data-ad-format="autorelaxed">
โรคของพริกและการป้องกันกำจัด
พริกมีหลายชนิด แต่ที่จะพูดถึงวันนี้เป็นพริกยักษ์ที่คนไทยเรียกขานกันอยู่ แต่ชาวยุโรปจะเรียกว่า พริกกระดิ่ง (bell peper) หรือพริกหวาน (sweet peper) สำหรับอาการของโรคที่ปรากฎจะคล้ายกับอาการที่เกิดกับพริกชี้ฟ้า และบางโรคก็คล้ายกับอาการที่เกิดกับยาสูบด้วย จึงอยากจะนำมาเสนอให้เข้าใจถึงลักษณะอาการของโรค และแนะนำวิธีการควบคุมโรค เพื่อประโยชน์สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกพริกและยาสูบโดยทั่วไป
โรคแอนแทรคโนส (anthracnose) ที่เกิดในพริก
โรคแอนแทรคโนส (anthracnose) อาการจะเกิดได้ทั้งบริเวณผล ขั้วผล ใบ ก้านใบ โดยจะเป็นแผลสีน้ำตาล ที่แผลบนผลพริก แผลจะลึกลงไปในผิวพืชและมีผงสีดำติดอยู่ สีดำที่เห็นเป็นซีตี้ (setae) ที่มีลักษณะคล้ายขนสีน้ำตาลเข้ม อยู่ในโครงสร้างรูปจาน (acervulus) ที่บรรจุสปอร์ของเชื้อรา คอเลทโททริคั่ม นั่นเอง โรคนี้ถ้าเป็นกับพริกชี้ฟ้าจะทำให้เกิดแผลจนรอบผลพริก ทำให้สีของพริกเปลี่ยนจาก สีแดงเป็นสีปูนแห้ง และผลพริกจะแห้งงอ เรียกลักษณะอาการเช่นนี้ว่าพริกกุ้งแห้ง ถ้าเกิดกับก้านใบและก้านผลก็จะทำให้ใบร่วงผลร่วง การควบคุมโรคนี้ทำได้โดยใช้สารเคมีควบคุม สารเคมีที่ใช้ได้ผลเป็นสารประเภทโปรปิเนบ (propineb)ซิเนบ (zineb)แมนโคเซ็บ (mancozeb) อย่างใดอย่างหนึ่งฉีดพ่นเพื่อป้องกัน ถ้ามีการระบาดหนักให้ใช้สารประเภท บีโนมิล (benomyl) และ คาร์เบนดาซิม (carbendazim) ฉีดพ่นสบับกับสารที่กล่าวมาแล้ว
โรคใบจุดแบคทีเรีย หรือแบคทีเรี่ยล สะเป้ค (bacterial speck)
โรคของพริกที่จะกล่าวโรคที่สอง คือ โรคใบจุดแบคทีเรีย หรือแบคทีเรี่ยล สะเป้ค (bacterial speck) โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ในสกุลแซนโธโมแนส (Xanthomonas) ทำให้เกิดเป็นจุดรูปร่างไม่แน่นอน สีน้ำตาลปนเทา ขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม กลางแผลมีจุดสีน้ำตาลหลายแผลจะต่อกันทำให้แผลมีขนาดใหญ่ แผลเกิดกระจายทั่วไปและลุกลามอย่างรวดเร็ว แรก ๆ แผลจะปรากฎเป็นอาการฉ่ำน้ำ แต่นาน ๆ เข้าแผลจะแห้งจนดูคล้ายเกิดจากเชื้อรา การควบคุมโรคนี้ โดยการใช้สารเคมี เช่นใช้สารประกอบทองแดง เช่น คอปเปอร์ซับเฟต คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ และพวกบอร์โดมิกซ์เจอร์ หรือจะใช้สารปฏิชีวนะผสมคอปเปอร์คลอไรด์ไฮดรอกไซด์ ชื่อการค้าของสารเหล่านี้ได้แก่ โคแมค คูปราวิต แคงเคอร์เอ็กซ์ โคแพค-อี คาซูแรน คาซูมิน และโคไซด์ เป็นต้น
โรคเหี่ยว ที่เกิดจากแบคทีเรียซูโดโมแนส (Pseudomonas solanacearum)
โรคต่อไปจะพูดถึงโรคเหี่ยวที่พบเห็นเสมอ เกิดจากแบคทีเรียซูโดโมแนส (Pseudomonas solanacearum) ซึ่งสามารถทำลายมะเขือเทศ พริก ยาสูบ และมันฝรั่ง และพืชอีกหลายชนิด อาการเหี่ยวจะปรากฎให้เห็นในลักษณะที่ใบพืชยังเขียวอยู่แต่เหี่ยว ถ้าตัดบริเวณโคนต้นไปจุ่มน้ำดูจะพบเมือกแบคทีเรียไหลออกมา โรคนี้ควบคุมยากจะต้องป้องกันโดยการเตรียมดินให้ดี พื้นที่ที่เคยเป็นโรคนี้ ให้ขุดต้นเป็นโรคออกทั้งรากวางบนแปลงตากแดด เมื่อแห้งให้เผาทำลาย การปลูกพืชครั้งต่อไปต้องขุดดินตากแดดจัดไว้นาน ๆ ก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ที่แห้งดีแล้วทุบละเอียดผสมดินรองก้นหลุม หรือจะใช้ปุ๋ยหมักที่คุณภาพดีรองก้นหลุมก็ได้จะได้ช่วยลดการเกิดโรคนี้ได้ สำหรับการแก้ปัญหาเมื่อพบโรคนี้ ควรขุดต้นเป็นโรคออกใส่ถุงพลาสติก นำออกไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก ราดบริเวณที่เป็นโรคด้วยสารทีซีเอ็มทีซี (ชื่อการค้า บูซาน-30) หรือราดด้วยสารประเภททองแดง เช่น คอปเปอร์ซัลเฟต จะช่วยป้องกันการระบาดได้
โรคใบด่างเป็นวง หรือมักเรียกว่าใบจุดวงแหวน (ring spot)
โรคที่ร้ายแรงอีกโรคหนึ่งคือ โรคใบด่างเป็นวง หรือมักเรียกว่าใบจุดวงแหวน (ring spot) โดยการด่างเป็นวงสีเขียวอ่อน เป็นลวดลาย ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส การผิดปกติ เช่น ใบหงิก ใบงอ ใบด่าง ใบเป็นคลื่น จะพบเสมอในพริก ซึ่งอาจจะเกิดจากไร เพลี้ยไฟ และไวรัส จึงต้องสังเกตให้ดี โดยการใช้แว่นขยายตรวจดูศัตรูของพริกด้วย ส่วนเชื้อไวรัสไม่มีสารเคมีชนิดใดที่รักษาโรคได้ ได้แต่ป้องกันการระบาด โดยการทำลายพาหะของโรค และบำรุงพืชให้แข็งแรงเพื่อต้านทานโรค
โรคใบจุดตากบ (frog-eye spot)
โรคใบจุดตากบ (frog-eye spot) จะพบประจำในพริกและยาสูบ จุดแผลจะกลม กลางแผลมีสีเทา ขอบแผลสีน้ำตาล แผลจะกระจายทั่วไป โรคนี้เกิดจากเชื้อเซอโคสะปอร่า (Cercospora) การควบคุมโรคนี้ใช้สารชนิดเดียวกับที่ใช้ควบคุมแอนแทรคโนสก็ได้ หรือจะใช้สารประเภทคลอโรธาโรนิล (chlorothalonil) ฉีดพ่นสม่ำเสมอขณะระบาด จะได้ผลดี
แสงแดดกล้าอาจจะทำให้ผิวของผลไหม้ ถ้าต้นพริกมีใบมาก จะช่วยคลุมผลได้บ้าง การปลูกในช่วงร้อนจัด จึงควรปลูกในโรงเรือนที่มีหลังคากรองแสง จะช่วยลดความเสียหายลงได้
อาการขาดธาตุอาหาร ในพริก
อาการขาดธาตุอาหารมักจะปรากฎเสมอ ๆ ในพืช ในพริกก็เช่นกันพบการขาดธาตุไนโตรเจน อาการเหลืองจะเริ่มจากปลายใบเข้ามา และเกิดกับใบแ เป็นอาการของการขาดธาตุไนโตรเจน ถ้าทราบลักษณะการขาดธาตุแล้ว การแก้ไขโดยให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เช่น ปุ๋ยทางใบสูตร 30-20-10 จะช่วยให้อาการด่างเหลืองหายไป
โรคราแป้ง (powdery mildew)
โรคที่พบเป็นบางพื้นที่คือโรคราแป้ง (powdery mildew) ซึ่งจะปรากฎผงสีขาว ๆ เกาะตามใบ และส่วนต่าง ๆ ของพริก สปอร์ และเส้นใยของราจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ทำให้ใบเหลืองและร่วงหล่นในที่สุด สารเคมีที่ใช้ได้ผลมีหลายชนิด เช่น สารประเภท กำมะถัน พวกไพราโซฟอส เบโนมิล ไตรดีมอร์บ และไตรโฟรีน เป็นต้น ซึ่งชื่อการค้าได้แก่ อาฟูกาน เบนเลท คาลิกซิน และ ซาพรอล
ที่กล่าวมาแล้วเป็นโรคสำคัญ ๆ และพบเสมอ ที่นำมาลงแม้จะเป็นโรคที่เกิดกับพริกยักษ์ทั้งหมด แต่อาการของโรคที่เกิดกับพริกอื่น ๆ ก็จะเป็นไปในลักษณะเดียวกัน จึงเท่ากับเป็นการอธิบายถึงโรคของพริกโดยทั่ว ๆ ไป หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะได้ประโยชน์บ้าง
โดย : ดร.นุชนารถ จงเลขา
อ้างอิง : thaikasetsart.com