data-ad-format="autorelaxed">
ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และ ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ได้ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ข้าวไทย ซึ่งจากการประกวด World’s Best Rice 2016 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมาจัดโดย The Rice Trader ข้าวหอมไทยครองแชมป์ชนะเลิศอันดับ 1
สำหรับการประกวดดังกล่าว มีข้าวจากหลากหลายประเทศส่งเข้าประกวดมากกว่า 50 ตัวอย่าง โดยการให้คะแนนจะพิจารณาจากความสวยและความสะอาดจากตัวอย่างข้าวที่ยังไม่ได้หุง ร่วมกับการพิจารณาจากข้าวที่หุงแล้วในด้านกลิ่น รสชาติ ความเหนียวนุ่ม และรูปร่างลักษณะ ว่าอยู่ในระดับใดแล้วคิดเป็นคะแนนเฉลี่ย โดยใช้วิธีตัดสินแบบการทดสอบด้วย Blind testing (คือไม่ให้กรรมการทราบว่าเป็นข้าวของประเทศใด) และจากการประกวดที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าข้าวหอมไทย มีคู่แข่งมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมจากประเทศเมียนมา กัมพูชา และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยได้รับรางวัลชนะเลิศเช่นเดียวกัน
ดังนั้น การประกวดล่าสุดตัวแทนประเทศไทยที่ส่งข้าวหอมเข้าประกวดจึงต้องมีการปรับปรุง พัฒนา และเตรียมความพร้อมมากขึ้น โดยมีการพัฒนาคุณภาพข้าว สร้างไซโลเพื่อเก็บรักษาคุณภาพข้าว ความหอม และคัดเลือกข้าวหอมมะลิคุณภาพดีจากแหล่งปลูกที่มีคุณภาพสูง เช่น ทุ่งกุลาร้องไห้ ทำให้ข้าวหอมมะลิไทยสามารถเอาชนะคู่แข่งและได้รับรางวัลชนะเลิศอีกครั้งหนึ่ง
ตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิ อันดับ 1 ของโลกมาตลอด แต่ในระยะ 5 ปี มานี้ ข้าวหอมมะลิไทยเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับข้าวหอมที่หลายประเทศส่งเข้ามาแข่งขัน ทำให้ข้าวหอมในตลาดโลกแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ ข้าวบาสมาติ (Basmati rice) ซึ่งมีประเทศอินเดีย และปากีสถาน เป็นผู้ผลิตหลัก เป็นที่นิยมบริโภคอย่างมากในตลาดแถบเอเชียใต้และตะวันออกกลาง ส่วนข้าวหอมอีกกลุ่มหนึ่งถูกเรียกว่า ข้าวหอมมะลิ (Jasmine rice) มีแหล่งสำคัญเพาะปลูกอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน โดยปัจจุบัน มีประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญคือ ไทย เวียดนาม และกัมพูชา
สถานการณ์ส่งออกข้าวหอมมะลิไทย เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 1.4 ล้านตัน โดยในปี 2559 (มกราคม–ตุลาคม) ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิปริมาณ 1.82 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่มีปริมาณส่งออก 1.57 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 16% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ และแคนาดา ซึ่งไทยยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดข้าวเป็นอันดับหนึ่งในหลายประเทศ
นอกจากข้าวหอมมะลิ ประเทศไทยยังได้ปรับปรุงมาตรฐานข้าวไทยใหม่ให้เหมาะสม สอดคล้องกับผู้บริโภคในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพและส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดส่งออก โดยแยกเป็นมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยและข้าวหอมทั่วไป ประกอบด้วย ข้าวหอมจังหวัดและข้าวหอมปทุม ซึ่งในปี 2559 (มกราคม–ตุลาคม) พบว่า สัดส่วนการส่งออกข้าวเจ้าอื่นมีสัดส่วนมากที่สุด คือ 42% รองลงมาเป็นข้าวเจ้าขาว 5% ข้าวหอมมะลิ ข้าวเจ้าขาว 100% และข้าวหอมปทุม
ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการพัฒนาคุณภาพข้าวหอม โดยได้มีการวิเคราะห์ วิจัย เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในช่วงปีงบประมาณ 2555-2557 กลุ่มศูนย์วิจัยข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองวิจัยและพัฒนาข้าว ได้ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพข้าวหอมมะลิ โดยสำรวจคุณภาพข้าวหอมมะลิในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบนในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่แหล่งเมล็ดพันธุ์ แหล่งเพาะปลูก แหล่งแปรสภาพหรือโรงสี จนถึงปลายทาง คือ ผู้ส่งออก พบว่า
ตัวอย่างทั้งหมด มีคุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของข้าวหอมมะลิไทย สรุปได้ว่า ข้าวหอมมะลิยังมีความหอม แต่หอมมากน้อยแตกต่างกันตามปริมาณสารหอม 2AP ซึ่งแตกต่างกันตามแหล่งผลิต พื้นที่ปลูก วิธีการจัดการ และสภาพแวดล้อม ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าว ได้มีการนำไปใช้ในโครงการพัฒนาต้นแบบการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ด้วยเทคโนโลยีการจัดการเพื่อเพิ่มคุณภาพความหอมตลอดห่วงโซ่การผลิต ที่ได้รับการสนับสนุนงบวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) นอกจากนี้ กองวิจัยและพัฒนาข้าว มีนโยบายในการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เพื่อสร้างความมั่นคงในระบบการผลิต (มิใช่การแข่งขันกับสินค้าข้าวหอมมะลิ)
ส่วนมาตรการระยะยาวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตข้าวไทยนั้น เห็นควรดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ด้านการตลาดข้าวในเรื่องแผนการพัฒนาข้าวที่ยั่งยืนและมีเสถียรภาพ การสร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว การส่งเสริมและผลักดันการใช้มาตรฐานการผลิตและการค้าให้ได้มาตรฐานสากล การพัฒนาศักยภาพระบบการค้าข้าวและการตลาด การสร้างค่านิยมการบริโภคข้าว การส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและการแปรรูปข้าว และการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน
source: dailynews.co.th/agriculture/547600