data-ad-format="autorelaxed">
แก้หนี้ชาวนา
ธ.ก.ส.เฉือนเนื้อออกมาตรการพักหนี้-ตัดหนี้สูญ 3.34 แสนล้าน อุ้ม 2.89 ล้านคน ยอมรับโครงการระยะ 5 ปี เสี่ยงฉุดรายได้ 3 หมื่นล้าน หลังครม.ไฟเขียว “ตัดหนี้สูญ-เพิ่มรายได้” ใจปํ้าแจกเงินเข้าบัญชีเกษตรกรรายได้น้อยรายละ 3,000 ใช้งบกว่า 6,540 ล้าน เหตุยังไม่พ้นวิกฤติหลังถูกเศรษฐกิจพ่นพิษ ซํ้าเจอภัยนํ้าท่วม ยันไม่กระทบฐานะทางการเงินของแบงก์
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) (27กันยายน2559) ได้มีมติเห็นชอบอนุมัติมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเพื่อเกษตรกรภายใต้ 2 พันธกิจหลักคือ 1.เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยซึ่งมีประมาณ 2.85 ล้านราย กลุ่มนี้จะเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนในการขอรับสวัสดิการจากภาครัฐ ที่เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม- 15 สิงหาคม 2559 รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่เป็นหนี้จากการทำการเกษตร ทั้งระบบมีประมาณ 2.9 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท โดยจะใช้รายชื่อเกษตรกรที่ลงทะเบียนกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เป็นหลัก ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบสิทธิ์ว่าเป็นเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยจริงหรือไม่ คาดว่าอาจต้องใช้เวลาในการสำรวจว่ามีความซ้ำซ้อนอีกระยะหนึ่ง อีกทั้งทางธนาคารจะเริ่มจ่ายเงินผ่านระบบอี-เพย์เมนต์ ถึงจะทำให้เกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือตรงตามข้อมูลที่แท้จริง
ด้านนายเวชสิทธิ์ วิริยะภาค รองผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบกับมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย โดยเน้นเกษตรกรที่มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทเป็นหลัก หากมีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อรายต่อปี จะได้รับเงินอุดหนุนช่วยเหลืออยู่ที่รายละ 3,000 บาท แต่หากเป็นเกษตรกรที่มีรายได้ตั้งแต่ 3 หมื่น-1 แสนบาทจะได้รับเงินอุดหนุนอยู่ที่รายละ 1,500 บาท โดยทั้ง 2 กลุ่มมีจำนวนเกษตรกรประมาณ 2.8 ล้านรายคาดว่าจะใช้งบประมาณช่วยเหลือ คิดเป็นวงเงิน 6,500 ล้านบาท โดยงบดังกล่าวจะได้รับการจัดสรรจากงบประมาณประจำปี 2560 (ดูตารางประกอบ)
คลอด 3 มาตรการเยียวยา
นอกจากนี้มาตรการในการช่วยเหลือตลอดจนเยียวยาเกษตรกรที่มีภาระหนี้ แบ่งออกเป็น 3 มาตรการ ที่จะนำมาดูแลลูกค้ารายย่อยคือ 1. หากเป็นเกษตรกรที่เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพหรือมีปัญหาสุขภาพทำให้ไม่สามารถประกอบหรือทำการเกษตรได้ กลุ่มนี้จะได้รับการปลดหนี้ แต่หากกรณีทายาทสามารถเข้าสู่กระบวนการปรับลดภาระหนี้ให้กับทายาท รวมถึงปรับโครงสร้างตลอดจนเข้าสู่กระบวนการพักหนี้สำหรับ 2 ปีแรก จะได้รับการพักชำระเงินต้น ลูกค้าสามารถจ่ายเฉพาะอัตราดอกเบี้ย ส่วนปีที่ 3-5 ธนาคารจะไม่คิดอัตราดอกเบี้ย
กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ จะเป็นการลดภาระหนี้กลุ่มนี้ ซึ่งจะเน้นกลุ่มเกษตรกรที่เข้าสู่วัยชราหรือมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สามารถติดต่อธนาคารเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ได้ โดยในช่วง 1-2 ปีแรกไม่ต้องชำระเงินต้น ส่วน ปีที่ 3-5 สามารถชำระเฉพาะดอกเบี้ย เมื่อครบปีที่ 5 ธนาคารจะทำการลดอัตราดอกเบี้ยให้ประมาณ 50-80% ของวงเงินดอกเบี้ยทั้งหมด นอกจากนี้ยังสามารถได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพภาคการเกษตรหรือความรู้ในการปรับปรุงภาคการเกษตรให้ดีขึ้น
ส่วนกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่ชำระดีมีคืน โดยไม่ประสบปัญหาในการชำระหนี้ หรือที่เรียกว่าเป็นกลุ่มลูกหนี้ชั้นดี สามารถเข้าโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 31 ตุลาคม 2560 หากชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา ธนาคารจะลดดอกเบี้ยให้ในอัตรา 30% ของดอกเบี้ยที่ชำระมาแล้วทั้งหมด กลุ่มนี้จะต้องมีภาระหนี้รวมกันไม่เกิน 3 แสนบาทต่อราย
พัก-ตัดหนี้สูญฉุดรายได้3-5หมื่นล้าน
ทั้งนี้หากแยกย่อยมูลหนี้จากทั้ง 3 กลุ่มลูกค้าของธนาคาร สรุปว่ากลุ่มที่หนึ่งที่มีความผิดปกติในชีวิตคือพิการติดชีวิตหรือทุพพลภาพ เป็นจำนวนเกษตรกรประมาณ 1.35 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้รวมกันประมาณ 1.55 หมื่นล้านบาท ส่วนกลุ่มที่ 2 ที่มีอายุมากมีประมาณ 5.4 หมื่นราย วงเงินมูลหนี้ประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท และกลุ่มที่ 3 ที่เป็นลูกค้าชั้นดีมีประมาณ 2.22 ล้านรายคิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 2.37 แสนล้านบาท ทั้งนี้มีแนวโน้มที่จะมีเกษตรกรที่ได้รับการตัดหนี้สูญประมาณ 4-5 หมื่นราย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาและประเมินข้อมูลอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี จากการประเมินโครงการความช่วยเหลือเกษตรกรทั้งระบบคาดว่าธนาคารจะสูญเสียรายได้จากการตัดหนี้สูญประมาณ 3-5 หมื่นล้านบาทเนื่องจากโครงการพักชำระหนี้ภายในระยะเวลา 5 ปีนั้น หากมีการชำระหนี้คืนครบตามกำหนดระยะเวลา จะทำให้ธ.ก.ส. มีรายได้ที่เกิดจากดอกเบี้ยประมาณ 3-5 หมื่นล้านบาท
ตั้งเอเอ็มซีฟื้นธนาคารอิสลาม
นอกจากนี้ครม.ได้เห็นชอบให้จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์หรือเอเอ็มซี ( สืบเนื่องจากที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2558 เห็นชอบให้ดำเนินการฟื้นฟูกิจการของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย) ซึ่งจะต้องมีการคัดแยกหนี้ดีและหนี้เสียออกจากธนาคารอิสลามฯ หลังจากนั้น ทางเอเอ็มซีจึงจะสามารถรับโอนหนี้เสียจากธนาคารอิสลามฯ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสากิจหรือ คนร. ได้เสนอแนวทางแก้ไขฟื้นฟูกิจการของธนาคาร
เบื้องต้นแนวทางคือเสนอให้มีการแยกหนี้เสีย (NPL) ออกจากหนี้ดี โดยธนาคารอิสลามฯจะมีหนี้เสียอยู่ที่ประมาณ 3,400 ล้านบาทเท่านั้น นอกจากนี้ที่ประชุมครม.มีมติให้ธนาคารอิสลามฯเพิ่มทุนอีกประมาณ 2,500 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการดำเนินกิจการของธนาคาร โดยภาพรวมปัจจุบันธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 4.5หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เดิมหนี้เสียที่เกิดขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่เป็นสินเชื่อทั่วไปซึ่งไม่ใช่มาจากสินเชื่อตามหลักศาสนาอิสลาม
ด้านแหล่งข่าวจาก สคร. เผยว่ากระบวนการขั้นตอนต่อไปหลังจากที่มีการอนุมัติให้มีการจัดตั้ง เอเอ็มซี รูปแบบของบริษัทแล้ว จะต้องมีการขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รวมถึงจะต้องมีการจดทะเบียนขึ้นเป็นบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อให้สามารถบริหารจัดการหนี้เสียที่มีการแยกออกมารวมถึงนำไปสู่กระบวนการฟื้นฟูธนาคารในขั้นตอนต่อไป
source: thansettakij.com/2016/09/29/101784