data-ad-format="autorelaxed">
ประวัติ ข้าวเหนียว พันธุ์เหนียวดำช่อไม้ไผ่ 49
ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานีเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวเหนียวพื้นเมืองจากจังหวัดกระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ในปี 2539 – 2542 จำนวน 89 พันธุ์ ฤดูนาปี 2539/40 – ฤดูนาปี 2550/51 ปลูกอนุรักษ์และศึกษาลักษณะประจำพันธุ์เบื้องต้น ปลูกประเมินลักษณะและจัดหมวดหมู่กลุ่มพันธุ์ ปลูกคัดเลือกให้เป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์แบบรวงต่อแถวในแต่ละกลุ่มพันธุ์/สายพันธุ์ คัดเลือกข้าวเหนียวดำช่อไม้ไผ่ได้สายพันธุ์ PTNC96004-49 จากนั้นปลูกศึกษาพันธุ์ขั้นต้นและขั้นสูง และปลูกเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ฤดูนาปี 2551/52 - ฤดูนาปี 2552/53 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานีที่ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ปัตตานี และกระบี่ วิเคราะห์คุณภาพเมล็ด ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในนาราษฎร์ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ปี 2553 ทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคไหม้ วิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี ฤดูนาปี 2553/54 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในนาราษฎร์ที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ทดสอบการตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน ทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคไหม้ และผลิตเมล็ดพันธุ์ดักทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคขอบใบแห้ง วิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี ปี 2554 คัดเลือกข้าวเหนียวดำช่อไม่ไผ่สายพันธุ์ PTNC96004-49 เป็นสายพันธุ์ดีเด่น กรมการข้าวรับรองพันธุ์ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2554
ลักษณะประจำพันธุ์ ข้าวเหนียว พันธุ์เหนียวดำช่อไม้ไผ่ 49
เป็นข้าวเหนียวดำพันธุ์พื้นเมืองไวต่อช่วงแสง ออกดอกปลายเดือนมกราคม ผลผลิตเฉลี่ย 363 กิโลกรัมต่อไร่ ความสูงประมาณ 135 เซนติเมตร ลักษณะทรงกอตั้ง ใบสีเขียวเข้ม กาบใบสีเขียว ใบธงหักลง ยอดเกสรตัวเมียสีขาว ยอดดอกสีม่วง กลีบดอกสีม่วงดำ คอรวงยาว รวงแน่นปานกลาง รวงยาว 28.5 เซนติเมตร เมล็ดเกาะกันเป็นกลุ่มบนระแง้ กลุ่มละ 2-4 เมล็ด ส่วนใหญ่มี 3 เมล็ด ข้าวเปลือกสีฟาง ยาว 10.21 มิลลิเมตร กว้าง 3.66 มิลลิเมตร หนา 2.22 มิลลิเมตร ข้าวกล้องสีม่วงดำ รูปร่างเมล็ดค่อนข้างป้อม ยาว 7.20 มิลลิเมตร กว้าง 2.81 มิลลิเมตร หนา 1.92 มิลลิเมตร ข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด หนัก 34.59 กรัม น้ำหนักข้าวเปลือก 10.38 กิโลกรัมต่อถัง คุณภาพการสีปานกลาง ระยะพักตัวประมาณ 8 สัปดาห์
ลักษณะเด่น ข้าวเหนียว พันธุ์เหนียวดำช่อไม้ไผ่ 49
- เป็นข้าวเหนียวดำพื้นเมือง เมื่อนึ่งสุกมีลักษณะอ่อนนุ่ม ที่ผู้บริโภคในพื้นที่ภาคใต้นิยมนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นอาหารเสริมหรืออาหารว่าง และใช้ในงานบุญประเพณี ทำให้มีราคาจำหน่ายสูงกว่าข้าวทั่วไป
- มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยมีวิตามินบี 1 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 และวิตามินอี
พื้นที่แนะนำ เหมาะสำหรับปลูกในบริเวณพื้นที่นาดอนและสภาพไร่ในภาคใต้
ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง ไม่เหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่นาลุ่ม
อ้างอิง brrd.in.th