data-ad-format="autorelaxed">
ปลูกข้าวไร่ในสวนยางพารา
เมื่อวันก่อนพระครูปัญญาวัชราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดนาเมืองเพชร จังหวัดตรัง พร้อมด้วยนายสายัณห์ อินทรภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายสุพิท จิตรภักดี เกษตรจังหวัดตรัง และทีมงานเกษตรอำเภอ เกษตรตำบลและเกษตรกร ร่วมกันปลูกข้าวไร่พันธุ์ดอกพะยอม ในบริเวณวัดนาเมืองเพชร อ.สิเกา จ.ตรัง
เพื่อไว้เป็นพันธุ์ข้าวปลูกสำหรับเกษตรกร ที่ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันแปลงใหม่ เพื่อจะได้มีข้าวสำหรับไว้บริโภคก่อนยางพาราและปาล์มน้ำมันจะได้รับผลผลิต
ด้วยขณะนี้เกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์ม ในพื้นที่จังหวัดตรัง และจังหวัดใกล้เคียงได้แบ่งพื้นที่บางส่วนของระหว่างแถวปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันมาปลูกข้าวไร่ เพื่อเก็บเกี่ยวสำหรับบริโภคภายในครัวเรือน เป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ โดยทางศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวกระบี่ ได้สนับสนุนพันธุ์ข้าวซึ่งเป็นพันธุ์ที่สามารถปลูกเป็นข้าวไร่สำหรับในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ด้วยเป็นข้าวที่ต้องการน้ำน้อย ปลูกได้ทั้งที่ดอน และที่เนิน
ทั้งนี้ในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบดอน และเนินเขา เกษตรกรจึงนิยมใช้พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันและยางพารา ทำให้พื้นที่ ปลูกข้าวในภาคใต้ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด มา โดยเฉพาะข้าวไร่ที่เดิมในพื้นที่ภาคใต้ เกษตรกรปลูกประมาณ 38,370 ไร่ต่อปี ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ข้าวเพื่อการบริโภคจึงต้องนำเข้ามาจากภาคอื่นที่ราคาสูงเนื่องจากต้องบวกค่าขนส่ง
หลายฝ่ายจึงช่วยกันส่งเสริมให้เกษตรกรในภาคใต้ที่ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน หันมาปลูกข้าวไร่แซมช่วงก่อนต้นยางและปาล์มน้ำมันอายุไม่เกิน 3 ปี และจากภูมิปัญญาของชาวนาภาคใต้จะปลูกข้าวในรูปแบบข้าวไร่ด้วยวิธีแบบดั้งเดิม คือ นำเมล็ดพันธุ์ข้าวหยอดหลุมแทนการหว่าน ที่คนท้องถิ่นเรียกว่า น่ำข้าว ซึ่งกรรมวิธีนี้จะช่วยประหยัดเมล็ดพันธุ์ได้ดี และลดการสูญเสียจากการเข้ากัดกินของนก หนู กระรอก และกระแตได้
สำหรับการปลูกข้าวไร่นั้นปัจจุบันทั่วประเทศมีพื้นที่ปลูกเพื่อประโยชน์ทางการค้าและความมั่นคงทางอาหารอยู่ที่ประมาณ 668,486 ไร่ สำหรับภาคใต้ปัจจุบันเหลือเพียง 38,370 ไร่ และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการที่เกษตรกรหันไปปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน กาแฟ และสวนไม้ผล ส่งผลให้ข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคในพื้นที่
สำหรับพันธุ์ข้าวเจ้าดอกพะยอมที่นำมารณรงค์ให้มีการปลูกแบบข้าวไร่ในครั้งนี้เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ใช้ปลูกเป็นข้าวไร่ในภาคใต้ มีการรวบรวมพันธุ์โดยเจ้าหน้าที่กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางในระหว่างปี พ.ศ.2502-2521 ที่ผ่านมาและนำมาปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ในสถานีทดลองข้าวภาคใต้ เป็นพันธุ์ข้าวที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี เป็นข้าวไวต่อช่วงแสงอย่างอ่อน อายุประมาณ 145-150 วัน ลำต้นสีเขียวเจริญเติบโตเต็มที่สูงประมาณ 150 เซนติเมตร ใบยาว ค่อนข้างแคบ ชูรวงดี ผลผลิตเก็บเกี่ยวเฉลี่ยประมาณ 250 กิโลกรัมต่อไร่ ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 2 สัปดาห์ ข้าวเปลือกสีฟาง ก้นจุด น้ำหนัก 100 เมล็ด 2.58 กรัม ข้าวกล้องยาว 7.3 มิลลิเมตร รูปร่างยาวเรียว ลักษณะข้าวสุกนุ่มคุณภาพหุงต้มและรสชาติดี มีกลิ่นหอมต้านทานโรคไหม้โรคใบจุดสีน้ำตาลและโรคใบขีดสีน้ำตา ชูรวง คอยาว ซึ่งเหมาะสำหรับการเก็บเกี่ยวด้วยแกระ ที่เป็นวัสดุในการเก็บเกี่ยวข้าวของ ภาคใต้
ที่สำคัญเป็นพันธุ์ข้าวที่สามารถปลูกเป็นพืชแซมยางพาราและปาล์มได้ดี.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ จันทร์ที่ 5 กันยายน 2559