จับตาข้าวหอมพันธุ์ใหม่เวียดนาม อีก 8 ปี ตั้งเป้าล้มข้าวหอมมะลิไทย
แม้การประกวดข้าวที่นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เมื่อ 4 ปีก่อน ที่มีการนำตัวอย่างข้าวทั่วโลกกว่า 30 สายพันธุ์มาจัดอันดับ โดยพิจารณาจากรสชาติ สี และคุณภาพ ในงานการประชุมข้าวโลกโดยองค์กรไรซ์ เทรดเดอร์ ข้าวหอมมะลิของไทยสูญเสียตำแหน่งแชมป์ข้าวรสชาติดีที่สุดในโลกให้แก่ข้าว เพียร์ล ปาว ซาน (Pearl Paw San) ของพม่า ที่คว้ารางวัลข้าวรสชาติดีที่สุดไปครองเนื่องจากไม่มีการใส่ส่วนผสมอื่นใดก็ตาม แต่ นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ์ อธิบดีกรมการข้าว ยืนยันว่าข้าวไทยยังเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก แต่ก็น่าจับตามองประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ที่แอบซุ่มวิจัยข้าวหอมมาแข่งกับประเทศไทยโดยตรง และประกาศจะล้มข้าวหอมมะลิของไห้ได้ในเร็วๆ นี้
"ผมเพิ่งเดินทางไปประเทศเวียดนามเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ทราบว่าขณะนี้ประเทศเวียดนามกำลังวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมคล้ายข้าวหอมมะลิไทย และมีแปลงทดลองในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศ ที่สำคัญเวียดนามประกาศอย่างชัดเจนว่าเขาจะล้มข้าวหอมมะลิของไทยภายใน 8 ปีข้างหน้า หรือในปี 2020 (2562) ตรงนี้เราไม่ควรประมาท เพราะภาคการเกษตรโดยเฉพาะการปลูกข้าวของเวียดนามกำลังมาแรง" นายชัยฤทธิ์ กล่าวในรายการ "เกษตรทำกินกับคม ชัด ลึก" ทางช่องระวังภัยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
สำหรับข้าวหอมของเวียดนามนั้น เมื่อปี 2550 หนังสือพิมพ์เวียดนามอีโคโนมิคไทมส์ ลงตีพิมพ์ว่า โดยอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามว่า นักวิทยาศาสตร์ของกระทรวงเกษตรเวียดนาม กำลังซุ่มวิจัยและทดลองข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ หลายสายพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2548 รวมทั้งมีการทดลองปลูกข้าวหอม 6 สายพันธุ์ ซึ่งเตรียมส่งเสริมให้ชาวนาปลูกในพื้นที่ 7 จังหวัด บริเวณที่ราบปากแม่น้ำโขง หรือเขตแม่โขงเดลต้า ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ นอกจากนี้เวียดนามสามารถปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ไฮบริด หรือลูกผสมได้ไร่ละถึง 2,000 กิโลกรัม ซึ่งนับเป็นก้าวครั้งสำคัญของผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก
นายชัยฤทธิ์ ระบุว่า แม้จะมีการอ้างว่าข้าวหอมมะลิของไทยสูญเสียตำแหน่งแชมป์ข้าวรสชาติดีที่สุดในโลกให้แก่ข้าว Pearl Paw San ของพม่า ก็ตาม แต่เขายืนยันว่าข้าวไทยยังเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก เขาจะไม่ยอมให้เสียแชมป์ทั้งที่ข้าวที่มีรสชาติดีที่สุด การการส่งออกมากที่สุดในโลก ขณะนี้กรมการข้าวได้กำหนดยุทธศาสตร์การวิจัยข้าว พ.ศ.2555-2559 เน้น 3 ด้าน คือ ยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาข้าว ยุทธศาสตร์การผลิตและการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และยุทธศาสตร์การต่างประเทศของกรมการข้าว เพื่อเป็นการรองรับการรวมประเทศในกรอบของประชาคมเศษรฐกิจอาเซียน หรือเออีซี เพราะถึงเวลานั้นประเทศผู้ผลิตต้องการแข่งขันที่สูงขึ้นแน่นอน
"ตอนนี้กรมข้าวเรามีนักวิจัยรุ่นใหม่ถึง 164 คน พร้อมที่จะเดินหน้างานวิจัยเพื่อพัฒนาข้าวของไทย ผมยืนยันได้ว่าเราได้เปรียบประเทศอื่นทั่วโลก ตอนนี้คู่แข่งของเราในอาเซียนมีประเทศเวียดนามกับประเทศพม่า หากระดับโลกมีจีนกับอินเดียเพิ่มขึ้น แต่เรายังได้เปรียบประเทศเหล่านี้หลายเท่า เพราะเรามีข้าวที่เก็บไว้ในศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีกว่า 2 หมื่นสายพันธุ์ ในจำนวนนี้เป็นข้าวพื้นเมืองกว่า 1.7 หมื่นสายพันธุ์ และที่กรมวิชาการเกษตรประกาศรับรองสายพันธุ์ข้าวแล้ว 120 สายพันธุ์เป็นข้าวพื้นเมือง 57 สายพันธุ์ และข้าวลูกผสมอีก 63 สายพันธุ์ถือว่ามากพอที่จะให้เกษตรกรเลือกนำไปปลูกในพื้นที่เหมาะสม อนาคตเราจะนำสายพันธุ์ใดก็ได้มาต่อยอด หรือทำเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เพื่อพัฒนาข้าวไทยให้ผลผลิตอย่างน้อยไร่ละ 800 กก." อธิบดีกรมการข้าวกล่าว
กระนั้นการที่จะทำให้ข้าวไทยต้องเป็นหนึ่งของโลก จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย โดยเฉพาะชาวนาต้องมุ่นเน้นในการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ ข้าวที่ผ่านมาตรฐานจีเอพี (GAP) หรือข้าวอินทรีย์ เน้นในเรื่องสุขภาพผู้บริโภค และให้ข้าวเป็นยา เป็นต้น นอกจากนั้นหาแนวทางลดต้นทุน โดยเฉพาะสารเคมีและปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตถึง 35% เพื่อจะได้แข่งในตลาดโลกได้ ซึ่งทราบกันดีว่าปัจจุบันประเทศคู่แข่งในการผลิตข้าวอย่างเวียดนามมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า
สอดคล้องกับ ดร.เอนก ศิลปพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร (ซีพีเอส) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการงานวิจัยและพัฒเมล็ดพันธุ์ข้าวของซีพีเอส ก็มั่นใจว่าการที่เวียดนามวิจัยพันธุ์ข้าวหอมเพื่อแข่งกับข้าวหอมมะลิไทย คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะข้าวหอมมะลิที่จะให้คุณภาพดีต้องมีสภาพภูมิอากาศลักษณะคล้ายกับภาคอีสานของไทยโดยเฉพาะพื้นที่เขตทุ่งกุลาร้องไห้ ที่มีสภาพกลางคืนเย็นแต่จะร้อนในเวลากลางวัน
สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับข้าวเวียดนามคือให้ผลผลิตที่จะเหนือกว่าของไทย เนื่องจากระบบชลประทานค่อนข้างจะสมบูรณ์ โดยเฉพาะในเขตแม่โคขงเดลต้า จุดนี้มีแนวโน้มสูงที่เวียดนามจะกลายเป็นประเทศที่ส่งข้าวออกมากที่สุดในโลกแทนไทยได้เพราะข้าวเวียดนามให้ผลผลิตที่ไร่ละ 875 กก. แต่ผลผลิตเฉลี่ยของข้าวไทยอยู่ที่ไร่ละ 461 กก.ขณะที่จีนอยู่ที่ไร่ละ 1,054 กก.ไร่ และอินโดเนีเซียไร่ละ 774 กก.นอกจากนี้เวียดนามมีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมมาจากจีนที่ให้ผลผลิตสูงด้วย ตรงนี้จะทำให้ไทยเสียเปรียบได้
"การแก้ปัญหาของไทยคือต้องมีการวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง ทนต่อโรค เปลี่ยนวิธีการทำนาจากนาหว่านมาเป็นนาดำ อย่างของซีพี ตอนนี้มีการพัฒนาเมล็ดที่ได้รับการรับรองจากกรมข้าวแล้วคือ ซีพี 304 เป็นพันธุ์ข้าวลูกผสมให้ผลผลิตดี ซึ่งจากการนำไปปลูกในพื้นที่ อ.บางเลน ได้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ไร่ละ 1,200-1,400 กก. แต่ต้องปลูกในพื้นที่เขตชลประทาน อีกสายพันธุ์เป็นพันธุ์พื้นที่เมือง ซึ่งเกษตรกรนำไปปลูกสามารถเก็บเมล็ดเองได้คือ ซีพี 111 ให้ผลผลิตไร่ 1,000-1,200 กก. " ดร.เอนก กล่าว
ก่อนหน้านี้ ดร.เอนก เขียนบทความลงในซีพี อี-นิวส์ (CP e-NEWS) ว่าในปีนี้ 2012 เวียดนามที่ตัวเลขการส่งออกข้าวพุ่งสูงถึง 7 ล้านตันต่อปี แม้แต่อินเดียก็ก้าวขึ้นมาเบียดเวียดนาม ทำสถิติส่งออกข้าว 7 ล้านตันต่อปีเช่นกัน ขณะที่ไทยการส่งออกลดลงเหลือ 6.5 ล้านตันต่อปี โดยลดลงจากปีที่ผ่านมาถึง 39%
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะได้เปรียบทั้งความหลากหลายของสายพันธุ์ และสภาพภูมิประเทศที่เหมาะกับการทำนา แต่เมื่อคู่แข่งประกาศศักดาพร้อมที่จะล้มแชมป์ข้าวไทยให้ได้ ก็ไม่ควรประมาทเป็นอย่างยิ่ง
ข้อมูลจาก
- รายงานเกษตร : โดย ... ดลมนัส กาเจ
- komchadluek.net
รูปภาพจาก
- thaipbs.or.th
- postjung.com