data-ad-format="autorelaxed">
ถิ่นกำเนิด ถั่วแระญี่ปุ่น และการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเมื่อประมาณ 1,100 ปี ก่อนคริสตกาล มีการปลูกถั่วเหลืองกันอย่างแพร่หลาย ต่อมามีการแพร่กระจายไปยังประเทศเกาหลีในช่วง 30 ปีก่อนคริสตกาลถึง 40 ปีหลังคริสตกาล แพร่เข้าไปในประเทศญี่ปุ่น ประมาณปี ค.ศ. 712 จากนั้นมีการนำถั่วเหลืองจากประเทศจีนไปปลูกในสหรัฐอเมริกา ประเทศแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเส้นทางการค้าที่เรียกว่า เส้นทางสายไหม ถั่วแระญี่ปุ่นถูกปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ขึ้นในประเทศญี่ปุ่น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของ ถั่วแระญี่ปุ่น
ถั่วแระญี่ปุ่น มีลำต้นเป็นพุ่มเตี้ยสูงประมาณ 50-60 เซนติเมตร อายุปีเดียว ไม่มีเนื้อไม้ ลำต้นแตกแขนง 3-4 แขนง การเรียงใบแบบสลับ ใบประกอบแบบขนนกมี 3 ใบย่อย แผ่นใบเรียบ ก้านใบยาว แผ่นใบย่อยรูปไข่จนถึงรูปใบหอก ยาว 3-10 เซนติเมตร กว้าง 2-6 เซนติเมตร โคนใบกลม ปลายใบแหลมหรือมน ช่อดอกเป็นช่อกระจะเจริญจากตาดอกหรือตาข้าง มีดอกย่อยตั้งแต่ 3-30 ดอก สีม่วง มีเกสรเพศผู้ 10 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน ผลหรือฝักแบบถั่วสีเขียวมีขนสีขาวเมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มี 2-3 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปไตสีเขียวเมื่ออ่อน และเป็นสีเหลืองเมื่อแก่ เมล็ดมีขนาดใหญ่ หนักประมาณ 25-35 กรัมต่อ 100 เมล็ด ขณะที่ถั่วเหลืองไร่ซึ่งให้โปรตีนและน้ำมัน หนักเพียง 12-18 กรัมต่อ 100 เมล็ด
การใช้ประโยชน์ ถั่วแระญี่ปุ่น
บริโภคฝักสดเป็นอาหารว่างโดยต้มทั้งฝักในน้ำเดือดเพียง 5-6 นาทีโรยเกลือเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติ หรือแกะเมล็ดออกจากฝักนำมาผัด แกง และใช้แทนถั่วลันเตากระป๋อง มีการนำมาแช่แข็งและบรรจุหีบห่อด้วยระบบสูญญากาศ เพื่อนำไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานหลายเดือน
คุณค่าทางอาหารของถั่วแระญี่ปุ่น
ผักที่รับประทานได้หนัก 100 กรัม ให้พลังงาน 139 กิโลคาลอรี โปรตีน 13 กรัม ไขมัน 5.7 กรัม คาร์โบไฮเดรต 11.4 กรัม ฟอสฟอรัส 158 มิลลิกรัม แคลเซียม 78 มิลลิกรัม วิตามินเอ 360 มิลลิกรัม วิตามินซี 27 มิลลิกรัม
การขยายพันธุ์ถั่วแระญี่ปุ่น
โดยการเพาะเมล็ดลงในแปลงปลูกที่มีการเตรีมดินอย่างดี และมีการดูแลรักษารวมทั้งการให้น้ำและปุ๋ยเป็นอย่างดี พันธุ์ที่มีการแนะนำให้ปลูก ได้แก่ กพส. 292 Shironomai, White Lion, Oofurisode, Tengamine, Karitea
การเก็บเกี่ยวถั่วแระญี่ปุ่น
เก็บเกี่ยวฝักสดที่อายุ 62-65 วันหลังหยอดเมล็ด โดยเลือกฝักที่มี 2 เมล็ดขึ้นไป ความยาวฝักไม่น้อยกว่า 4.5 เซนติเมตร ฝัก 1 กิโลกรัมมีจำนวนฝักไม่เกิน 350 ฝัก และไม่มีรอยตำหนิใดๆ บนฝัก ตามมาตรฐานการส่งตลาดญี่ปุ่น
อ้างอิง
- (กรุง และ สิริกุล , 2547 ; ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศทางการเกษตร, 2547 ; CEDIS, 2549 ; Shanmugasundaram and Sumarno, 1992)
- baanjomyut.com
- รูปภาพ: bloggang.com