data-ad-format="autorelaxed">
ราคาข้าวนาปี 59/60
ชาวนาผวา ราคาข้าวเปลือกนาปีเก็บเกี่ยวปลาย ต.ค.-ธ.ค.นี้ส่อร่วงหนัก หลังผลผลิตทุกภาคจ่อทะลักพร้อมกัน ขณะตลาดโลกแข่งเดือดลดราคาข้าวสารแย่งลูกค้า กดดันราคาข้าวไทยลดตํ่าสุดรอบ 2 ปี โรงสีเป่าปากติดสต๊อกข้าวเก่าอื้อรอระบาย ประเดิมซื้อข้าวต้นฤดูจากเกษตรกร ทั้งข้าวเก็บเกี่ยวหนีนํ้าท่วมความชื้นสูง-ข้าวแห้ง 6,700-8,000 บาท ชาวนาหวั่นข้าวเปลือกหอมมะลิออกปลายปีเหลือแค่ 9,000/ตัน
นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนา และเกษตรกรไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายให้กับโรงสีอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยข้าวเปลือกเจ้าเฉลี่ยที่ 6,300-6,500บาท/ตัน ขึ้นกับคุณภาพข้าว ความชื้นและความแห้งของข้าว ขณะข้าวที่เก็บเกี่ยวหนีน้ำท่วมช่วงนี้ที่มีความสดและความชื้นสูงเช่นความชื้น 28-30 % (ที่โรงสีต้องนำไปอบความชื้น) อาจขายได้เพียง 4,000-5,000 บาท/ตัน อย่างไรก็ดีทางสมาคมฯเป็นห่วงผลผลิตข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/2560 ของเกษตรกรที่ทยอยออกมามากตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมถึงธันวาคมราคาจะตกต่ำลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ทั้งนี้เป็นผลกระทบจาก 3 ปัจจัยหลักได้แก่ 1.ราคาข้าวไทยในตลาดโลกเวลานี้ได้ลดต่ำลงมาก จากตลาดเป็นของผู้ซื้อ และมีการแข่งขันด้านราคาสูง 2.กรณีที่ในปีที่ผ่านรัฐบาลได้มีมาตรการรับจำนำข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกร ผ่านทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.โดยในส่วนของข้าวเปลือกหอมมะลิจำนำในราคา 13,500 บาท/ตัน แต่ ณ วันนี้ตลาดเสนอซื้อเพียงตันละ 8,000-8,500 บาท ทำให้ ธ.ก.ส.ยังไม่กล้าเสี่ยงเปิดประมูลขายเพราะจะขาดทุนมาก ล่าสุดยังมีข้าวเปลือกในส่วนนี้ติดอยู่ในยุ่งฉางเกษตรกรมากกว่า 2 แสนตัน และ 3.จากที่โรงสียังมีสต๊อกข้าวเก่า(ทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร)ที่ซื้อมาเก็บเพื่อเก็งกำไร แต่เวลานี้ราคาข้าวในตลาดได้ลดลงต่อเนื่อง ทำให้ข้าวส่วนนี้ซึ่งยังไม่ทราบปริมาณที่แน่ชัดจึงยังไม่ถูกระบายออกมา ทั้ง 3 ปัจจัยจะเป็นตัวกดดันต่อราคาข้าวเปลือกในประเทศ
“ในปีนี้รัฐบาลมีเป้าหมายลดพื้นที่ทำนาจาก 60 ล้านไร่ให้เหลือ 52 ล้านไร่ แต่จากที่รัฐบาลมีโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินรายละ 10 ไร่ มีผลให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนเพื่อรับเงินดังกล่าวแล้วคิดเป็นพื้นที่มากกว่า 58 ล้านไร่ คาดจะผลผลิตข้าวเปลือกในปีนี้จะมีไม่ต่ำกว่า 27 ล้านตัน ดังนั้นราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรจะขายได้ในช่วงที่ข้าวนาปีออกมามากคาดราคาจะลดลง เพราะผลผลิตมีมาก ความต้องการของตลาดลดลง โดยข้าวเปลือกหอมมะลิราคาจะลดลงมาเหลือระดับต่ำกว่า 9,000 บาท/ตันจากปี 2558 เคยขายได้ 10,500-12,000 บาทต่อตัน”
สอดคล้องกับนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ เลขาธิกาสมาคมโรงสีข้าวไทย ที่กล่าวว่า จากที่ผู้ประกอบการโรงสียังมีข้าวเปลือกและข้าวสารค้างสต๊อกรอการขายอยู่จำนวนหนึ่ง จากผลกระทบราคาข้าวตกต่ำ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในราคาที่สูงขึ้นมากได้ นอกจากนี้จากตลาดส่งออกซบเซา การขายข้าวของโรงสีให้กับผู้ส่งออกก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ขณะที่ในปีนี้ผลผลิตข้าวเปลือกของเกษรกรจะออกมาชนกันระหว่างภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางช่วงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป น่าเป็นห่วงอาจทำให้ราคาข้าวที่เกษตรกรได้รับอาจไม่เป็นที่น่าพอใจนัก สรุปแล้วในปีนี้ทั้งเกษตรกร โรงสี และผู้ส่งออกได้รับผลกระทบทั่วกัน ซึ่งเป็นผลจากความต้องการของตลาดที่ลดลง
ด้านนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า จากที่ผลผลิตข้าวในหลายประเทศที่เป็นผู้นำเข้ารายสำคัญปรับตัวดีขึ้น เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปินส์ จีน ทำให้ในปลายปีนี้ผู้ส่งออกยังต้องลุ้นว่าจะมีคำสั่งซื้อหรือเปิดประมูลซื้อเข้ามาเมื่อใด รวมถึงตลาดแอฟริกาก็ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาไม่มาก ประเทศผู้ผลิตเช่นไทย เวียดนาม ปากีสถานจึงต้องลดราคาแข่งขันเพื่อแย่งลูกค้า เช่นข้าวขาว 5% ของปากีสถานส่งออกเวลานี้ขายที่ 315 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน(ราคาซีไอเอฟรวมค่าขนส่ง) ข้าวชนิดเดียวกันจากเวียดนามขายที่ 335-340 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน(ราคาเอฟโอบีไม่รวมค่าขนส่ง) ส่วนข้าวไทยขายที่ 350-355 ดอลลาร์สหรัฐฯ(เอฟโอบี)ถือเป็นราคาต่ำสุดรอบ 2 ปี
source: thansettakij.com/2016/10/11/104684