‘ข้าวเหนียว’ เป็นสินค้าวัฒนธรรมตัวหนึ่งที่มีผลต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวของไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน โดยมีการเพาะปลูกข้าวเหนียวในฤดูนาปี 1.67 ล้านไร่ และฤดูนาปรัง 6.9 แสนไร่ ได้ผลผลิตข้าวเหนียวนาปี ประมาณ 5.8 ล้านตัน และข้าวเหนียวนาปรัง 4.4 แสนตัน ซึ่งผลผลิตข้าวเหนียว 95 % ใช้เพื่อบริโภคภายในประเทศ ขณะที่มีการส่งออกเพียง 5 % อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีข้อกังวลและเป็นห่วงว่าข้าวเหนียวจะมีปัญหาด้านการกลายพันธุ์หรือล้นตลาดเช่นเดียวกับข้าวไรซ์เบอร์รี่ จึงได้เร่งดำเนินการปฏิรูประบบการผลิตและการค้าข้าวเหนียวไทย เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา พร้อมยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้มีเสถียรภาพด้วย
นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ราคาข้าวเหนียวขึ้นอยู่กับปริมาณการส่งออกข้าวเหนียวไปต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งชาวนาไม่สามารถกำหนดราคาได้ เนื่องจากข้าวเหนียวมีราคาผันผวนสูงมาก โดยราคาจะต่ำลงช่วงที่ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเพราะอุปทานมากกว่าอุปสงค์ หลังช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตราคาจะขยับตัวสูงขึ้น แต่ชาวนาไม่ได้รับประโยชน์ กำไรจะตกอยู่ในมือพ่อค้าคนกลางที่เก็บสต็อกข้าว หากปีใดส่งออกมาก ราคาข้าวเหนียวปีนั้นจะสูงขึ้น ถ้าเทียบต้นทุน-ผลผลิตนาธรรมชาติ-นาเคมี ราคาข้าวเหนียวที่เหมาะสมและเป็นธรรมจะอยู่ที่ 13,000 บาท/ไร่
สำหรับต้นทุนการผลิตข้าวเหนียวของไทยถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง โดยต้นทุนของเกษตรกรในพื้นที่ชลประทานอยู่ที่ 5,698 บาท/ไร่ และนาน้ำฝนมีต้นทุน 4,591 บาท/ไร่ ขณะเดียวกันกระบวนการผลิตข้าวเหนียวของไทยยังประสบปัญหาด้านประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาองค์ความรู้ของชาวนา การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการตลาด ส่งผลให้ชาวนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อยมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงจำเป็นต้องเร่งปฏิรูประบบการผลิตและการค้าข้าวเหนียว เพื่อสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
ที่ผ่านมา ไทยมีการส่งเสริมการค้าข้าวเหนียวกับประเทศคู่ค้าในเอเชีย โดยได้เจรจากับจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ให้รับซื้อข้าวเหนียวไทยเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องทุกเดือน ใช้หลักการเหมือนกับระบบการค้าและส่งออกน้ำตาล นอกจากนี้ ยังมีแผนกระชับความสัมพันธ์กับประเทศผู้นำเข้าข้าวเหนียวให้แนบแน่นยิ่งขึ้น พร้อมส่งเสริมประชาสัมพันธ์ข้าวสารเหนียวและข้าวกล้องเหนียวไปกับการโรดโชว์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการปฏิรูประบบการผลิตและการค้าข้าวเหนียวได้มอบหมายให้กรมการข้าวเป็นเจ้าภาพหลักเร่งขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการผลิตและการค้าข้าวเหนียว โดยขณะนี้ได้เปิดรับสมัครและคัดเลือกชาวนาหัวไวใจสู้ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ อำเภอสันป่าตอง และอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า และอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย อำเภอบ้านผือ และอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี อำเภอบ้านไผ่ และอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เข้าร่วมโครงการฯอำเภอละ 40 คน
จากนั้นจะจัดฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตข้าวเหนียว เพื่อพัฒนาศักยภาพชาวนา มีการสร้างแปลงนาสาธิตหรือแปลงนาต้นแบบใน 4 จังหวัดนำร่อง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชาวนาในพื้นที่หรือจังหวัดใกล้เคียง และผู้ที่สนใจ เน้นส่งเสริมการทำนาธรรมชาติ ประกอบด้วย หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักกสิกรรมธรรมชาติ และหลักการพึ่งพาตนเองโดยการเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวหนียวพันธุ์ดีไว้ใช้เอง พร้อมเลิกใช้สารเคมี และทำนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น และได้ผลผลิตข้าวเหนียวที่มีคุณภาพและปลอดภัยจากสารพิษ
ขณะเดียวกันยังมีแผนส่งเสริมการค้าขายที่เป็นธรรม โดยเชื่อมโยงตลาดระหว่างชาวนากับสหกรณ์การเกษตร สมาคมโรงสีข้าวไทย ผู้ประกอบการเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขยายช่องทางตลาดรองรับผลผลิตซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น และเตรียมความพร้อมเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่สมาร์ท ฟาร์เมอร์ (Smart Farmer) ผู้ผลิตข้าวเหนียวด้วย
รมช.เกษตรและสหกรณ์กล่าวอีกว่า เบื้องต้นได้ตั้งเป้าคัดกรอง Smart Farmer ผู้ผลิตข้าวเหนียวไม่ต่ำกว่าอำเภอละ 4 คน ทั้งยังคาดว่าจะส่งเสริมการปรับเปลี่ยนจากการทำนาข้าวเหนียวที่ใช้สารเคมีเป็นการทำนาธรรมชาติได้กว่า 25 % ของพื้นที่ปลูกในระยะ 3 ปี โดยฤดูนาปี 2558/59 มีพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ 4 จังหวัด ฤดูนาปรังปี 2558/59 ดำเนินการในพื้นที่ 14 จังหวัด ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวนาปรัง 10,000 ไร่ขึ้นไป และปี 2559/60-2560/61 จะดำเนินการครอบคลุมทุกจังหวัดที่ปลูกข้าวเหนียว เป้าหมายไม่น้อยกว่า 25 % ของพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวทั้งหมด และคาดว่า ชาวนาจะสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวคุณภาพใช้เองได้ตรงตามพันธุ์และไร้พันธุ์ปน
“อนาคตคาดว่า เกษตรกรจะได้รับการพัฒนาเป็นชาวนาธรรมชาติตามศาสตร์พระราชา เดินตามบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง มีชีวิตที่มั่งคั่งและยั่งยืน ตลอดจนสามารถสืบทอดอาชีพชาวนาธรรมชาติให้ลูกหลานต่อไปได้ อีกทั้งยังคาดว่า จะช่วยป้องกันปัญหาผลผลิตข้าวเหนียวล้นตลาด ราคารับซื้อข้าวเปลือกธรรมชาติจะเป็นราคาที่ดี มีเสถียรภาพในราคาที่เป็นธรรม และผู้บริโภคข้าวเหนียวได้บริโภคข้าวเหนียวธรรมชาติที่อร่อย มีคุณค่า และมีความปลอดภัยไร้สารพิษปนเปื้อน ขณะที่ระบบนิเวศในนาข้าวก็ได้รับการฟื้นฟูและมีสภาพแวดล้อมที่ดี และมีความหลากหลายทางชีวภาพด้วย” นายอำนวยกล่าว
ข้อมูลจาก naewna.com