data-ad-format="autorelaxed">
โรคไหม้คอรวง
นายพงษ์ศักดิ์ เอมดวง เกษตรจังหวัดตราด ได้มอบหมายให้นางสาวลำยอง ครีบผา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด ร่วมกับนายสุวิทย์ ถาวรวงษ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายแปลงนาข้าวของเกษตรกร ต.ท่าพริก พบเสียหายจากโรคไหม้คอรวง เมื่อวันก่อน
ซึ่งจากผลการเกิดโรคดังกล่าวได้ส่งผลให้เมล็ดข้าวแห้ง เมล็ดลีบ ได้รับความเสียหายทั้งแปลง ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ ในเบื้องต้น ได้รับแจ้งจากเกษตรกรในพื้นที่จำนวน 19 ราย พบมีพื้นที่เสียหาย ประมาณ 222 ไร่
สำหรับโรคไหม้ข้าวเกิดจากเชื้อราสามารถเข้าทำลายข้าวในทุกส่วนของข้าวที่อยู่เหนือดินได้ตั้งแต่ระยะต้นกล้าถึงออกรวง โดยพบว่าเชื้อจะทำลายที่ใบและรวงมากที่สุด เมื่อเชื้อเข้าทำลายที่ใบจะทำให้ใบข้าวเป็นจุดช่ำน้ำ แผลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและเป็นรูปตา เมื่อเชื้อเข้าทำลายมากจะทำให้ใบไหม้คล้ายถูกน้ำร้อนลวก ต่อมาใบจะแห้งตายอย่างรวดเร็ว ภายหลังจากที่เชื้อเข้าทำลายและมีอาการใบจุดช่ำน้ำจะพบข้าวแห้งตายภายใน 3–5 วัน ซึ่งเรียกอาการนี้ว่าโรคใบไหม้
และเมื่อเชื้อเข้าทำลายข้าวในระยะออกรวง เชื้อจะเข้าทำลายที่คอรวงทำให้คอรวงแห้งตายเมล็ดข้าวจะลีบ เรียกว่าโรคไหม้คอรวง โรคไหม้ข้าวนี้พบว่ามีการระบาดทุกปีโดยพบว่าความเสียหายของผลผลิตข้าวที่เกิดจากโรคไหม้นี้ เฉลี่ยประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตข้าวโดยรวมของประเทศ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดรุนแรงนั้น เป็นผลมาจาก เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์ที่มีความอ่อนแอต่อโรคไหม้มาก และมีการตกกล้าหรือหว่านข้าว โดยใช้อัตราการหว่านที่สูงคือมากกว่า 15 กก.ต่อไร่ ทำให้ข้าวขึ้นหนาแน่นในแปลงกล้าหรือแปลงนาหว่าน มีการหว่านปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรียในอัตราที่สูง ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค คือช่วงที่มีเมฆปกคลุมเป็นระยะเวลายาวนานติดต่อกันหลายวัน หรือมีฝนตกปรอย ๆ เป็นประจำ ใบข้าวเปียกนานมากกว่า 10 ชม. ต่อวัน อุณหภูมิกลางคืนค่อนข้างเย็น คืออยู่ที่ประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวที่ไม่มีน้ำท่วมขัง ทำให้มีโอกาสเกิดน้ำค้างในช่วงกลางคืนเป็นระยะเวลายาวนาน
สำหรับแนวทางการแก้ไขคือในฤดูการเพาะปลูกถัดไปเกษตรกรจะต้องใช้พันธุ์ข้าวที่ต้านทานต่อโรคไหม้ เช่น กข 9 กข 11 กข 21 สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 และคลองหลวง 1 เป็นต้น และใช้เชื้อไตรโครเดอร์มาที่เจริญบนเมล็ดธัญพืช อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตรต่อเมล็ดข้าว 500 กิโลกรัมขยำเอาสปอร์ออก และคลุกเมล็ดข้าวนำไปแช่บ่มเตรียมปลูก
และไม่ควรหว่านข้าวหนาแน่นเกินไป เพราะจะทำให้อับลม เป็นตัวส่งเสริมให้เชื้อราแพร่กระจายและพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลง ซึ่งอาจมีผล
กระทบต่อผลผลิตบ้างแต่จะช่วยไม่ให้ข้าวอ่อนแอต่อโรค และเกิดโรคจนเสียหายทั้งแปลงปลูก ควรเพิ่มปริมาณซิลิก้าให้แก่ต้นข้าว เพื่อต้านทานต่อโรค โดยใช้ปุ๋ยหมักและแคลเซียม เป็นต้น
สรุปแล้วโรคนี้สามารถแก้ไขได้แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ที่เกษตรกรเองที่จะปฏิบัติต่อขั้นตอนการเพาะปลูกตามกระบวนการที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้นดังที่กล่าวมา
source: dailynews.co.th/agriculture/529864