data-ad-format="autorelaxed">
ในฐานะชาวนาแก่ๆ ไปเดินจับพิกัดดาวเทียมที่นาตัวเอง เพื่อขึ้นทะเบียนเกษตรกร ย่อมรู้สึกคึกคักกับชาวนา 4.0
ทูนหัวของบ่าว…ข่าวประชาชาติบอกว่าเมื่อวานนี้ 3 สิงหาคม เขาประชุมยกระดับวิธีปลูกข้าวให้ได้คุณภาพ เร่งใช้ไอทีเข้าช่วยชาวนาดิจิต้อล
แค่ในหมู่บ้านมีศูนย์รวมที่กรรมการ ทำงานเป็นทีม ชาวบ้านก็เกิดการรวมตัวทำประชาคมกันบ่อยขึ้น ดูข่าวสารที่เกี่ยวข้องตัวเองมากขึ้น
ผ่านโทรศัพทฺ์มือถือ 3.0 หรือ 4.0 ก็ไปกันได้ทุกที่ เด็กๆวัยรุ่นสมัยนี้ช่วยลุงป้าน้าอา สบายมาก
ค้าขายผ่านเฟซบุ้คหรือโซเชียลอื่นๆ โดยระบบขนส่งไปรษณีย์ไทย ที่พัฒนามาแข่งกัน ส่งถึงบ้านทุกที่ทั่วไทย
การตลาดก็ก้าวไกล ไปเร็ว
ที่สำคัญเขาเชิญผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาเล่า…ข้าวญี่ปุ่น ชาวนาญี่ปุ่นทำไมก้าวใกล หวังให้ชาวนาไทยตื่นตัว
สุโค่ย…
เร่งยกระดับ”ชาวนา”ใช้ไอทีทำเกษตรยุคใหม่ลดปัญหากำลังคน-แก้ปัญหาข้าวไม่มีคุณภาพ ดันรัฐสร้างแอพฯให้ชาวนาคอยติดตามตรวจสอบสภาพผืนนา
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม เวลา 08.00 น. ณ ห้องคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ มีการเปิดเวทีสัมนา “โลกเปลี่ยนไว ชาวนาไทยต้องปรับ” นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเปิดงานว่า การพัฒนาเกษตรสมัยใหม่มีอยู่สามประเด็นหลักคือ วิวัฒนาการเกษตร การเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่
“วิวัฒนาการเกษตรของโลกและของประเทศไทย การเกษตรของโลกพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งด้านคุณภาพของข้าว และเกษตรกร ผิดกับประเทศไทยที่คนไทยยังยึดหลักการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไม่เปิดรับเทคโนโลยีเข้ามา ทำให้โลกพัฒนาไปข้างหน้าแต่ประเทศไทยยังย่ำอยู่ที่เดิม สมควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตรของไทย พัฒนาคนโดยนำจักรกลเข้ามาร่วมด้วย สอนให้เกษตรกรรู้จักลดแรงคนแล้วนำเครื่องจักรเข้ามาทดแทนถือเป็นการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ากระทรวงต้องมีแผนเตรียมรองรับชาวนา หากเกิดปัญหาชาวนาต้องได้รับการคุ้มครองผลผลิต” นายศักดิ์ชัยกล่าว
ทั้งนี้ นายซึโตมุ มิยาโกชิ ที่ปรึกษาเชี่ยวชาญพิเศษ (ข้าว) บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และอดีตที่ปรึกษาด้านเทคนิคการปลูกประจำบริษัท คูโบต้า คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) ขึ้นปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ก้าวสู่การเป็นชาวนามืออาชีพแบบญี่ปุ่น” ว่า สถานการณ์ผลิตข้าวในญี่ปุ่นปัจจุบันมียุทธศาสตร์ 6 ทวีคูณคือ ขั้นที่1 การเกษตร ขั้นที่ 2 แปรรูป ขั้นที่3 จำหน่าย โดยนำเอาหมายเลข 1+2+3 จะเท่ากับ 6 หรือแม้จะคูณคำตอบก็คือหกอยู่ดี โดยการเกษตรของญี่ปุ่นในหนึ่งปีปลูกข้าวได้เพียง 6 เดือน เพราะอากาศหนาว ซึ่งก็เจอปัญหาข้าวคุณภาพสูงปะปนกับข้าวคุณภาพต่ำ จะมีองค์กรคอยดูแลชื่อ JGAP คือการตรวจสอบมาตรฐานดูแลผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ญี่ปุ่นยังเห็นความปลอดภัยของลูกค้าเป็นหลักส่งผลให้ผู้บริโภคเชื่อมั่น สินค้าเกษตรทุกตัวจะมีบาร์โค้ดเพื่อตรวจสอบที่มาและคุณภาพ
ไม่เพียงเท่านั้นประเทศญี่ปุ่นยังมีเทคนิคการผลิตข้าวจะมีการเตรียมดินด้วยวิธีการไถแบบระเบิดหน้าดินซึ่งจะทำทุกๆสามปี มีการทิ้งฟางบนหน้าดินเพื่อเพิ่มความชุ่นชื้นให้กับดิน และเน้นไปที่น้ำจะมีกำหนด เวลา วันที่ อย่างชัดเจนว่าช่วงไหนน้ำมากน้ำน้อย เมื่อถึงตอนเก็บเกี่ยวจะกำหนดเวลาล่วงหน้าเอาไว้ ดูสีต้น รวงข้าว เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุด แม้ข้าวของประเทศญี่ปุ่นจะมีราคาแพงแต่เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก 1 กก. ราคาอยู่ที่ 11,300 เยน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4,000 บาท เรียกได้ว่าขายคุณภาพกันอย่างที่เห็น
“เทคนิคการปลูกข้าวให้ได้คุณภาพต้องใช้นวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามามีส่วนร่วมเราจะรวมกลุ่มกันผลิตและจัดการร่วมกัน หัวหน้าจะสั่งงานผ่านคอมพิวเตอร์ไปถึงผู้ถือโทรศัพท์ว่าตอนนี้ข้าวแปลงไหนพร้อมเก็บเกี่ยวให้ตามตำแหน่งไป ใช้รถแทรกเตอร์เก็บเกี่ยว หรือแม้แต่หว่านปุ๋ยเพราะมีความประณีตมากกว่าแรงคน เราควรยอมรับเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยลดแรงงานจะทำให้ข้าวมีคุณภาพ เกษตรกรมีรายได้ มีฐานชีวิตที่มั่นคง หากจะเอาชนะต้องมีการวางแผน เพราะแผนที่ดีจะทำให้เราสำเร็จ การลงมือทำจะทำให้เราไม่พ่ายแพ้ ต้องสู้จนถึงที่สุด”นายซึโตมุกล่าว
ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับต้นๆ ของโลก นำรายได้สู่ประเทศเฉลี่ย 1.5 แสนล้านบาทต่อปี แม้จะประสบปัญหาหลายด้าน แต่ภาพรวมของข้าวประเทศไทยปีนี้ดีขึ้น เรื่องราคาข้าวต้องดูช่วงเวลาสอดคล้องกับปัจจัยต่างๆ ประเมินพื้นที่การปลูกข้าวเอาไว้กว่า 54 ล้าน ณ วันนี้พื้นที่ปลูกข้าวมีประมาณ 37 ล้านได้ ยังถือว่าไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้
นายโอภาส ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ทางคูโบต้าจะทำแปลงสาธิตให้และมีกลุ่มลงไปช่วยงาน เพื่อให้เกษตรกรมีแนวทางในการทำการเกษตร พัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเรายังอยู่อันดับกลางๆ หากเกษตรกรเข้าร่วมสามารถใช้เครื่องจักรจากรัฐบาลได้ โดยปัจจุบันอัตราการใช้เครื่องจักรมีมากถึง 75% อีก 25% คือพืชไร่ที่ยังเก็บเกี่ยวไม่ได้ ซึ่งอัตราการใช้เครื่องจักรเพิ่มยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเผชิญในปัจจุบันของชาวนาไทยคือ การลดจำนวนชาวนาลงเหลือคนที่เป็นมืออาชีพและเข้าร่วมกับการตลาด เพื่อเป็นแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงให้มีการปรับตัวทำงานร่วมกับบริษัทที่จะเข้ามาช่วยเหลือให้ได้ รัฐสามารถเข้ามาแทรกแซงได้ แต่ก็ต้องให้เกษตรกรมีสิทธิ์เลือกด้วย และยังต้องเชื่อมั่นในกลไกตลาด หากก็ยังพบข้อบกพร่องคือประเทศไทยด้อยเรื่องการวิจัยเกษตร แต่ต่างประเทศมีการพัฒนาวิจัยการเกษตรอย่างแพร่หลาย
“วันนี้ข้าวหอมมะลิของเราไม่หอมอีกต่อไปแล้ว ต้องมีวิจัยและไอทีเพื่อความสำเร็จอันยั่งยืนของชาวนา” ดร.นิพนธ์กล่าว
ดร. อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย อดีตอธิบดีกรมการข้าว/อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การทำการเกษตรสมัยใหม่ด้วยไอทีควรส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยี เริ่มจากการใช้ดาวเทียมสำรวจพื้นที่เพาะปลูก เก็บข้อมูลโดยไม่ใช้คน รัฐบาลต้องเข้ามาพัฒนาด้วย โดยให้ชาวนาดูผืนนาผ่าน Applications ทางการเกษตร ภาครัฐควรเป็นกลไกหลัก ทำให้ชาวนากับเทคโนโลยีเดินคู่กันได้ หากรวมกลุ่มกันแล้วเริ่มลงมือโดยใช้เทคโนโลยีเกษตรกรไทยก็จะยั่งยืน
นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การที่จะดูแลกลุ่ม หรือสหกรณ์ยังมองว่าเป็นการรวมตัวที่ไม่แน่นหนา อาจเกิดจากนิสัยแรกเริ่มมีการรวมกลุ่มได้เยอะ พัฒนาร่วมกันจนไปในทิศทางที่ดี เมื่อเห็นผลประโยชน์หัวหน้าก็ทิ้งลูกทีมแล้วหวังผลเพียงคนเดียว เบื้องต้นต้องให้เกษตรกรเข้มแข็งก่อน มองไปที่การตลาดอย่าคิดว่าต้องทำนาแล้วส่งข้าวออกนอกเพราะคงขาดทุน เปิดโอกาสให้นายทุนร่วมหุ้นกับเกษตรกรได้ ผู้สนับสนุนหลักคือภาคเอกชนอยู่แล้ว ทำเอาบรรยากาศการเสวนาตึงเครียดขึ้นมาทันที
สอดคล้องกับ นายบุญมี สุระโคตร ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์) จ.ศรีสะเกษ ต้นแบบชาวนายุคใหม่ กล่าวว่า ข้อผิดพลาดของเกษตรกรคือการทำการเกษตรแบบเดิม ขาดความรู้วิทยาศาสตร์ ไม่เคยปลูกฝังให้รุ่นลูกทำเกษตรเพราะกลัวความลำบาก หาทางออกเองไม่เรียนรู้งานวิทยาศาสตร์ เมื่อเปรียบเทียบกับงานระหว่างแบบเดิมกับงานที่ใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยก็จะเห็นข้อแตกต่าง จึงรวมกลุ่มชาวบ้านมากว่า 12 ปี เมื่อก่อนทำเท่าไหร่ขายเท่านั้นไม่เคยสนใจการตลาดทำให้เกษตรกรไม่พัฒนา ต้องทำให้ชาวบ้านเชื่อถือ ยอมใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาในงานเกษตรซึ่งทั้งหมดนี้ภาคเอกชนมีส่วนช่วยเต็มที่ ทำให้ต้องย้อนกลับมามองที่ภาครัฐ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็อยากให้ทุกภาคส่วนเข้าช่วยเหลือ
นายวัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการ บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด กล่าวปิดท้ายการเสวนาว่า การตลาดข้าวของไทยตอนนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากแม้การค้าขายออนไลน์จะมีมากแต่ก็สู้การตลาดปกติไม่ได้ ข้าวมีน้ำหนักยากต่อการขนส่ง ข้าวของประเทศไทยควรมีอะไรแปลกใหม่เพื่อเป็นการดึงดูดผู้บริโภค ทำข้าวให้เหนือกว่าเขาหรือแตกต่างก็ขายได้แล้ว เท่านี้การตลาดเราก็เหนือกว่าแล้ว
Source:
http://chaoprayanews.com/
ข่าวประชาชาติธุรกิจ