data-ad-format="autorelaxed">
นายวัชรพงศ์ วรรณวงศ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ และนายวรวุฒิ ดีพูล ผู้ช่วยนักวิชาการเกษตร ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ลงพื้นที่ติดตามงานในโครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวในชุมชน ชุมชนยกกระบัตร อ.สามเงา จ.ตาก เมื่อวันก่อน
การนี้ได้มีการชี้แจงเกี่ยวกับโครงการเป็นการเบื้องต้นให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ พร้อมกำหนดจุดวางชุดเครื่องปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะนำมาใช้ในระหว่างการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดตั้ง ธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนขึ้น เพื่อให้ชาวนาที่ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ได้กู้ยืมไปทำพันธุ์ เพื่อการเพาะปลูก แทนการไปหาซื้อจากภาคเอกชน ที่ราคาค่อนข้างสูง และเกษตรกรไม่สามารถกำหนดเองได้
แล้วชำระคืนภายหลังในรูปของข้าวหรือเงินสด หรืออาจนำข้าวเปลือกมาแลกเปลี่ยน ซึ่งแนวคิดนี้มีการดำเนินงานภายใต้การยึดหลักการ การมีส่วนร่วมของชาวนาในชุมชน มีการบริหารจัดการธนาคารข้าวโดยชุมชนเองที่รวมกลุ่มจากผู้สนใจมาเป็นสมาชิกก่อตั้งเป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนขึ้น
โดยมีกรมการข้าวให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี ในขั้นต้นเพื่อนำมาเพาะปลูกสำหรับผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ พร้อมการถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการเกี่ยวกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ และการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ตลอดจนกระบวนการผลิต รวมทั้งสนับสนุนปัจจัยการผลิตและอุปกรณ์ที่จำเป็นบางส่วนให้กับกลุ่มชาวนาด้วย
มีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนได้มีแหล่งเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีสำหรับเพาะปลูกเป็นของตนเองอย่างเพียงพอ และเพื่อให้มีการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีอย่างทั่วถึง ตลอดถึงการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาการเพาะปลูกข้าวคุณภาพของชุมชน อันเป็นขั้นต้นของการเพาะปลูกข้าวที่เอื้อต่อราคาที่เกษตรกรจะพึงขายได้ตามความเหมาะสม
และเป็นที่คาดการณ์กันว่าในปี 2562 ประเทศไทยจะมีพื้นที่ปลูกข้าวเฉลี่ยปีละ 73 ล้านไร่ แยกเป็นนาปี 60 ล้านไร่ และนาปรัง 13 ล้านไร่ เกษตรกรจะต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว ปีละ 1.1 ล้านตัน ในส่วนนี้เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ต้องซื้อจากตลาดที่เป็นภาคเอกชน 800,000 ตัน และเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ชาวนาเก็บไว้ใช้เอง 300,000 ตัน ขณะที่การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในปัจจุบันมีกำลังการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีจำหน่ายทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสิ้น 515,000 ตัน
source: dailynews.co.th/agriculture/539709