เห็ดนางฟ้าภูฐาน เป็นเห็ดที่ขึ้นชื่อในเรื่องความสามัคคี เพราะโดยธรรมชาติแล้วมักจะออกดอกพร้อมกันและหยุดพร้อมกัน ทำให้เวลาออกดอกมักจะล้นตลาดแต่เวลาหยุดพักก็มักจะขาดตลาดเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะบังคับให้เห็ดนางฟ้าออกดอกได้ตามใจปรารถนา เพราะเป็นเห็ดที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงมากถ้าอากาศไม่เป็นใจก็ยากจะบังคับเขาได้ เช่น หากร้อนจัดและหนาวจัดเห็ดนางฟ้าภูฐานก็จะออกดอกน้อยหรือไม่ออกดอกเลย แต่พอได้ความชื้นของสายฝนและความหนาวเย็นที่พอเหมาะติดต่อกันหลายวันเมื่อไหร่คุณเตรียมรอรับทรัพย์ได้เลย สภาพอากาศที่เห็ดนางฟ้าภูฐานชอบมากที่สุดคืออากาศหนาว และอีกสภาพหนึ่งคือ เวลาที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องหลายวัน คนเพาะเห็ดเตรียมเก็บดอกขายได้เลยชนิดฟันธงแบบ อ.ลักษณ์ยังไงยังงั้น
สิ่งที่เห็ดนางฟ้าภูฐานกลัวมากที่สุด คือความร้อน ความหนาวจัดชนิดหนีจากกองไฟไม่ได้และสุดท้ายคือลม เพราะหากวันไหนมีลมพัดต่อเนื่องตลอดทั้งวันเห็ดชนิดนี้ก็มักจะหยุดออกดอก ถึงแม้จะมุงบังโรงเรือนอย่างมิดชิดแค่ไหนก็ยากที่จะชนะลมได้ เพราะลมที่พัดต่อเนื่องมักจะพาเอาความชื้นในอากาศไปด้วย เมื่อความชื้นไม่พอก็มักจะทำให้ขอบดอกเห็ดแห้ง อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการออกดอกคือประมาณ 17 - 28 องศาเซลเซียส (ข้อมูลจากประสบการณ์ตรง) หากอุณหภูมิต่ำกว่าหรือสูงกว่านี้เห็ดนางฟ้าจะออกดอกน้อย ส่วนความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่เหมาะสมก็ต้องให้มีไม่ต่ำกว่า 70 % (อยากรู้ว่าประมาณไหนให้นึกถึงบรรยากาศตอนฝนหยุดตกใหม่ ๆ ) โรงเรือนเปิดดอกเองก็ต้องมีการถ่ายเทอากาศที่ดีและให้มีแสงสว่างเพียงพอกับการพัฒนาการเจริญเติบโตของดอกเห็ด ถามว่าแสงสว่างเพียงพอนั้นคือแค่ไหน มีคนเคยพูดเปรียบเทียบเอาไว้ว่า ให้พออ่านหนังสือออกก็พอ
จุดเด่นอีกประการหนึ่งของเห็ดนางฟ้าภูฐานคือ สามารถคืนทุนได้เร็วและกำไรสูงเพราะเป็นเห็ดที่น้ำหนักดี ออกดอกสม่ำเสมอและสามารถเก็บผลผลิตได้นานถึง 7 เดือน ดังนั้นจึงเป็นอีกหนึ่งความหวังของคนเพาะเห็ดมือใหม่และมืออาชีพที่มักจะไม่ทำให้ใครผิดหวัง ปัจจุบันในภาคอีสานเห็ดนางฟ้าภูฐานราคากิโลกรัมล่ะ 40-60 บาท ก็นับว่าดีมากและอยู่ได้อย่างสบาย
เห็ดนางฟ้าภูฐาน จัดเป็นเห็ดเศรษฐกิจอีกหนึ่งที่เป็นที่นิยมบริโภคของบุคคลทั่วไป เป็นเห็ดที่เพาะง่าย มีอายุการพักเชื้อที่สั้น เพาะได้เกือบทุกฤดูยกเว้นในช่วงฤดูร้อน เพราะเห็ดชอบอากาศเย็นชื้น ในการเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐานนิยมใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราเป็นวัสดุเพาะ เพราะเป็นวัสดุที่ให้ผลผลิตสูงและเก็บผลผลิตได้นาน เฉลี่ยประมาณ ๔ เดือน และมีวิธีการเพาะที่ง่าย คุ้มทุน อีกทั้งยังดูแลรักษาง่าย นอกจากขี้เลื่อยไม้ยางพารา ยังมีวัสดุอีกหลายอย่างที่สามารถนำมาเพาะได้ เช่น ฟางข้าว แต่วิธีการที่ซับซ้อนกว่าและมีระยะเวลาในการให้ผลผลสั้น ดังนั้นจึงขอแนะนำการเพาะเห็ดนางฟ้าด้วยขี้เลื่อยไม้ยางพารา
การเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐานในถุงพลาสติก
สูตรอาหารเพาะเห็ด
ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ๑๐๐ กก.
รำละเอียด ๕ กก.
ปูนขาว ๑ กก.
ยิปซั่ม ๐.๕ กก.
ดีเกลือ ๐.๒ กก.
ความชื้น ๖๐ – ๗๐ % (ดูตามสภาพของขี้เลื่อย)
วิธีทำ
๑. ผสมสูตรอาหารทั้งหมดเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน
๒. เพิ่มความชื้นโดยการรดน้ำให้มีความชื้น ๖๐ – ๗๐%
๓. อัดถุงขนาด ๖.๕ x ๑๒.๕ น้ำหนัก ๘๐๐ กรัม/ถุง
๔. อัดให้แน่นใส่คอพลาสติกจุกด้วยสำลีและปิดด้วยกระดาษ
๕. นึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งแบบไม่ใช้ความดัน ๓ ซม. อุณหภูมิประมาณ ๙๕ – ๑๐๐ องศาเซลเซียล
๖. เมื่อครบตามเวลาปล่อยให้เย็นและทำการใส่เชื้อเห็ดจากเมล็ดข้าวฟ่าง
๗. ทำการพักเชื้อประมาณ ๓๐ วัน โดยการเก็บไว้ในโรงพักเชื้อไม่ให้โดนแสงแดดและความชื้น หากพบว่าก้อนเชื้อเกิดราดำหรือราเขียว ให้รีบแยกออกเพื่อทำลายป้องกันการระบาดของเชื้อ
วิธีดำเนินงาน
๑. ผสมอาหารเพาะเห็ด (ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ๑๐๐ กก. + รำละเอียด ๕ กก. + ยิปซั่ม ๐.๕ กก. + ปูนขาว ๑ กก. + ดีเกลือ ๐.๒ กก.)
๒. บรรจุอาหารเพาะลงในถุงพลาสติกทนร้อน
๓. รวบปากถุงบีบไล่อากาศออก แล้วอัดถุงให้แน่น
๔. นำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยถังนึ่ง ไม่อัดความดัน อุณหภูมิประมาณ ๙๕ – ๑๐๐ องศาเซลเซียส ประมาณ ๓ ชั่วโมง
๕. นำถุงอาหารเพาะเห็ดมาใส่เชื้อเห็ดนางฟ้า
๖. นำมาพักเชื้อประมาณ ๓๐ วัน
๗. นำไปเปิดดอก โดยการเปิดจุกสำลีออก
๘. เก็บผลผลิตและทำการรดน้ำ
การเก็บผลผลิต
ให้ดึงดอกเห็ดออกมาทั้งโคนอย่าให้มีเศษของก้านดอกติดอยู่ในปากถุงเพราะจะ ทำให้ก้อนเชื้อเห็ดเน่า หลังจากเก็บดอกเห็ดแล้วให้รดน้ำเพื่อปรับสภาพความชื้น
โรค – แมลง การดูแลรักษา
โรคของเห็ดนางฟ้าภูฐาน ได้แก่ ราดำ ราเขียว ราจุดไข่ปลาและราส้ม ส่วนมากราดำและราเขียวจะเกิดในช่วงของการพักเชื้อ ทั้งนี้อาจจะติดเชื้อมาจากช่วงของการใส่เชื้อเห็ด เนื่องจากสถานที่ใส่เชื้อมีลมแรงหรือสถานที่ไม่สะอาด อาจเกิดจากขั้นตอนการนึ่งก้อนเชื้อที่ใช้ความร้อนไม่สูงพอ
การแก้ไข ควรนึ่งก้อนเชื้อ เห็ดด้วยความร้อนประมาณ ๙๕ – ๑๐๐ องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน ๓ – ๔ ชม. และควรมีสถานที่ที่ทำการใส่เชื้อสะอาดไม่มีลมพัดก็จะช่วยป้องกันโรคได้
แหล่งที่มาของข้อมูล:
- สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)