data-ad-format="autorelaxed">
พาณิชย์สั่งสอบไอ้โม่งทุบราคาข้าวส่งออก กระทบข้าวสาร-ข้าวเปลือกในประเทศร่วงระนาว เผยมี 3 ล็อตเสนอขายตํ่าแค่ 588-635 ดอลล์ต่อตัน ผู้ส่งออกยอมรับเป็นเรื่องจริง ด้านโรงสีเผย 2 ปี ร่วมโครงการเก็บสต๊อกข้าวขาดทุนยับ ร้องขอรัฐบาลช่วยดันยุ้งฉางเอื้ออาทรทั่วประเทศเก็บไว้ขายช่วงราคาสูง
ทันทีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ลุยตรวจสอบโรงสีข้าวบางรายเพื่อหาความเชื่อมโยงกลุ่มนักการเมืองทุบราคารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร และให้ตรวจสอบการเสียภาษีของโรงสีย้อนหลัง อีกด้านหนึ่งนักวิชาการออกมาระบุต้นเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำจนรัฐต้องออกมาตรการรับจำนำยุ้งฉางที่ 1.3 หมื่นบาท/ตัน มาจากผู้ส่งออกบางรายที่ขายตัดราคาข้าวในราคาต่ำเพื่อให้รับคำสั่งซื้อตามที่ “ฐานเศรษฐกิจ”ได้นำเสนอในฉบับที่ผ่านมานั้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์(พณ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ล่าสุดทางกระทรวงอยู่ระหว่างการตรวจสอบหาข้อมูลบริษัทที่กระทำการดังกล่าวว่าเป็นบริษัทใดบ้าง ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบมีการรับคำสั่งซื้อ(ออเดอร์)ราคาเอฟโอบี(ราคา ณ ท่าเรือต้นทาง)ในราคาต่ำ 3 ระดับ ได้แก่ 588 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน รวม 5 ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา,ระดับ 628 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันจำนวน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ และระดับราคา 635 ดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 1 ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ จากราคาข้าวหอมมะลิข้าวไทยในตลาดโลกเวลานี้เฉลี่ยที่ 725 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน
“ผลจากการโค้ดราคาดังกล่าวได้สร้างความสับสนขึ้นในตลาด โดยผู้ซื้อได้รอจังหวะในการรับคำสั่งซื้อ และยึดราคาดังกล่าวใช้การเจรจาต่อรองซื้อขายข้าวกับผู้ส่งออกไทย ส่งผลให้ราคาข้าวยังอยู่ในช่วงขาลงและกระทบกับราคาข้าวในประเทศ”แหล่งข่าวกล่าวและว่า
คาดว่าในวันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน2559 นี้นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เชิญผู้บริหาสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยหารือที่กระทรวง คาดเรื่องการตั้งราคาข้าวส่งออกในราคาต่ำของผู้ประกอบการจะเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่จะมีการหยิบยกขึ้นมาหารือ
วอนอย่ามองเป็นผู้ร้าย
นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวยอมรับว่า การเสนอข้าวของผู้ส่งออกในราคาต่ำมากเป็นเรื่องจริง เรื่องนี้แม้ผู้ส่งออกจะถูกมองว่าเป็นผู้ร้าย แต่อีกมุมหนึ่งการเสนอราคาต่ำจะส่งผลให้ราคาข้าวไทยมีความใกล้เคียงกับราคาของคู่แข่งขันเช่นเวียดนาม อินเดีย และทำให้ข้าวไทยขายง่ายขึ้น และจะได้รับคำสั่งซื้อมากขึ้น และจะมีผลต่อราคาข้าวในประเทศที่จะขยับขึ้นตาม
“อีกด้านหนึ่งผู้ส่งออกที่เสนอข้าวในราคาต่ำถือเป็นหน่วยกล้าตายและปิดทองหลังพระ เพราะการไปรับออเดอร์ล่วงหน้าซึ่งปกติจะส่งมอบภายใน 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน หากราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงในช่วงเรือมารับของเขาอาจจะเจ็บตัวคือขาดทุนได้ ทุกคนไปว่าเขาทำให้ราคาตก แต่ระยะต่อไปจะช่วยให้ราคาข้าวในประเทศมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น จากไทยจะได้ออเดอร์มากขึ้น”
ฮั้วขายราคาสูงยิ่งขายยาก
นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวย้ำว่า อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ถือเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งสมาคมฯ หรือรัฐบาลคงไม่สามารถไปกำหนดราคาส่งออกข้าวขั้นต่ำได้ และผู้ส่งออกก็ไม่สามารถจับมือกันฮั้วราคาขายได้ เพราะขัดกับหลักการการค้าเสรีขององค์การการค้าโลก(WTO) และหากฮั้วขายในราคาสูงก็จะขายไม่ได้ คู่แข่งจะเอาไปกินหมด และในข้อเท็จจริงผู้ส่งออกไม่วาจะเป็นรายใหญ่หรือรายเล็กก็อยากขายของเพื่อรักษาธุรกิจ ไม่มีใครยอมใคร ซึ่งเวลานี้ข้าวไทยในตลาดโลกก็ขายยากขึ้นหากไม่ขายราคาต่ำ เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว คู่ค้า/ผู้บริโภคขาดกำลังซื้อ ผลผลิตข้าวโลกก็มีมาก และมีการแข่งขันสูง ขณะที่สต๊อกข้าวของรัฐบาลไทยที่มีอยู่อีกประมาณ 8.4 ล้านตัน และผลผลิตข้าวใหม่ที่เริ่มทยอยออกมาก ก็เป็นตัวกดดัน คู้ค้าไม่จำเป็นต้องเร่งซื้อตุน แต่ซื้อเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ด้านสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยรายงานตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการของการส่งออกข้าวไทยช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ต.ค.)ส่งออกได้แล้วปริมาณรวม 7.61 ล้านตัน โดยในจำนนนี้เป็นข้าวหอมมะลิ 1.86 ล้านตัน ขณะที่ในปีนี้สมาคมฯตั้งเป้าส่งออกข้าวในภาพรวมที่ 9.5 ล้านตัน
หอมมะลิไม่หอมราคาร่วง
ด้านดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวหอมมะลิส่งออกของไทยราคาตก ที่สำคัญคือคุณภาพความหอมของข้าวสารหอมมะลิของไทยหายไป ทำให้ได้รับค่าพรีเมียมในการส่งออกลดลง เช่น เดือนตุลาคม 2558 ได้ราคาเฉลี่ยที่ 950 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน แต่ล่าสุดเดือนตุลาคม 2559 เหลือเฉลี่ยแค่ 725 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากลูกค้าไปซื้อข้าวหอมเวียดนามเพิ่มขึ้นเพราะราคาต่ำกว่า และความหอมไม่ต่างกัน ทางออกไทยต้องเร่งปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิโดยใช้พันธุ์แท้ในการปลูก รวมถึงจัดการระบบในการทำข้าวให้แห้งเพื่อลดการกดราคาซื้อของโรงสีตามค่าความชื้น และปลูกข้าวแบบอินทรีย์ที่เวลานี้ยังขายได้ราคาสูง
“การไปห้ามผู้ส่งออกขายราคาต่ำ คงทำไม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ทางหนึ่งที่รัฐบาลชะลอการขายข้าวโดยรับจำนำยุ้งฉางเพื่อชะลอการขาย ราคาไม่สูงกว่าตลาดถือว่าทำถูกต้องแล้ว”
เชื่อข้าวพุ่ง2หมื่นบาท/ตัน
นายวิชัย ศรีนวกุล ประธานกลุ่มโรงสีข้าวหอมมะลิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า จากที่รัฐบาลได้ออก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปี การผลิต 2559/60 ให้ชาวนาเก็บข้าวในยุ้งฉาง 2 ล้านตัน และโครงการชดเชยดอกเบี้ย 3 % ให้แก่ผู้ประกอบการข้าวค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ข้าวเปลือกเป้าหมาย 8 ล้านตัน ซึ่งจะมีผลให้ซัพพลายข้าวหายไปจากตลาด จะทำให้โอกาสข้างหน้าราคาข้าวในประเทศมีโอกาสจะปรับขึ้นได้
“ข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 มีโรงสีภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 300 โรงเข้าร่วมโครงการ มีศักยภาพการเก็บข้าวไม่ต่ำกว่า 8-9 ล้านตัน ถ้าโครงการนี้เก็บได้เต็มที่ เชื่อว่าราคาข้าวเปลือกไม่น่าต่ำกว่า 2 หมื่นบาทต่อตัน ทั้งนี้หากรัฐบาลต้องการที่จะเพิ่มอำนาจการต่อรองให้ชาวนา สามารถทำได้ง่าย เช่น ผลักดัน “โครงการสร้างยุ้งฉางเอื้ออาทร “ ให้ชาวนามีที่เก็บข้าวทุกครัวเรือน ทำให้ชาวนาไม่ต้องรีบขาย แต่อาจทยอยขายช่วงข้าวราคาดี
2 ปีจำนำยุ่งฉางขาดทุนยับ
ขณะที่นายพีระ เจียมอัมพร ผู้จัดการโรงสีข้าว บริษัท อุบลธัญญชาติ จำกัด กล่าวถึงโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการข้าวค้าข้าว 3% ในการเก็บสต๊อกข้าวที่ผ่านมาถือว่าไม่คุ้ม เพราะ 2 ปีโครงการจำนำยุ้งฉาง โรงสีขาดทุนหนัก บางโรงปิดกิจการไปก็มี บางรายข้าวเก่ายังค้างอยู่ในสต๊อกจำนำนวนมาก เพราะข้าวราคาตกขายไม่ออก ดังนั้นในปีนี้เชื่อว่าแต่ละโรงจะซื้อเก็บแต่คงไม่มีใครกล้าซื้อตุนมากนัก เพราะต้องระวังตัว
แบงก์หวิวโรงสีเบี้ยวหนี้ซํ้า
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่กล่าวว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีพบว่า ปัญหาผู้ส่งออกตัดราคาในตลาดโลกเป็นกลุ่มผู้ส่งออกที่มีฐานะ ซึ่งจะกดดันตั้งแต่รับซื้อข้าวจากโรงสีเมื่อโรงสีได้ออร์เดอร์มาก็ต้องกดราคาให้ใกล้เคียงกับผู้ส่งออก ขณะที่ผู้ส่งออกบางรายก็มีปัญหาเช่นผู้ส่งออกข้าวไปขายแอฟริกา 4-5 รายที่ไม่ได้รับชำระค่าข้าว ส่งผลให้เบี้ยวจ่ายเงินโรงสีอีก อย่างไรก็ตามในฐานะคนปล่อยสินเชื่อธนาคารยอมรับว่า ปัจจุบันทุกธนาคารเจอบทเรียนจากปัญหาโรงสีข้าวขาดสภาพคล่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลก่อน ซึ่งกลุ่มโรงสีได้มีการนำเงินกู้ไปขยายโกดังและซื้อโรงสีเพิ่ม รวมทั้งขยายธุรกิจสร้างโรงไฟฟ้าบ้างไม่ประสบความสำเร็จ จนกลายเป็นหนี้มีปัญหาซึ่งธนาคารได้ปรับโครงสร้างหนี้ไปแต่บางส่วนยังไม่ฟื้นตัวขณะบางแห่งธนาคารตัดขาดทุน
“สัญญาราคาตกตํ่าของข้าวนั้นส่วนหนึ่งมาจากโครงการรับจำนำข้าวซึ่งรัฐบาลควรจะใช้เป็นกลไกชั่วคราวแต่รัฐบาลเก่ากลับทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการรับประกันราคาสินเชื่อเกษตรยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ราคาพืชผลตกตํ่าลามถึงข้าวโพด มันสำปะหลังด้วย เพียงแต่เสียงเขาไม่ดังเท่ากลุ่มชาวนาที่มี 4-5 ล้านคนขณะที่โรงสีข้าวบางส่วนยังคงมีสต๊อกค้างอยู่ตอนหลังก็ไม่รับซื้อหรือบางแห่งรับซื้อข้าวไปแล้วขาดทุน
โบ้ยพาณิชย์คุยส.ธนาคาร
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวถึงแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาว่า กระบวนการต่อจากนี้ คือ กระทรวงพาณิชย์ จะต้องประสานไปยังสมาคมธนาคารไทยให้เตรียมสภาพคล่องสำหรับช่วยระบบโรงสีและผู้ส่งออกวงเงิน 8 หมื่นล้านบาท หลังจากทุกฝ่ายเห็นชอบไว้หมดแล้ว โดยมีการชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 3-4% สำหรับผู้ประกอบการโรงสีและผู้ส่งออกที่เข้าไปรับซื้อข้าวเป็นระยะเวลา 6 เดือน
“ปีนี้ได้มีการขยายเป้าหมายกลุ่มที่จะเข้ามาช่วยจากเดิมที่มีเพียงพี่น้องเกษตรกรรายคนที่มียุ้งฉางแล้ว จะมีสหกรณ์การเกษตรกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินธุรกิจในเรื่องของการรวบรวมแปรรูปข้าวจะเข้ามาร่วมช่วยเหลือในครั้งนี้ โดยน่าจะดึงปริมาณข้าวที่จะเข้าสู่ระบบได้ถึง 2 ล้านตัน สิ่งสำคัญคือ การที่กระทรวงพาณิชย์ระดมเครือข่ายที่เป็นโรงสีและผู้ส่งออกให้เข้ามาช่วยรับซื้อข้าวในตลาดน่าจะทำให้ราคาปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า”
ต่อข้อถามไปยังสมาคมธนาคารไทย แหล่งข่าวระบุว่ายังไม่รับเรื่องขอความช่วยเหลือจากกระทรวงพาณิชย์แต่อย่างใด แต่หากประสานเข้ามาคงจะมีการประชุมหารือภายในของสมาคม เพราะสว่ นตัวไม่สามารถตอบแทนธนาคารสมาคมได้