ชง ‘บิ๊กตู่’ตั้งกระทรวงการข้าว
ปฏิวัติอุตสาหกรรมทั้งระบบ/เข็นชาวนารับเออีซี
"อุบลศักดิ์" ชง รมว.เกษตร ดันแจ้งเกิด "กระทรวงการข้าว" หวังฉลอง 43 ปี วันก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรฯ ฝันปฏิวัติอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ ดันราคาใน-ต่างประเทศ ชี้ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ-พาณิชย์ต่างคนต่างพาย ต้องปฏิรูปใหม่ ด้านปลัดชวลิต เผยโรดแมปปรับโครงสร้างข้าว 5 ปี งบร่วม 3 หมื่นล้านผ่านความเห็นชอบของ ครม.แล้ว
นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า คณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรฯ มีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มชาวนาได้รวมตัวกันครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2498 จากนั้นรัฐบาลได้สนับสนุนให้ก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรให้ขยายไปทั่วประเทศ ครอบคลุมอาชีพการเกษตรทุกสาขา และเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามลำดับ จึงมีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 140 และฉบับที่ 141 ให้มีการก่อตั้งกลุ่มเกษตรกร แล้วให้มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในวันที่ 1 พฤษภาคม 2515 จึงถือได้ว่า วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรไทย จนถึงปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรไทยได้ก่อตั้งมาครบรอบ 42 ปี ปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรในทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนกว่า 7 พันกลุ่ม มีสมาชิกจำนวนกว่า 6 แสนคน
"ปีนี้พิเศษจะมีการจัดนิทรรศการทางวิชาการ และการสัมมนาผู้นำกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ และจะมีการเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านทางนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้มีการจัดตั้งกระทรวงการข้าว ทั้งนี้หน่วยงานในสังกัดจะประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานรัฐมนตรี สำนักบริหารนโยบาย สำนักงานเศรษฐกิจและสารสนเทศข้าว กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ส่วนฝ่ายวิชาการด้านงานวิจัย จะประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ สถาบันพระแม่โพสภ (อบรมและถ่ายทอด) กรมวิจัยและพัฒนาข้าว สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ กรมพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าว กรมสวัสดิการชาวนาและพัฒนาสถาบันข้าว กรมวิศวกรรมเครื่องกลการเกษตร กรมมาตรฐานและการรับรองข้าว กรมส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าว"
นอกจากนี้กระทรวงการข้าวจะมีการผลักดันด้านการตลาดด้วย โดยจะมีการตั้งหน่วยงานประกอบด้วย กรมการค้าข้าว สำนักบริหารและจัดการสินค้าข้าว กรมอุตสาหกรรมและการแปรรูปข้าว กรมพัฒนาธุรกิจข้าว กรมการค้าข้าวระหว่างประเทศ และมีองค์การค้าข้าว เป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อให้มีการค้าขายข้าว เป็นการบูรณาการทั้งระบบ อาจจะต้องยุบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมกันเป็นกระทรวงเพื่อที่จะทำงานแบบบูรณาการ ปัจจุบันจะเห็นว่าการผลิตอยู่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การค้าขายอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ หากรวมเป็นกระทรวงเดียวการบริหารงานจะง่ายมากขึ้น การช่วยเหลือชาวนาจะเป็นระบบ นับว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมข้าว และปฏิรูปชาวนาเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ด้วย
ขณะที่นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างการผลิตข้าวตามโรดแมปนโยบายของรัฐบาล ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั้นทางที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว คาดว่าจะใช้งบประมาณร่วม 3 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1.ปรับโครงสร้างการผลิตข้าวดำเนินการปี 2558-2560 2.โครงการพัฒนาเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจข้าวของสถาบันเกษตรกร ดำเนินการปี 2558-2562 และ 3.โครงการขยายศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ดำเนินการปี 2558-2562 โดยทั้ง 3 โครงการมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิตจนถึงการตลาด
ทั้งนี้ในทางปฏิบัติจะดึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ดอกเบี้ยผ่อนปรน ตามแผนดำเนินงาน 5 ปีตามยุทธศาสตร์ โดยมีการกำหนดขนาดพื้นที่และจำนวนชาวนาที่เข้าร่วม สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม และต้องพิจารณาความพร้อมและความสมัครใจของชาวนา อีกทั้งยังสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรกู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนเพื่อดำเนินธุรกิจรับซื้อข้าวเปลือก การแปรรูป และการตลาดข้าวอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เมื่อจบโครงการในปี 2560 คาดว่าปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกที่เกินจากความต้องการเหลือเพียง 8.5 แสนตัน จากเดิมที่เกินความต้องการมากถึง 4.41 ล้านตันต่อปี
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,049 วันที่ 3 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2558