data-ad-format="autorelaxed">
การปลูกข้าว
การปลูกข้าว - "เคยเป็นหนี้ครึ่งล้านจากโครงการเลี้ยงโคขุนของรัฐบาล พยายามเกือบ 10 ปีปลดหนี้ไม่ได้ แต่พอหันมาเปลี่ยนแนวใหม่ พึ่งวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด ไม่รอความหวังจากธรรมชาติหันมาใช้ระบบน้ำบาดาลทำนาและการเกษตรปลอดภัยจากสารเคมีแบบหมุนเวียน เพียงแค่ปีเดียวก็ปลดหนี้และยังมีรายได้เพิ่มขึ้นให้กับครอบครัวและสมาชิกของกลุ่ม"
นี่คือสิ่งที่ บุญเที่ยง พลทองสถิตย์ วัย 58 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวฮางงอก ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น บอกเล่าให้ฟังกับสิ่งที่เขาทำและพิสูจน์มาด้วยตนเอง ทุกวันนี้เขารวมกลุ่มกับสมาชิกในหมู่บ้าน 35 ราย จากหมู่ 41 และ หมู่ 21 ต.บ้านเป็ด ปลูกข้าวแบบอินทรีย์ และตั้งชื่อโครงการของตัวเองว่า “1 รูมากกว่า 1 แสน” และส่วนตัวเขาเองปลูกข้าวในเนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน อยู่ที่ 369 หมู่ 4 บ้านโคกฟันโปง ต.บ้านเป็ด อ.เมืองขอนแก่น แม้เป็นพื้นที่ที่อยู่ในโซนที่กำลังถูกโอบล้อมด้วยโครงการอาคารพาณิชย์และบ้านจัดสรร
บุญเที่ยง ได้แบ่งพื้นที่เป็นบ้านพักอาศัย เป็นโรงนึ่ง โรงตากและโรงสีขนาดเล็ก รวมทั้งโกดังเก็บข้าว รวมพื้นที่ทั้งหมดนี้ประมาณ 1 ไร่ 2 งาน ที่เหลืออีก 10 ไร่เป็นพื้นที่เพาะปลูก โดยแบ่งเป็นแปลงๆ สำหรับปลูกข้าว เลี้ยงปลา ปลูกพืชอื่นๆ คละกันไป ไม่มีการออกแบบมากมายแต่เน้นให้ดูเป็นธรรมชาติ เห็นได้ชัดว่าเจ้าของ มีความตั้งใจที่จะทำให้ที่นาแห่งนี้เป็นที่นา สวนกระแสสังคมและเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นใหม่ในใจกลางเมืองได้เรียนรู้ว่า แค่มีที่ดินและมีใจรัก ไม่ว่าจะอยู่นอกหรือในเมืองก็ทำเกษตรได้
บุญเที่ยง เล่าให้ฟังอีกว่า ตลอดทั้งชีวิตของเขาคลุกคลีอยู่กับการทำนา การทำเกษตร ซึ่งทำตามแบบเดิมๆ พึ่งพาฝนธรรมชาติฝนตามฤดูกาล พึ่งการตลาดที่ต้องอาศัยพ่อค้าคนกลาง และแม้แต่โครงการจำนำ ประกันราคาก็ไม่ได้แก้ปัญหาให้ราคาข้าวและตลาดข้าวมีความแข็งแกร่งยั่งยืน ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้สิน และเพิ่มรายได้ให้ลืมตาอ้าปากได้
แม้จะด้อยเรื่องการศึกษาแต่ก็มุมานะจนได้รับเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาเทศบาล แต่นั่นก็ไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง เพราะสุดท้ายเข้ามุ่งสู่อาชีพเกษตรกรรม แม้ว่าจะผิดพลาดกับโครงการโคขุนของรัฐจนมีหนี้ติดตัวถึง 5 แสนบาท แต่ผืนนาที่สร้างเกษตรอินทรีย์ สร้างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเป็ด สร้างเครือข่ายข้าวอินทรีย์ร้อยแก่นสารสินธุ์ ทำผลิตภัณฑ์ข้าวสุขภาพป้อนตลาด ก็ช่วยพลิกฟื้นชีวิตของเขาขึ้นมาอีกครั้ง
"กระแสตอบรับข้าวปลอดภัยจากสารเคมีดีมาก ไม่จำเป็นต้องทำนาปลูกข้าวเพื่อส่งขายโรงสี มุ่งปลูกข้าวเพื่อสุขภาพ มีตลาดเฉพาะ ปัจจุบันทั้งคนไทยคนต่างชาติต่างก็ต้องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย" แต่กระนั้น ก็ใช่ว่าหนทางจะโรยรอด้วยกลีบกุหลาบ บุญเที่ยงบอกว่า การทำนาแบบพึ่งฝนฟ้าเอาแน่นอนไม่ได้ นั่นคือแรงผลักดันให้เขาศึกษาระบบน้ำและตัดสินใจลงทุนเจาะน้ำบาดาลสำหรับเพาะปลูกข้าวได้อย่างเต็มที่ ทั้งหอมนิล สังข์หยด ไรซ์เบอร์รี่ หอมมะลิ 105 โดยเฉพาะข้าวสังข์หยด สมาชิกเครือข่ายข้าวอินทรีย์นำไปปลูกเพื่อบริโภค จำหน่าย และนำมาแปรรูปเป็นข้าวฮางงอก และเครื่องดื่มธัญพืชสำเร็จรูป “แก่นทิพย์”
"ถ้ามัวแต่จะพึ่งการขายข้าวให้กับพ่อค้า ให้กับโรงสีหรือคอยหวังพึ่งกับโครงการข้าวต่างๆ ของรัฐบาล ไม่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เราอยู่ได้ไม่จำเป็นต้องร่ำรวย แต่ให้ทุกคนในสังคมได้อยู่ร่วมกันอย่างพอเพียงทางเลือกของชาวนาคือการทำนาปลูกข้าวอินทรีย์ ข้าวพันธุ์คุณค่าอาหารสูง นำมาผลิตข้าวฮางงอก และผลิตแปรรูปได้หลากหลาย ซึ่งอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพก็จะกว้างมากยิ่งขึ้น ทางกลุ่มเราจะต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดด้วย
"ตอนนี้พยายามที่จะสร้างเครือข่ายซึ่งกระจาย 4 จังหวัด คือกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ โดยมีกันอยู่จำนวน 40 กลุ่ม สมาชิกประมาณกว่า 2,000 คน และจะขยายเครือข่ายไปยังจังหวัดอื่นมากขึ้นให้เป็นเอกเทศ พึ่งพาตนเองได้ หลุดพ้นจากวงจรโครงการแก้ปัญหาของรัฐบาล โดยเฉพาะตอนนี้โครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ กลับทำให้เกษตรกรเป็นหนี้เป็นสิน ขณะที่นายทุนได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นชาวนาต้องไม่ทำนาอย่างเดียว ต้องทำตลาดด้วย เพราะเมื่อถึงวาระเปลี่ยนรัฐบาลโครงการข้าวก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอีก ตลาดข้าวก็จะปั่นป่วนไม่สิ้นสุด"
บุญเที่ยง ยังกล่าวย้ำอีกว่า ตั้งใจจะรักษาอาชีพชาวนาให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ตอนนี้กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงรอยต่ออาชีพชาวนากำลังจะหายไป จึงต้องการให้ที่นาของตนเป็นแปลงตัวอย่างให้ผู้ที่รักการเกษตร คนรุ่นใหม่ได้มาศึกษา นอกจากนี้ยังเลี้ยงปลาในแปลงข้าวไม่กี่เดือนก็จับขายได้ เมื่อพ้นฤดูทำนา หลังจากไถกลบฟางประมาณ 1 เดือนก็เข้าสู่การปลูกผัก เพาะเห็ดฟาง ตามรั้วต่างๆมีพืชผักมานำมาขายสดและแปรรูป ขายได้หมด ทั้ง ดอกอัญชัญ ฟักข้าว พริก กล้วย มะละกอ รวมทั้งไข่มดแดง ทุกตารางนิ้วของพื้นที่ ที่มีอยู่สามารถสร้างประโยชน์ สร้างรายได้ ที่สำคัญภูมิใจในอาชีพชาวนาได้ปลูกข้าวที่ดีมีคุณภาพปลอดภัยจากสารเคมีให้คนกิน และสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเราคือ เราพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องสนใจว่ารัฐบาลไหนจะประกันราคาข้าว จำนำข้าว เพราะข้าวของเรา ปลูกเอง แปรรูปเอง และขายเอง
นี่คืออีกหนึ่งความสำเร็จของเกษตรกรที่สร้างความสามัคคีกันในชุมชนรวมกลุ่มกันสร้างรายได้จากผลผลิตของตนเอง เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าประชาชนก็พึ่งตนเองได้โดยไม่แบมือขอจากรัฐบาล
ข้อมูลจาก จิติมา จันพรมรายงาน เว็บไซต์ komchadluek.net
ปุ๋ยน้ำ FK-1 ฉีดพ่นเร่งโต แตกกอ
ปุ๋ยน้ำ FK-3R โปแตสเซียมสูง สร้างน้ำนม เมล็ดเต็ม ข้าวน้ำหนักดี