากลูกผสมระหว่างพันธุ์ Mcol 1684 กับพันธุ์ระยอง 1

ลักษณะดีเด่น :
สะสมน้ำหนักหัวสดได้เร็วโดยเมื่อเก็บเกี่ยวอายุ 8 เดือน ผลผลิตหัวสด สูงกว่าระยอง 1 ถึง 24.5 % ผลผลิตแป้งสูงกว่าระยอง 1 ถึง 31.3 % ผลผลิตมันเส้น
สูงกว่าระยอง 1 ถึง 41.9 % ผลผลิตต่อวันสูงกว่าระยองถึง 24.8 % ค่าดัชนีการเก็บเกี่ยวสูงกว่าระยอง 1 ถึง 21.8 %

ลักษณะทางการเกษตร :
ยอดอ่อนสีเขียวปนม่วง ใบแรกที่เจริญเติบโตเต็มที่มีสีเขียวปนม่วง ก้านใบสีเขียว ปนม่วง ยาวประมาณ 25-30 ซม. แผ่น ใบมีลักษณะแบบใบหอก (lanceolate) ลำต้นสีน้ำตาลอ่อน มีลักษณะเปลือกของหัวส่วนนอก สีน้ำตาลอ่อน เนื้อใน สีขาวครีม ความสูงของต้นประมาณ 275 ซม. มีการแตกกิ่งจำนวน 3
ระดับ ระดับแรกสูงจากพื้นดินประมาณ 170 ซม. กิ่งทำมุมกับลำต้นประมาณ 45-60 องศา อายุเก็บเกี่ยว 8 - 12 เดือน ขยายพันธุ์ด้วยลำต้น ให้ผลผลิตดีในภาคตะวันออก

ผลผลิต : ผลผลิตหัวสดเมื่ออายุ 8 เดือน 3,148 กก./ไร่ (มันแห้ง 1,217 กก./ไร่) และผลผลิตหัวสด เมื่ออายุ 12 เดือน 4,224 กก./ไร่ (มันแห้ง 1,404 กก./ไร่) องค์ประกอบทางเคมีของหัวสด : มีปริมาณกรดไซยานิค 3 ส่วนในล้าน (ppm) ความต้านทานต่อโรคและแมลง : มีความต้านทานต่อโรคใบไหม้
ปานกลาง
ข้อควรระวัง : ถ้าเก็บเกี่ยวในฤดูฝน มีเปอร์เซนต์แป้งต่ำกว่า 20% และเนื้อมีสีครีม บางครั้งทำให้โรงงานตัดราคา


มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 72

"ผลผลิตหัวสดสูง เหมาะสำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ"

ประวัติ: ในปี 2540/2541 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 6.7 ล้านไร่ และผลผลิตหัวสดรวม 15.6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกร 19,645 ล้านบาท และส่งออกทำรายได้ให้กับประเทศเป็นเงิน 16,877 ล้านบาท มันสำปะหลังจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ส่วนใหญ่ของ
ผลผลิตส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในรูปมันอัดเม็ด เพื่อเป็นอาหารสัตว์ตลอดจนใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ขนมขบเคี้ยว แป้งมันสำปะหลัง (starch) เม็ดสาคูที่ใช้ทำขนมหวาน ฯลฯ รวมทั้งการใช้แป้งดิบมันสำปะหลัง (flour) ในการทดแทนแป้งสาลีในอุตสาหกรรมขนมอบ ปัจจุบัน
พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของประเทศมากกว่าร้อยละ 50 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกและดูแลรักษาง่าย และไม่เป็นปัญหาในเรื่องการแปรรูป เกษตรกรจึงนิยมปลูก ดังนั้นการใช้พันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะเพิ่มผลผลิต และทำรายได้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ
เกษตรกรมีปัญหาหรือขาดปัจจัยในการผลิตและมีอัตราการเสี่ยงในการลงทุนเพิ่ม

ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังมาโดยตลอด จนถึงขณะนี้ กรมวิชาการเกษตรได้รับรองและแนะนำพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ดีให้ได้ใช้ประโยชน์แล้วรวม 6 พันธุ์ ได้แก่ ระยอง 1 ระยอง 2 ระยอง 3 ระยอง 60 ระยอง 90
และระยอง 5 เพื่อเป็นทางเลือกของเกษตรกร กล่าวได้ว่า พันธุ์มันสำปะหลังที่ปลูกในประเทศไทยเป็นพันธุ์ที่ได้มาจากการคัดเลือกตามวิธีการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีมาตรฐาน (conventional breeding) ทั้งสิ้น โดยทำการคัดเลือกโคลนพันธุ์ที่มีลักษณะดี ให้ผลผลิตสูงหลังจากการผสมข้ามระหว่างพันธุ์ที่มี
ลักษณะต่าง ๆ ดี ไม่ได้เป็นพันธุ์มันสำปะหลังที่มีการตัดต่อหรือดัดแปลงสารพันธุกรรม (non-GMOs) จึงเชื่อได้แน่นอนว่า จะไม่มีปัญหาในตลาดประชาคมร่วมยุโรป (อียู) หรือตลาดต่างประเทศอื่น ๆ

มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 72 เดิมคือโคลนพันธุ์ CMR33-57-81 ที่คัดได้จากการผสมข้ามระหว่างพันธุ์ระยอง 1 กับระยอง 5 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง หลังจากการคัดเลือกเบื้องต้นแล้ว นำมาประเมินผลผลิตและความดีเด่นตามขั้นตอนของการปรับปรุงพันธุ์ ในศูนย์วิจัยพืชไร่ สถานีทดลองพืชไร่ และแหล่งปลูก
ต่าง ๆ พบว่าเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมที่จะปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ในจังหวัดมหาสารคาม บุรีรัมย์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา และกาฬสินธุ์ โดยได้ผ่านการพิจารณาจากกรมวิชาการเกษตรให้เป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543

ลักษณะดีเด่น:
1. ให้ผลผลิตหัวสดเฉลี่ย 5.09 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์มาตรฐาน ระยอง 1 ระยอง 5 ระยอง 90 และเกษตรศาสตร์ 50 ร้อยละ 27 18 26 และ 16 ตามลำดับ หัวสดมีเปอร์เซ็นต์แป้ง 21 เปอร์เซ็นต์
2. ให้ผลผลิตแป้งเฉลี่ย 1.07 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์มาตรฐานระยอง 1 ระยอง 5 ระยอง 90 และเกษตรศาสตร์ 50 ร้อยละ 36 12 16 และ 7 ตามลำดับ
3. ให้ผลผลิตมันแห้งเฉลี่ย 1.70 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์มาตรฐาน ระยอง 1 ระยอง 5 ระยอง 90 และเกษตรศาสตร์ 50 ร้อยละ 31 15 22 และ 12 ตามลำดับ
4. เป็นพันธุ์ที่ปรับตัวได้ดี ในสภาพแวดล้อมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยให้ผลผลิตหัวสดสูงถึง 5.55 ตันต่อไร่ ผลผลิตแป้ง 1.23 ตันต่อไร่ และผลผลิตมันแห้ง 1.91 ตันต่อไร่
5. ท่อนพันธุ์ที่ใช้ปลูกมีความงอกดี ไม่มีปัญหาของโรคต้นเน่า จนถึงระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยมีความอยู่รอดถึงการเก็บเกี่ยวสูง 92 เปอร์เซ็นต์
6. ลักษณะลำต้นดี คือ ทรงต้นดี แตกกิ่งเล็กน้อย ในระดับที่สูงจากโคนต้น ประมาณ 1 เมตร ทำให้สามารถขยายท่อนพันธุ์ได้มากขึ้น
เมื่อพิจารณาพื้นที่ปลูกมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดินทราย พืชบางชนิดไม่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูง ประกอบกับเกษตรกรไม่มีเงินลงทุน ดังนั้น มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 72 จึงเป็นพืชที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ขาดฝนอย่างต่อเนื่องนาน 1-2 เดือน แต่ยัง
สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น จึงแนะนำให้เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูก ซึ่งจะให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์เดิมที่เคยใช้ปลูกและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรโดยตรง


มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 90

วันที่รับรอง : 8 กรกฏาคม 2534
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง

ประวัติ : ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ CMC76 และพันธุ์ V43 ในปี 2521 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง หลังจากผ่านการคัดเลือกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 และเปรียบเทียบพันธุ์เบื้องต้น ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยองแล้ว นำไปเปรียบเทียบมาตรฐานพันธุ์ เปรียบเทียบพันธุ์ในท้องถิ่น เปรียบเทียบพันธุ์ในไร่กสิกร และทดสอบ
พันธุ์ในไร่กสิกร ในสถานีทดลอง และไร่กสิกรจังหวัดต่าง ๆ

ลักษณะทางการเกษตร :
1. ผลผลิตหัวสด 3,810 กิโลกรัมต่อไร่
2. เปอร์เซ็นต์มันแห้ง 36.4 เปอร์เซ็นต์
3. ผลผลิตมันแห้ง 1,400 กิโลกรัมต่อไร่
4. เปอร์เซ็นต์แป้ง 24.9 เปอร์เซ็นต์
5. ผลผลิตแป้ง 966 กิโลกรัมต่อไร่
6. ค่าดรรชนีการเก็บเกี่ยว 0.62
7. ปลูกได้ทั้งภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีดินค่อนข้างดี

ลักษณะดีเด่น :
1. ผลผลิตหัวสดสูงกว่าพันธุ์ระยอง 1 ประมาณ 5 % และสูงกว่าพันธุ์ระยอง 3 ถึง 18 %
2. เปอร์เซ็นต์แป้งสูง คือเมื่อเก็บเกี่ยวในฤดูฝนมีแป้ง 24.9% พันธุ์ระยอง 1 มีแป้ง 8.4% พันธุ์ระยอง 3 มีแป้ง 24.2% และพันธุ์ระยอง 60 มีแป้ง 20.2%
3. ให้ผลผลิตแป้งสูงกว่าพันธุ์ระยอง 1 ถึง 43% และพันธุ์ระยอง 3 ถึง 21% และสูงกว่าพันธุ์ระยอง 60 ถึง 17%
4. ให้ผลผลิตมันแห้งสูงกว่าพันธุ์ระยอง 1 ถึง 23% สูงกว่าพันธุ์ระยอง 3 ถึง 20% และสูงกว่าพันธุ์ระยอง 60 ถึง 4%

ข้อควรระวัง :
1. ไม่เหมาะสมกับแหล่งที่มีแมลงหวี่ขาวแพร่ระบาด
2. ต้นพันธุ์ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 2 สัปดาห์ก่อนนำไปปลูก เพราะจะเสื่อม


มันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 60

มันสำปะหลัง ห้วยบง 60” เป็นมันสำปะหลังที่พัฒนาขึ้นมา โดยความร่วมมือของนักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย พันธุ์นี้เกิดจาก การผสมพันธุ์ ระหว่าง พันธุ์ระยอง 5 และเกษตรศาสตร์ 50 ตั้งแต่ พ.ศ.2534 ทำการคัดเลือกและทดสอบ ตั้งแต่
พ.ศ.2535-2544 มีคุณสมบัติดีเด่นที่ให้ผลผลิตสูงและเชื้อแป้งในหัวสูงด้วย และได้รับพระราชทานชื่อพันธุ์ว่า “ห้วยบง 60” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์พระราชูปถัมภ์ของมูลนิธิฯ
ประวัติ : มันสำปะหลังพันธุ์ “ห้วยบง 60” นี้ เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ระยอง 5 และพันธุ์เกษตรศาสตร์50 โดยผสมพันธุ์ที่ สถานีวิจัยศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในปี พ.ศ.2534 ซึ่งมีขั้นตอนในการคัดเลือกและทดสอบ ดังนี้พ.ศ.2535-2541 คัดเลือก ไว้ 5 สายพันธุ์ ตามขั้นตอนของการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง
จากทั้งหมดของคู่ผสมนี้ 963 สายพันธุ์ (ต้น)พ.ศ.2541-2545 ทำการทดสอบและเปรียบเทียบพันธุ์ในท้องถิ่นและในไร่กสิกร จำนวน 30 แปลงทดลองใน 10 จังหวัด คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ระยอง กาญจนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น และชัยภูมิ จากผลการทดลองทั้งหมดพบว่า สาย
พันธุ์ MKUC 34-114-206 เป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง และมีเชื้อแป้งในหัวสูงและแป้งมีคุณภาพดี ลักษณะต้นพันธุ์งอกดี สมควรแนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย จึงขอพระราชทานชื่อ สายพันธุ์ MKUC 34-114-206 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยาม
บรมราชกุมารี โดยได้รับพระราชทานชื่อว่า “ห้วยบง 60” “ห้วยบง” แสดงถึง ศูนย์วิจัยและพัฒนามันสำปะหลังของมูลนิธิสถาบันมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา และเป็นศูนย์ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จ พระราชดำเนิน
ทรงเยี่ยมชมและประทับแรม เมื่อวันที่1-2 กันยายน 2537“60” แสดงถึง ปีที่ครบรอบ 60 ปี ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2546

ลักษณะเด่น :
ลักษณะของพันธุ์ “ห้วยบง 60” จะใกล้เคียงกับพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 มาก ที่แตกต่างกันเพียงพันธุ์ “ห้วยบง 60” มียอดสีม่วงอ่อน และแตกกิ่งแรกที่ความสูงระดับ 90-140 เซนติเมตร ขณะที่พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 มียอดสีม่วงเข้ม และแตกกิ่งน้อยกว่า

โดยลักษณะอื่นๆ ของพันธุ์ “ห้วยบง 60” มีดังนี้
1. เปอร์เซ็นต์ความงอกและความอยู่รอดสูง
2. ต้านทานโรคใบจุดปานกลาง
3. ให้ผลผลิตหัวสดและหัวแห้งสูงกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ประมาณ 8-10 เปอร์เซ็นต์ โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 5.0-6.4 ตัน/ไร่
4. ปริมาณแป้งในหัวสูงใกล้เคียงกับพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 โดยให้ปริมาณแป้งในหัวเฉลี่ย 25.4 เปอร์เซ็นต์
5. การที่มีผลผลิตและปริมาณแป้งสูงทำให้ได้ผลผลิตแป้งต่อไร่สูงกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 อยู่ 11 เปอร์เซ็นต์
6. มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ใช่แป้ง ที่ละลายน้ำได้ (เช่น น้ำตาล) อยู่ต่ำ ซึ่งจะทำให้ได้ปริมาณแป้งต่อหัวมาก เพราะการมีน้ำตาลมากจะทำให้แป้งที่จะสกัดได้จากหัวมันสำปะหลังลดลง
7. แป้งมีความหนืดสูง สามารถนำไปใช้กับอุสาหกรรมต่อเนื่องได้หลายชนิด

ข้อแนะนำในการปลูก:
มันสำปะหลังพันธุ์ “ห้วยบง 60” นี้ สามารถขึ้นได้ดีในดินปลูกมันสำปะหลังทั่วไป อย่างไรก็ตามแต่ละท้องที่การปรับตัวของพันธุ์ต่อสภาพแวดล้อมจะต่างกัน เมื่อได้รับพันธุ์ “ห้วยบง 60” นี้แล้ว ควรจะทดลองปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์ดีพันธุ์อื่นที่ใช้อยู่ หากได้รับผลผลิตสูงกว่าและลักษณะอื่นเป็นที่พอใจจึง
ขยายปลูกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น การที่จะปลูกให้ได้ผลผลิตสูงควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-7-18 (เป็นปุ๋ยสำหรับยางพารา) หรือสูตร 16-8-16 หรือ 15-15-15 อัตรา 25-50 กิโลกรัม/ไร่ หลังปลูก 1-2 เดือน (ในขณะที่ดินมีความชื้น) หรือใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 500-1,000 กิโลกรัม/ไร่ หว่านก่อนพรวนดินปลูก และไม่
ควรเก็บเกี่ยวมันอายุน้อยกว่า 10 เดือน

หมายเหตุ : เกษตรกรสามารถผสมปุ๋ยสูตร 16-8-16 แทน ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ขึ้นมาใช้เองโดยใช้
(1) ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) จำนวน 12 กิโลกรัม
(2) ปุ๋ยแด๊ป (15-46-0) จำนวน 9 กิโลกรัม รวม 35 กิโลกรัม
(3) ปุ๋ยม๊อป (0-0-60) จำนวน 14 กิโลกรัม
จะได้ปุ๋ย 35 กิโลกรัม ที่มีธาตุอาหารเท่ากับปุ๋ยสูตร 16-8-16 จำนวน 50 กิโลกรัม (1 กระสอบ)

ลักษณะประจำพันธุ์ : ความสูง 180-250 ซม. ยอดสีม่วงอ่อนและไม่มีขนอ่อน ก้านใบเขียวอมม่วง ลำต้นสีเขียวเงิน สีเปลือกหัวน้ำตาล สีเนื้อหัวมีสีขาว


มันสำปะหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50

เป็นพันธุ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลำต้นโค้งเล็กน้อย สีเขียวเงิน สูง180-250 เซนติเมตร แตกกิ่งระดับแรกที่ความสูง 80-150 เซนติเมตรผลผลิตเฉลี่ย 4.4 ตันต่อไร่ มีแป้งเฉลี่ย 23 เปอร์เซ็นต์ในฤดูฝน และ28 เปอร์เซ็นต์ในฤดูแล้ง ต้นพันธุ์เก็บไว้ได้นานประมาณ 30วันหลังจากตัดต้น

ลักษณะดีเด่น :
- ผลผลิตสูง
- เปอร์เซ็นต์แป้งสูง 23 %ในฤดูฝนและ 28 %ในฤดูแล้ง
- ต้นพันธุ์เก็บไว้ได ประมาณ 30 วันหลังจากตัดต้น


มันสำปะหลังพันธุ์มันห้านาที

- เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่มีปลูกมานานในประเทศไทย (คาดว่ามาจากทางภาคใต้ ผ่านมาทางประเทศมาเลเซีย) โดยไม่ทราบเวลา- - นำเข้าที่แน่นอน มีการปลูกจำนวนเล็กน้อยเพื่อใช้รับประทาน
- ลักษณะเด่น เนื้อหัวร่วน เหมาะสำหรับทำขนม เช่น เชื่อม ย่าง
- ผลผลิตและคุณภาพ ผลผลิตค่อนข้างต่ำ 1,500-2,000 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกในสภาพสวนจะมีคุณภาพของหัวดีกว่า ปลูกในสภาพไร่ กรดไฮโดรไซยานิคในหัวค่อนข้างต่ำ
- ลักษณะประจำพันธุ์ ลำต้นตรง สูง แตกกิ่งสูง ก้านใบสีแดง ใบกว้าง ยอดอ่อนสีเขียว
- ลำต้นสีน้ำตาลเข้ม หัวเปลือกนอกสีน้ำตาลเข้ม เนื้อในสีขาว เปลือกในสีม่วง รูปร่างหัวเรียวยาว เปลือกปอกง่าย
- การเก็บเกี่ยว ในสภาพไร่ ไม่ควรเก็บเกี่ยวอายุเกิน 10 เดือน เพราะจะมีเส้นใยมากในสภาพสวนเก็บเกี่ยวอายุ 8 เดือน
- ความต้านทาน ต้านทานโรคปานกลาง
- ฤดูปลูกที่เหมาะสม ฤดูฝนเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน


อ้างอิง sut.ac.th


อ่านเรื่องนี้แล้ว : 18467 คน £




ความคิดเห็นจากผู้อ่าน:

ส่งความคิดเห็น



เลือกหมวด :

แสดงเนื้อหารวมจากทุกหมวด, สินค้าเกษตร, ไอเดียและเทคโนโลยีเกษตร, รวม VDO เด่นจาก FK, นาข้าว, เศรษฐกิจเกษตร, ภาพถ่ายเกษตร, ไร่อ้อย, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, ไร่ข้าวโพด, ผักและการปลูกผัก, การปลูกพืช, ไม้ผล ไม้ยืนต้น, เกษตรน่ารู้, สมุนไพร, ไม้มงคล, พุทธศึกษา, FK Talk, สุขภาพ, การใช้ SUN กับพืชต่างๆ, แอพฯด้านเกษตร, ไม้ดอก ไม้ประดับ, องค์กรด้านเกษตร, ซื้อขายที่ดิน, ห้องปศุสัตว์, ประมง, เกษตรกรตัวอย่าง, ฟาร์มเกษตรพาเที่ยว, FK Freestyle, Agri live update, ออแกนิกส์, จักรกล, อุปกรณ์การเกษตร, ไร่กาแฟ,


แสดงทั้งหมดใน [มันสำปะหลัง]:
ป้องกันเพลี้ย ฆ่าเพลี้ย กำจัดเพลี้ยในไร่มันสำปะหลัง แช่ท่อนพันธุ์ เร่งราก งอกไว โตดี เรามีของ
โรคและแมลง ที่ติดมากับท่อนพันธุ์ที่นำมาปลูก แช่ด้วยน้ำยา กู๊ดโซค ขจัดโรคและแมลง แถมยังเพิ่มเปอร์เซ็นงอก และโตไว
อ่านแล้ว: 7178
มันสำปะหลังใบเหลือง มันสำปะหลังใบเหลืองซีด เป็นอาการบ่งชี้ว่า มันสำปะหลังขาดธาตุอาหาร
ใบมันสำปะหลังเหลืองตามเส้นใบ มีอาการตายเฉพาะจุด สันนิษฐานว่า มันสำปะหลังขาดธาตุเหล็ก หรือ มันสำปะหลังขาดธาตุโปแตสเซียม
อ่านแล้ว: 11672
มันสำปะหลังใบไหม้ มันสำปะหลังใบแห้ง แก้ด้วยไอเอส ป้องกันด้วย กู๊ดโซค
มันสำปะหลังยอดแห้ง ใบเหี่ยว มียางไหลออกมา ตายลงมาจากยอด สัญนิษฐานได้ว่าเป็นโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อรา
อ่านแล้ว: 7675
มันสำปะหลังใบไหม้ เสียหายได้มาก 30-50% เลยทีเดียว ป้องกันได้อย่างไร?
การระบาดของโรคใบไหม้นี้ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ยกตัวอย่างเช่น โรคใบไหม้ที่ติดมากับท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง
อ่านแล้ว: 7605
เร่งหัวมันสำปะหลัง ให้หัวใหญ่ เปอร์เซ็นแป้งสูง
3 in 1 ครบทั้งธาตุหลักธาตุเสริม และสารจับใบในกล่องเดียว หมดปัญหามันงาม แค่หัวเล็ก หรือมันแคระต้นไม่โต
อ่านแล้ว: 8573
การกำจัดเพลี้ยงแป้ง ในไร่มันสำปะหลังอย่างถูกต้อง
ท่อนพันธุ์ที่นำมาปลูก ต้องสะอาด ปราศจากเพลี้ยแป้ง และเมื่องอกไปสักระยะแล้ว หากสังเกตุเห็น ให้ถอน
อ่านแล้ว: 7827
ยาแช่ท่อนพันธุ์ มันสำปะหลัง เร่งราก ป้องกันโรค ป้องกันแมลง เพิ่มเปอร์เซ็นงอก
กู๊ดโซค คือ น้ำยาแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง เพื่อเพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นงอก นอกจากนัั้นแล้วยังช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชได้อีกด้วย
อ่านแล้ว: 7957
หมวด มันสำปะหลัง ทั้งหมด >>