data-ad-format="autorelaxed">
ปีนี้หนักหนาสาหัสมากสำหรับชาวนานะคะ นอกจากปัญหาไม่มีน้ำทำนาในภาคกลางและขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่แล้ว ยังต้องเผชิญกับโรคระบาดที่เกิดขึ้นอีกและ
ในช่วงนี้เกษตรกรที่ปลูกข้าวระวังโรคไหม้ข้าวระบาดสาเหตุเกิดจากเชื้อราเนื่องจากในบางพื้นที่อากาศเริ่มหนาวและมีหมอกในตอนเช้า มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงเหมาะกับการระบาดของโรค ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่ ใช้พันธุ์อ่อนแอต่อโรคและใช้จำนวนเมล็ดพันธุ์เยอะเกินไป.... ซึ่งสภาพดังกล่าวเหมาะสมต่อการเกิดโรคไหม้ในทุกระยะของข้าวค่ะ
ระยะออกรวง(โรคเน่าคอรวง) ถ้าข้าวเพิ่งจะเริ่มให้รวง เมื่อถูกเชื้อราเข้าทำลาย เมล็ดจะลีบหมด แต่ถ้าเป็นโรคตอนรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยว จะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลที่บริเวณคอรวง ทำให้เปราะหักง่าย รวงข้าวร่วงหล่นเสียหายมาก
การแพร่ระบาดพบโรคในแปลงที่ต้นข้าวหนาแน่น ทำให้อับลม ถ้าให้ปุ๋ยในสภาพแห้งในตอนกลางวันและชื้นจัดในตอนกลางคืน น้ำค้างยาวนานถึงตอนสายราว 9 โมง ถ้าอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิประมาณ 22-25 องศา ลมแรงจะช่วยให้โรคแพร่กระจายได้ดี
การป้องกันและกำจัดโรค
1. สำรวจแปลงนา อย่างสม่ำเสมอถ้าพบอาการของโรคไหม้ข้าวควรให้ปฏิบัติดังนี้1 . ใช้เชื้อบีเอส (บาซิลลัส ซับทีลิส ) ฉีดพ่นอัตราตามคำแนะนำในฉลา2 . ใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาอัตรา 1 กก./ น้ำ 200 ลิตรฉีดพ่น/ หรือใช้สารอินทรีย์ยับยังเชื้อราในนาข้าว IS-Rice ในอัตรา 200CC ต่อน้ำ 100 ลิตรฉีดพ่นให้ทั่วแปลง
2 .ถ้ามีความจำเป็นให้ใช้สารเคมีฉีดพ่นเฉพาะจุดที่พบการระบาดเพื่อควบคุมไม่ให้เชื้อราแพร่กระจายขยายเป็นวงกว้างควรพ่นในแปลงข้าวที่มีประวัติว่าเคยมีโรคระบาดมาก่อน การใช้สารเคมีฉีดพ่นซ้ำกันหลายครั้ง เชื้อราจะต้านทานสารเคมีหรือดื้อยา ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อต้านทานสารเคมี จึงควรเลือกใช้สารเคมีบางชนิดฉีดพ่นสลับกัน ทั้งนี้ในการใช้สารเคมีควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึง ความปลอดภัยต่อตัวผู้ใช้และสภาพแวดล้อม
การป้องกันในฤดูถัดไป
1.ใช้พันธุ์ต้านทานต่อโรคไหม้ ภาคกลางเช่น สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2 สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 ชัยนาท 1 ปราจีนบุรี 1 พลายงาม คลองหลวง 1 พิษณุโลก 1
ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเช่น สุรินทร์ 1 เหนียวอุบล 2 เหนียวแพร่ สันปาตอง 1 หางยี 71 กู้เมืองหลวง ขาวโปร่งไคร้ น้ำรู
ภาคใต้ เช่น ดอกพะยอม เป็นต้น
ข้อควรระวัง : ข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 60 และชัยนาท 1 ที่ปลูกในภาคเหนือตอนล่าง พบว่า แสดงอาการรุนแรงในบางพื้นที่ และบางปี โดยเฉพาะเมื่อสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย เช่น ฝนพรำ หรือหมอก น้ำค้างจัด อากาศเย็น ใส่ปุ๋ยมากเกินความจำเป็น หรือเป็นดินหลังน้ำท่วม
2. ไม่ควรหว่านข้าวหนาแน่นเกินไป เพราะจะทำให้อับลม เป็นตัวส่งเสริมให้เชื้อราแพร่กระจายและพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ควรใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราที่เหมาะสม คือ 15-20 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น
3. ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลง เช่นงดใช้ยูเรีย46-0-0 , 30-0-0 วิธีนี้อาจมีผลกระทบต่อผลผลิตบ้างแต่จะช่วยไม่ให้ข้าว อ่อนแอต่อโรคค่ะ
4.เพิ่มปริมาณซิลิก้าให้แก่ต้นข้าว เพื่อต้านทานต่อโรค และแคลเซี่ยมและแมกนีเซียมให้แก่ดินก่อนหว่านข้าวในรอบถัดไป
5.นอกจากการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีการต่างๆแล้ว อาจใช้สารอินทรีย์ยับยั้งเชื้อราในนาข้าว เช่น IS-Rice คลุกเมล็ดก่อนปลูก หรือแช่เมล็ดก่อนปลูกนะคะ เพื่อลดปัญหาเชื้อราติดมาพันธุ์ข้าวได้
หมายเหตุ
มีพันธุ์ข้าวใหม่ พันธุ์ “ธัญสิริน” พันธุ์ข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ นามพระราชทานเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 53 เพื่อทดแทนพันธุ์ กข6 ที่อ่อนแอต่อโรคใหม้ ลักษณะเด่นของสายพันธุ์นี้คือ ลำต้นแข็งแรงทนการหักและล้ม ให้ผลผลิตอยู่ที่ 800 กิโลกรัมต่อไร่ ลดเปอร์เซ็นต์ข้าวหัก โดยพื้นที่ปลูกที่เป็นออร์แกนิกส์ สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่
การสังเกตุพันธุ์ข้าวจากตัวอักษรและตัวเลข กข. ย่อมาจาก "กรมการข้าว" เลขคู่เป็นข้าวเหนียว เลขคี่เป็นข้าวจ้าว และผลผลิตเฉลี่ยประเทศไทย นาปี 325 กก.ต่อไร่ นาปรัง 666 กก.ต่อไร่ ค่ะ
เขียนและเรียบเรียงโดย
ปริม-ฟาร์มเกษตร
อ้างอิงข้อมูลด้านวิชาการจาก สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว และ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ค่ะ