data-ad-format="autorelaxed">
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ออกประกาศการจำหน่ายข้าวสารสต๊อกรัฐบาลเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ครั้งที่ 1/2560 ปริมาณ 3.66 ล้านตัน ซึ่งเป็นข้าวในกลุ่มที่มีเกรดซีปน 20% ขึ้นไป ต้องระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยจะเปิดชี้แจงหลักเกณฑ์เงื่อนไข (ทีโออาร์) การประมูลในวันที่ 10 มี.ค.นี้ และจะเปิดคลังให้ดูสภาพข้าวระหว่างวันที่ 13-17 มี.ค. หลังจากนั้นจะเปิดให้ยื่นซองคุณสมบัติในวันที่ 20 มี.ค. และยื่นซองเสนอราคาในวันที่ 23 มี.ค. ต่อไป
สำหรับประเภทข้าวสารในสต๊อกที่นำออกมาจำหน่ายเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในครั้งนี้ เป็นข้าว 17 ชนิด ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ข้าวหอมจังหวัด ข้าวขาว 5% ข้าวปทุมธานี 5% ข้าวขาว 10% เป็นต้น มีทั้งหมด 278 คลัง ใน 39 จังหวัด ซึ่งถือเป็นข้าวทั้งหมดของกลุ่มที่ต้องระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์
นอกจากนี้ ยังได้เสนอประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) อนุมัติผลการจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลเป็นการทั่วไป ครั้งที่ 1/2560 ที่เปิดประมูลไปเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ให้แก่ผู้เสนอซื้อสูงสุดจำนวน 41 ราย ใน 127 คลัง ปริมาณ 1.35 ล้านตัน หรือ 47.18% ของปริมาณข้าวที่นำมาเปิดประมูลทั้งหมด 2.8 ล้านตัน มูลค่ารวม 1.32 หมื่นล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้กรมจะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ชนะการประมูลเข้าทำสัญญาซื้อขายข้าวกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ภายใน 15 วันทำการต่อไป
"สาเหตุที่อนุมัติขายไปเพียง 1.35 ล้านตัน จากที่เสนอราคาสูงสุดเข้ามา 2.03 ล้านตัน เนื่องจากพบว่าบางคลังมีการเสนอราคาต่ำมาก โดยข้าวหอมมะลิเสนอราคาต่ำกว่าข้าวขาว 5% และปลายข้าว จึงตัดเกณฑ์ราคาใหม่ โดยใช้ฐานราคาซื้อข้าวขาว 5% ที่เสนอมาเฉลี่ยตันละ 9,450 บาท ดังนั้นข้าวหอมมะลิจะต้องอนุมัติขายตันละหมื่นบาทขึ้นไป หากต่ำกว่าหมื่นก็ไม่ขาย" นางดวงพร กล่าว
นางดวงพร กล่าวอีกว่า หากนับรวมการอนุมัติขายข้าวสต๊อกรัฐบาล 1.35 ล้านตัน รอบนี้แล้ว จะทำให้เหลือข้าวในสต๊อกประมาณ 6.66 ล้านตัน โดยนับตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศมีการอนุมัติขายข้าวไปแล้ว 10.11 ล้านตัน มูลค่า 1.03 แสนล้านบาท และในเดือน เม.ย. จะมีการประกาศขายข้าวในกลุ่มสุดท้าย หรือข้าวเสื่อมสภาพที่เก็บนานเกินระยะเวลา 5 ปี ซึ่งต้องระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงานเท่านั้น โดยมีข้าวในกลุ่มนี้เหลืออยู่ประมาณ 1 ล้านกว่าตัน จะทำให้รัฐบาลสามารถประกาศขายข้าวในสต๊อกทั้งหมดที่มีอยู่ แต่จะขายได้หมดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผู้ซื้อเป็นหลัก
ด้านการส่งออกข้าวไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-6 มี.ค. 2560 ไทยส่งออกข้าวได้แล้วประมาณ 2 ล้านตัน ลดลง 2% เทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่ส่งออกประมาณ 2.05 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยเชื่อว่าการส่งออกข้าวในปีนี้จะสามารถส่งออกได้ตามเป้าหมาย 10 ล้านตัน เนื่องจากขณะนี้มีสัญญาณความต้องการซื้อข้าวจากต่างประเทศเข้ามา โดยล่าสุดทาง บริษัท คอฟโก ผู้นำเข้าข้าวของรัฐบาลจีนได้ติดต่อขอซื้อข้าวในแสนตันที่ 4 จากสัญญาซื้อขาย 1 ล้านตัน ที่ทำไว้กับรัฐบาลชุดปัจจุบัน ในราคาเท่ากับแสนตันที่ 2 และแสนตันที่ 3 และจะมีการส่งมอบข้าวไปจนถึงเดือน มิ.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม ฟิลิปปินส์คาดว่าจะมีการเปิดประมูลนำเข้าข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภายในเดือน มี.ค. อีกปริมาณไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนตัน เนื่องจากคาดการณ์ว่าฟิลิปปินส์จะต้องนำเข้าข้าวในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตันขึ้นไป ส่วน ศรีลังกาได้ติดต่อมาทางนายกรัฐมนตรีที่ต้องการจะซื้อข้าวจากไทย โดยกรมอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องรายละเอียดของข้าวที่ศรีลังกาต้องการจะซื้อ และจะเชิญศรีลังกามาหารือในไทยต่อไป
source: posttoday.com/biz/gov/484109