data-ad-format="autorelaxed">
“พริกขี้หนูสวนเป็นเครื่องปรุงอาหารคู่ครัวไทยมาช้านาน ตลาดมีความต้องการสูง แต่ปัญหาการปลูกพริกขี้หนูสวน บ้านเราปลูกกันแบบตามมีตามเกิด ไม่มีพันธุ์สำหรับการค้าอย่างแท้จริง ให้ผลผลิตไม่แน่นอน เมื่อปลูกกลางแจ้งมักเกิดโรคและตาย ประกอบกับภูมิอากาศโลกเปลี่ยนไป ภัยแล้งเกิดถี่ ยิ่งทำให้ผลผลิตน้อยลงไปอีก เกษตรกรมีโอกาสเสี่ยงขาดทุนมากขึ้น กรมวิชาการเกษตรจึงคิดปรับปรุงพันธุ์พริกขี้หนูสวนที่ให้ผลผลิตสูงขึ้น และสามารถทนความแห้งแล้งของภูมิอากาศในอนาคต”
วิลาวัณย์ ใคร่ครวญ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กรมวิชาการเกษตร เผยถึงที่มาของพริกขี้หนูสวนพันธุ์ใหม่ 10-1-1-3-6 (ยังไม่ได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ) ที่ได้เริ่มปรับปรุงพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2540 ด้วยการนำพันธุ์พริกขี้หนูสวนจากทั่วประเทศ หลายร้อยพันธุ์มาทำการผสมข้ามสายพันธุ์ไปมา จนได้สายพันธุ์ทนแล้งค่อนข้างดี สามารถปลูกในพื้นที่กลางแจ้งได้...ต่างจากพันธุ์เดิมที่ไม่สามารถทนแดดได้มากนัก เจอแดดแล้วมักจะอ่อนแอ ตายด้วยเพลี้ยไฟ แมลง ในที่สุด
พันธุ์ 10-1-1-3-6 มีผลเรียวยาวกว่าพริกขี้หนูสวนทั่วไป ผลสวย ผิวมัน ให้ผลผลิตสูงถึงไร่ละกว่า 1 ตัน ต้นสูง 80-100 ซม. ดอกบานหลังย้ายลงปลูก 110 วัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ผลอ่อนยันสุก เป็นพริกหลายฤดู หากได้รับการดูแลเหมาะสม สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานกว่า 6 เดือน ยิ่งอายุมาก ผลผลิตยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ น่าจะถูกใจเกษตรกรมากที่สุด เพราะราคาหน้าสวนสูงกว่าพริกขี้หนูผลใหญ่ 3 เท่า
พริกขี้หนูสวน 10-1-1-3-6
และผลพลอยได้อีกอย่างจากการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้ทนแล้ง...สิ่งที่ตามมาคือ ทำให้พริกขี้หนูสวนพันธุ์ใหม่มีความเผ็ดมากขึ้น โดยมีดีกรีความเผ็ดอยู่ที่ 100,000 สโควิลล์ จัดอยู่ในกลุ่มเผ็ดมากเป็นพิเศษระดับ 5 (ดีกรีวัดความเผ็ด มี 5 ระดับ) ถึงขั้นสามารถนำไปใช้ในอุตสาห-กรรมผลิตยา อาหารเสริม รวมทั้งทำเป็นอาวุธป้องกันตัว (สเปรย์พริก)
การปรับปรุงสายพันธุ์พริกขี้หนูสวนในระยะเวลากว่า 18 ปี ของ วิลาวัณย์ ไม่เพียงได้สายพันธุ์พริกขี้หนูเผ็ดทนแล้ง....เธอยังได้พริกขี้หนูสำหรับทำน้ำพริก และผู้นิยมนำพริกขี้หนูสดมาเป็นเครื่องเคียงอีกด้วย เพราะได้พริกขี้หนูสวนที่มีความหอมมากกว่าพริกขี้หนูใดๆที่เคยมีมาในบ้านเรา
พริกขี้หนูหอม 8-6-10-1-2
นั่นคือ...พริกขี้หนูหอม 8-6-10-1-2 (ยังไม่ได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการอีกเหมือนกัน)
เป็นพริกขี้หนูสวนผลเล็ก จิ๋วแต่แจ๋ว มีขนาดผลไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป ความเผ็ดอยู่ที่ 90,000 สโควิลล์ อยู่ในกลุ่มเผ็ดมากเป็นพิเศษระดับ 5 เช่นเดียวกับพันธุ์แรก ด้วยผลมีขนาดเล็ก ผลผลิตจึงน้อยกว่าประมาณ 900 กก./ไร่ แต่ก็ยังมากกว่าพริกหอมทั่วไปที่ให้ผลผลิตแค่ 400-600 กก./ไร่ แต่ด้วยกลิ่นที่หอมเป็นพิเศษ ทำให้ผู้บริโภคชอบ ราคาหน้าสวนสูงกว่าพริกขี้หนูหอมทุกชนิด โดยมีราคาหน้าสวนอยู่ที่ประมาณ กก.ละ 70 บาท ในขณะที่พริกขี้หนูหอมพันธุ์จินดา พันธุ์ยอดนิยมนั้นมีราคาอยู่ กก.ละ 28-30 บาท...ต่างกันเท่าตัว
เกษตรกรสนใจสามารถติดต่อได้ที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร 0-2579-0583, 0-2940-5484.
จาก thairath.co.th/content/567339