ข้าวเหนียวเป็นสินค้าเกษตรที่ไม่ได้มีการพูดในเชิงเศรษฐกิจ เหมือนกับพืชอาหารชนิดอื่น ๆ แต่ด้วยศักยภาพของประเทศไทยที่สามารถผลิตข้าวเหนียวให้มีคุณภาพที่ดี
ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกข้าวเหนียวเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยตลาดจะอยู่ในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย โดยการบริโภคข้าวเหนียวในประเทศอยู่ที่ 95% ส่งออก 5% ด้วยข้าวเหนียวของไทยมีจุดเด่นเฉพาะตัวคือ เม็ดเรียวยาวสวย มีกลิ่นหอมมากกว่า จึงทำให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวเหนียวร้อยละ 50 ในตลาดโลกนิยมข้าวเหนียวจากประเทศไทย
โดยแหล่งผลิตใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 85 และภาคเหนือร้อยละ 15.6 และที่เหลืออยู่ภาคอื่น ๆ รวมพื้นที่ปลูกทั่วประเทศประมาณ 16.7 ล้านไร่
“ข้าวเหนียวเป็นสินค้าเกษตรที่ไม่ได้มีการพูดในเชิงเศรษฐกิจ เหมือนกับพืชอาหารชนิดอื่น ๆ แต่ด้วยศักยภาพของประเทศไทยที่สามารถผลิตข้าวเหนียวให้มีคุณภาพที่ดี มีจุดเด่นทั้งในด้านผลผลิตและรสชาติ แต่ยังด้อยเรื่องการบริหารจัดการที่ดี และการตลาดที่ยั่งยืนในอนาคต จึงทำให้การพัฒนาข้าวเหนียวเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าพืชชนิดอื่น ๆ ดังนั้นการพัฒนาให้ข้าวเหนียวเป็นสินค้าเกษตรระดับพรีเมี่ยม และมีระบบการเพาะปลูกที่ปลอดภัย ได้รับการยอมรับจากตลาดอย่างยั่งยืนจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรจะให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาอย่างจริงจัง รวมไปถึงการขยายพื้นที่ปลูกและขยายตลาดการส่งออกที่ขณะนี้ถือเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะทำได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว จึงได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมการผลิตและการค้าข้าวเหนียว” ขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตข้าวเหนียวให้มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มมูลค่าข้าวเหนียวให้เป็นสินค้าเกษตรระดับพรีเมี่ยม พร้อมกับลดต้นทุนการผลิตด้วยการใช้ระบบเพาะปลูกตามวิถีธรรมชาติ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีเกินความจำเป็น” นายอำนวย ปะติเส รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
สำหรับแนวทางการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1. คัดเลือกพื้นที่ดำเนินการ โดยดูจากพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกข้าวเหนียวตั้งแต่ 20,000 ไร่ขึ้นไป โดยเบื้องต้นได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในช่วงฤดูนาปี ในเขตพื้นที่จังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ อุดรธานี และขอนแก่น ช่วงฤดูนาปรัง 2558/59 ในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด เชียงราย พะเยา ลำปาง เชียงใหม่ อุดรธานี หนองคาย สกลนคร นครพนม ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และชัยภูมิ 2. พัฒนาศักยภาพชาวนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยจัดหาวิทยากรหลักเพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรในด้านต่าง ๆ จากนั้นก็คัดเลือกชาวนาที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการจัดฝึกอบรมเป็นจำนวน 3 รุ่น เพื่อให้ได้มาเกษตรกรต้นแบบ 3. ส่งเสริมการทำนาตามหลักชาวนาธรรมชาติ ตั้งแต่การปรับปรุงบำรุงดิน การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การผลิตใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี และการทำบัญชีครัวเรือน และ 4. การเชื่อมโยงตลาด โดยเบื้องต้นจะเชื่อมโยงตลาดกับหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ จากนั้นจึงเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ในประเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการพัฒนาข้าวเหนียวไทย นอกจากจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวของไทยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้จากการผลิตพืชในวิถีธรรมชาติแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นการรักษาตลาดข้าวเหนียวไทยทั้งในและต่างประเทศให้มีความยั่งยืนไปตราบนานเท่านานอีกด้วย.
จาก dailynews.co.th