data-ad-format="autorelaxed">
ราคาข้าวหัวทิ่ม 2 ปัจจัยฉุด ฝนดีผลผลิตทะลัก ซํ้าด้วยพ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าวพ่นพิษ แรงงานกัมพูชาหนีกลับประเทศส่งมอบข้าวล่าช้า คู่ค้าหนีซื้อที่อื่น ชาวนาโวยผลผลิตใกล้ออก ปล่อยข่าวทุบราคา
จากราคาข้าวสารส่งออกเอฟโอบี (ราคา ณ ท่าเรือต้นทาง)ของไทย ได้ปรับตัวสูงขึ้นที่ระดับ 440-450 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (ข้าวขาว 5%) ทำสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปีเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้ส่งออกชี้ผลพวงผู้นำเข้าตื่นข่าวสต๊อกข้าวของรัฐบาลไทยแทบไม่มีแล้วต้องเร่งซื้อ ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วยนั้น ล่าสุดกลับตกหนัก
เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์
นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เวลานี้ (18 กรกฎาคม 2560) ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้นไม่เกิน 15% ที่โรงสีรับซื้อจากชาวนาเฉลี่ยที่ 7,800-8,000 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนมิถุนายนราคาอยู่ที่ 9,000-9,200 บาท/ตัน (หรือลดลง 1,200 บาท/ตัน หากความชื้นสูงกว่า 15% ราคาก็จะปรับลดลงอีก) ขณะที่ราคาข้าวสารเจ้า 5% ที่ผู้ส่งออกซื้อจากโรงสีลดลงเหลือ 1.20-1.25 หมื่นบาท/ตัน จากเดือนก่อนที่เคยขึ้นไปที่ 1.45 หมื่นบาท/ตัน
“ราคาข้าวเปลือกที่ลดลง เป็นผลจากข้าวสารที่ผู้ส่งออกเสนอซื้อจากโรงสีในราคาที่ตํ่าลง ทั้งนี้ราคาข้าวจะสูงหรือตํ่าอยู่ที่ผู้ส่งออกและผู้ซื้อในต่างประเทศจะเสนอราคามา และโรงสีจะพิจารณาว่าจะขายหรือไม่ขาย”
ด้านนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่กล่าวว่า ราคาข้าว (ข้าวขาว 5%) ส่งออกเอฟโอบีของไทย ณ เวลานี้ได้ปรับตัวลดลงจากระดับ 440 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ลงมาอยู่ที่ระดับ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลจาก 2 ปัจจัยหลักคือ 1.ผลผลิตข้าวนาปรังรอบ 2 คาดจะมีออกมามากจากสภาพฝนที่ดีในปีนี้ โรงสีจึงซื้อข้าวเปลือกและสีเป็นข้าวสารขายให้ผู้ส่งออกในราคาที่ถูกลง ดังนั้นราคาส่งออกจึงต้องลดลงตามต้นทุน ขณะที่ผู้ส่งออกก็ต้องลดราคาสินค้าลง เพื่อเร่งระบายข้าวออกไปให้ได้มากที่สุดไว้รองรับผลผลิตข้าวนาปรังรอบ 2 ที่จะทยอยออกมามากตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม รวมถึงข้าวนาปีที่จะมีผลผลิตล็อตใหญ่ออกมาในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน
"เจริญ เหล่าธรรมทัศน์" นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ปัจจัยที่ 2 ผลจากพ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ทำให้แรง งานกัมพูชาที่ใช้ในการขนข้าวลงโป๊ะและไปขึ้นเรือใหญ่เพื่อส่งออก หนีกลับประเทศกว่า 30-40% การส่งออกและส่งมอบสินค้าล่าช้าลง ลูกค้ามีความเสี่ยงได้รับสินค้าไม่ตรงเวลา บางรายได้หันไปซื้อข้าวจากประเทศอื่นแทน
“ผลกระทบจาก พ.ร.ก. ทำให้การโหลดข้าวลงเรือล่าช้าส่งมอบได้ช้าลง และมีความเสี่ยงหากแรงงานไม่กลับมาผู้ส่งออกจะมีปัญหา”
สอดคล้องกับนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยที่กล่าวว่า ผลกระทบจาก พ.ร.ก.เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศชะลอตัว เนื่องจากคู่ค้ากังวลใจว่าหากสั่งซื้อแล้วจะส่งมอบไม่ทันตามเวลาขณะที่ราคาข้าวส่งออกของไทยที่ขึ้น-ลงเร็วโดยข้าวขาว 5% จากระดับ 440-450 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันในเดือนมิถุนายน ลดลงเหลือระดับ 400- 410 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าที่ชะลอตัวลงเพื่อรอดูสถานการณ์
“ภาพรวมการส่งออกข้าวไทยยังมีโอกาส เช่น ในการเปิดประมูลข้าวของฟิลิปปินส์เป็นข้าวขาว 25% ที่จะเปิดประมูล 2.5 แสน ตันในสัปดาห์นี้คาดไทยจะได้ไม่ตํ่ากว่าครึ่งหนึ่งส่วนบังกลาเทศที่ติดต่อซื้อแบบจีทูจีเป็นข้าวนึ่ง 5% ปริมาณ 2 แสนตัน ทราบว่าในสัปดาห์นี้ได้เชิญผู้บริหารกรมการค้าต่างประเทศของไทยไปหารือที่กรุงดักกา ส่วนอิหร่านที่สั่งซื้อข้าวไทยแล้ว 2.2 แสนตันก็มีแนวโน้มจะสั่งซื้อเพิ่มอีก”
ขณะที่นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า เรื่องนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่จะว่าจะเป็นผู้ส่งออก โรงสี ผู้ค้าข้าว (หยง) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯจะต้องหารือร่วมกันเพื่อกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมข้าวไทยให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นแล้วจากราคาข้าวที่วูบวาบผู้เดือดร้อนที่สุดก็คือชาวนา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560