data-ad-format="autorelaxed">
นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง “การศึกษารูปแบบความพึงพอใจประกันภัยข้าวนาปีของเกษตรกร” ปีงบประมาณ 2560 โดย สศก. ร่วมมือกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อศึกษารูปแบบความพึงพอใจการประกันภัยข้าวนาปี
และทัศนคติของเกษตรกรที่มีต่อการประกันภัยข้าวนาปีของเกษตรกร โดยมีกำหนดลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 23 มกราคม–25 มีนาคม 2560 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด สัมภาษณ์เกษตรกรตัวอย่าง 400 ราย ที่มีการทำประกันภัยข้าวนาปีมากเป็นลำดับต้นของประเทศ ตามรายงานโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 ของ ธ.ก.ส. ซึ่งได้แก่ อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา และร้อยเอ็ด
สำหรับการประกันภัย ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยง ของเกษตรกร ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นระบบเตือนภัยล่วงหน้าทำให้เกษตรกรเตรียมความพร้อมในเชิงรุกที่จะเผชิญกับภัยธรรมชาติและค้นหาวิธีป้องกันความเสี่ยงด้านการเงินด้วยตนเอง โดยเกษตรกรสามารถถ่ายโอนความเสี่ยงไปยังบริษัทประกันภัยในฐานะผู้รับประกันและต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันให้กับผู้รับประกัน
ทั้งนี้เพื่อที่จะได้รับความคุ้มครองหรือชดเชยทางการเงินหากเกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งปัจจัยที่จะช่วยผลักดันพัฒนาระบบการประกันภัยในประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมีประสิทธิภาพและยั่งยืนวิธีหนึ่ง คือ การทำให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจต่อระบบประกันภัยที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจที่ผ่านมาของ ธ.ก.ส. พบว่า เกษตรกรบางส่วนมีทัศนคติต่อการประกันภัยพืชผลว่าเป็นเรื่องไกลตัวเป็นการสูญเสียค่าใช้จ่ายที่เปล่าประโยชน์ไม่คุ้มค่า ไม่เหมือนกับการได้รับความช่วยเหลือโดยตรงจากรัฐบาล แตกต่างจากการประกันภัยพืชผลในต่างประเทศที่มีการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นระบบที่เข้ามาเพื่อลดภาระความเสี่ยงที่ครอบคลุมด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และประมง
ดังนั้น การปฏิรูปการประกันภัยพืชผลในประเทศไทยจึงมีความสำคัญอย่างมาก ภายใต้ความเสี่ยงที่ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง เพื่อทำให้เกษตรกรเกิดความเชื่อมั่นว่าเมื่อพื้นที่การประกันเพิ่มมากขึ้น อัตราเบี้ยประกันภัยจะถูกลงตามกลไกตลาด เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจว่าระบบประกันภัยพืชผลคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาวิจัย จะใช้เป็นแนวทางนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการประกันภัยข้าวนาปี เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรต่อไป
สำหรับพื้นที่เพาะปลูก ของภาคอีสานที่ผ่านมาพบว่า เกษตรกรมักประสบภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วงในระยะที่ข้าวกำลังเจริญเติบโต การเก็บเกี่ยวผลผลิตจึงได้ไม่เต็มที่ ทำให้บางพื้นที่เกษตรกรเริ่มปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงาน ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ในขณะที่เกษตรกรบางส่วนยังคงปลูกข้าวอยู่
โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิซึ่งเกษตรกรจะเริ่มปลูกในเดือนมิถุนายน ถึงกรกฎาคม และจะเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน
source: dailynews.co.th/agriculture/550746