data-ad-format="autorelaxed">
กระทรวงเกษตรฯ ขานรับนโยบาย คสช. วางกรอบแนวทางการปฏิรูปภาคเกษตร 7 ส่วน ส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรเพื่อให้ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้ดำเนินการมาตรการต่างๆ ในการขับเคลื่อนประเทศ โดยได้เน้นย้ำให้ทุกส่วนราชการเร่งรัดดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกลไกหนึ่งในการปฏิรูปเศรษฐกิจ คือ ภาคการเกษตร โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ตัวเกษตรกร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรไปสู่ตลาดการบริโภค มุ่งส่งเสริมพัฒนาให้สินค้ามีคุณภาพ ขายได้ราคา และชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของชาวนาไทย พบว่า ปัจจุบันชาวนาไทยมีอายุเฉลี่ย 56 ปี ส่วนใหญ่จบระดับประถมศึกษา ขณะที่มีที่ดินทำกินเฉลี่ย 26 ไร่ อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก และกว่าร้อยละ 70 อยู่นอกเขตชลประทาน ดังนั้น การยกระดับรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืนจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ซึ่งต้องทำการปฏิรูปข้าวไทยทั้งระบบ โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้วางกรอบแนวทางการปฏิรูปไว้ 7 ส่วนหลัก ได้แก่ การปฏิรูประบบการผลิต การปฏิรูประบบตลาด การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานการเกษตร การปฏิรูปองค์กรภาครัฐ การปฏิรูปองค์กรชาวนา การปฏิรูประบบการให้ความช่วยเหลือชาวนา และการปฏิรูปกฎหมาย
นายชวลิต กล่าวต่อไปว่า สำหรับการปฏิรูปข้าวไทยในเรื่องของระบบการผลิต เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผลผลิตข้าวไทยสามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยมีการดำเนินการเป็นลำดับ ดังนี้ การกำหนดเขตส่งเสริมการผลิต (Zoning) ตามกลุ่มพันธุ์ข้าว รวมทั้งข้าวสำหรับตลาดเฉพาะ (Niche Market) เช่น ข้าวอินทรีย์ ข้าว GI หรือข้าวที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications:GI) และข้าวที่มีลักษณะพิเศษ การจัดทำทะเบียนชาวนา โดยจำแนกตามเขตส่งเสริมการผลิตเพื่อกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาและช่วยเหลือชาวนาได้อย่างสะดวกชัดเจน การจัดระบบปลูกข้าว โดยปลูกปีละไม่เกิน 2 ครั้ง ซึ่งมีพืชปุ๋ยสดหรือพืชเสริมปลูกคั่นกลาง เพื่อสะดวกในการบริหารจัดการน้ำและตัดวงจรระบาดของโรคแมลงศัตรูข้าว การส่งเสริมใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ การส่งเสริมให้ชาวนาและโรงสีเข้าสู่ระบบมาตรฐานคุณภาพในการผลิต (GAP/GMP) และเน้นเทคโนโลยีการลดต้นทุนการผลิต หรือ 3 ต้องทำ 3 ต้องลด โดย 3 ต้องทำ คือ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ต้องปลูกข้าวไม่เกินปีละ 2 ครั้ง ต้องทำบัญชีต้นทุน ขณะที่ 3 ต้องลด คือ ลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ ลดอัตราการใช้ปุ๋ยเคมี และลดการใช้สารเคมี ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรได้
ในส่วนโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ได้วางแนวทางดำเนินการใน 4 ส่วนหลักนั้น คือ 1. การขยายพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานตามสภาพของพื้นที่อย่างทั่วถึง 2. การขยายพื้นที่การจัดรูปที่ดินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำนา 3. การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ทั้งในเรื่องของยุ้งฉาง และระบบขนส่งในระดับชุมชน ถึงระดับประเทศ 4. การพัฒนาและส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการทำนาที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ให้กับชาวนา การเพิ่มขีดความสามารถของชาวนาในการจัดหาปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และเครื่องจักรกลการเกษตร การสร้างจิตสำนึกให้ชาวนารู้จักพึ่งพาตนเองมากกว่าการพึ่งพาภาครัฐเพียงอย่างเดียว โดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการยกระดับความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับภาคเอกชน โดยการประสานงานร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้กับสหกรณ์ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพสามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้
ข้อมูลจาก thaigov.go.th