“ข้าวหอมมะลิ” ถือเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ทำรายได้ให้ชาวนาปีละ 105,400 ล้านบาท แต่ปัจจุบันข้าวหอมมะลิที่ผลิตได้มีคุณภาพลดน้อยลง และต้องมีการแข่งขันการส่งออกกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างกัมพูชา และเวียดนาม และแนวโน้มของไทยอาจจะต้องประสบอุปสรรคด้านการส่งออก รวมทั้งราคาจะลดลง อันเนื่องมาจากการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งหมดก็จะกระทบชาวนาที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนบน ที่อาศัยการผลิตข้าวหอมมะลิได้เพียงฤดูเดียวเท่านั้น
เพื่อให้การผลิตข้าวหอมที่มีคุณภาพ และรักษาตลาดต่างประเทศ รวมทั้งคงเอกลักษณ์ของข้าวหอมไทยในตลาดคุณภาพและมีราคาที่สูงขึ้นแบบยั่งยืน จำเป็นต้องมีการพัฒนาการผลิตข้ามหอมมะลิตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้แก่การพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิ การใช้เทคโนโลยีการผลิต การเก็บเกี่ยว การสี การปรับปรุงคุณภาพ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ รวมทั้งระบบการขนส่ง
ฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงได้แต่งตั้งคณะทำงาน โครงการพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสู่ตลาดแบบยั่งยืน โดยมี พล.อ.อ.วิโรจน์ นิสยันต์ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยบูรณาการงานเพื่อพัฒนาคุณภาพความหอมของข้าวหอมมะลิไทยตลอดห่วงโซ่การผลิตและการแปรรูป ให้คงความหอมตั้งแต่แปลงนาจนถึงจานของผู้บริโภค
ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำโครงการพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสู่ตลาดแบบยั่งยืน โดยในปี 2558/2559 จะเริ่มดำเนินการในพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิของสมาชิกสหกรณ์ โดยจะคัดเลือกสมาชิกสหกรณ์จำนวน 5,000 ราย พื้นที่เป้าหมายไม่น้อยกว่า 50,000 ไร่ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ประกอบด้วย ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ และนครราชสีมา หรือพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเป็นพื้นที่นำร่อง
นายโอภาส กลั่นบุศย์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงการดำเนินโครงการดังกล่าวว่า จะมุ่งพัฒนากระบวนการ
ผลิตข้าวหอมมะลิ เพื่อยกระดับการรักษาคุณภาพความหอมในห่วงโซ่ข้าวหอมมะลิ ตั้งแต่การเลือกพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม ลดการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี เพิ่มสารอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารในดิน โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ การเก็บเกี่ยว การสี การปรับปรุงคุณภาพ การแปรรูปข้าวสารและผลิตภัณฑ์ข้าวต่างๆ ตลอดจนการขนส่ง ให้มีระยะเวลาหอมยาวนานขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการดึงความเป็นเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทยกลับคืนมา ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกด้วย
โครงการดังกล่าวจะเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวง กรม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สถาบันเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 20 แห่ง รวมถึงผู้ประกอบการผลิต ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภาพ เมล็ดพันธุ์ เป็นต้น โรงสีข้าว โรงปรับปรุงคุณภาพข้าวสารและโรงงานแปรรูปข้าวสุก เป็นการบูรณาการร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคข้าวหอมมะลิของไทยแท้ที่หอม นุ่ม และอร่อย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของข้าวหอมมะลิไทยที่ไม่มีข้าวประเทศอื่นสามารถลอกเลียนแบบได้
โครงการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการพัฒนาความหอมอร่อยของข้าวให้ยาวนานยิ่งขึ้น เพื่อดึงความเป็นเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทยกลับคืนมาแล้ว ก็ยังเป็นการช่วยยกระดับชาวนาไทยสู่ชาวนามืออาชีพ เน้นผลผลิตที่มีคุณภาพ และยังสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวนาจากราคาขายข้าวเปลือกที่สูงขึ้นตามคุณภาพความหอมอีกด้วย ซึ่งจากเดิมที่ขายได้ตันละ 15,000-16,000 บาท ก็จะเพิ่มเป็นตันละ 18,000-30,000บาท และได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 400 กก.ต่อไร่เป็น 500 กก.ต่อไร่ เมื่อทำการผลิตตามแนวทางที่กล่าวมาข้างต้น
ข้อมูลจาก naewna.com