data-ad-format="autorelaxed">
การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในนาข้าว
การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในนาข้าว เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อปรับปรุงบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ และเพิ่มผลผลิตข้าวให้สูงขึ้น ทำการค้นคว้าวิจัยระหว่างปี พ.ศ. 2519-2540 ทั้งในดินเหนียว ดินร่วนปนดินเหนียว ดินร่วนเหนียวปนทรายและดินทราย ที่จังหวัดนครราชสีมา ปทุมธานี พิษณุโลก ราชบุรี สุรินทร์และปัตตานี พบว่าการใช้ปุ๋ยหมักจากฟางข้าว ในนา 2 ปีแรก ไม่ทำให้ผลผลิตข้าวพันธุ์ กข. 7 เพิ่มขึ้นแต่จะแสดงผลในปีที่ 3 เป็นต้นไป ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ตามอัตราปุ๋ยหมักฟางข้าวที่ใส่และจะเพิ่มอีก เมื่อใส่ปุ๋ยหมักฟางข้าวอัตรา 2,000 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมี 8-4-4 กิโลกรัมของ N-P2O5-K2O ต่อไร่ โดยใช้ติดต่อกัน 22 ปี ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 89-146 เปอร์เซ็นต์ ปี 2530 - 2542 ทำการทดลองในดินร่วนปนทรายชุดร้อยเอ็ดที่สถานีทดลองข้าวสุรินทร์ พบว่าอัตราปุ๋ยที่เหมาะสมสำหรับข้าว กข. 23 คือใบและกิ่งอ่อน ของต้นกระถินยักษ์อัตรา 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 12 กิโลกรัม N ต่อไร่ ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 81 เปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 อัตราปุ๋ยพืชสดที่ดีที่สุดคือ 600 กิโลกรัมต่อไร่ อัตราปุ๋ยพืชสด 300 กิโลกรัมต่อไร่ใส่ร่วมกับปุ๋ยไนโตรเจน 12 กิโลกรัม N ต่อไร่ เพิ่มผลผลิตได้ 53 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2536 - 2541 การทดลองระบบการปลูกพืชควบโดยปลูกกระถินยักษ์เป็นแถวคู่ ระยะ 50 x 50 เซนติเมตร ในแนวขวางทางลาดเทของพื้นที่สลับกับพื้นที่ปลูกข้าวสาลี โดยใช้แถบต้นกระถินยักษ์ 1 เมตร ต่อแถบข้าวสาลี 3 เมตร แล้วตัดต้นกระถินยักษ์สูงจากระดับพื้น 50 เซนติเมตร นำส่วนที่ตัดออกใส่ลงในนาข้าวสาลีร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 4-4-4 กิโลกรัมของ N-P2O5-K2O ต่อไร่ จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 84 เปอร์เซ็นต์ ปี 2539 - 2541 ทดลองใช้กากสะเดาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ที่ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานีและสถานีทดลองข้าวโคกสำโรง อัตรา 500 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้ผลผลิตข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เพิ่มขึ้น 44 และ 56 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
ประเทศไทยมีดินเสื่อมโทรม 224.9 ล้านไร่ ดินมีอินทรียวัตถุต่ำกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 98.7 ล้านไร่ ดินส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เป็นดินทรายมีอินทรียวัตถุเฉลี่ย 0.56 เปอร์เซ็นต์ การเพิ่มอินทรียวัตถุโดยการใส่วัสดุอินทรีย์ลงไปในดิน เช่น การไถกลบตอซังข้าว เศษพืช ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และอุตสาหกรรมจะช่วยในการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น
ประเทศไทยปลูกข้าวได้ผลผลิตเฉลี่ยปีละประมาณ 20 ล้านตัน ซึ่งจะมีฟางข้าวประมาณ 10 ล้านตัน ฟางข้าวส่วนนี้จะออกไปจากแปลงนา ทำให้ดินต้องสูญเสียอินทรียวัตถุเป็นปริมาณมากในทุก ๆ ปี ดังนั้น จึงควรนำเอาฟางข้าวมาทำเป็นปุ๋ยหมักใส่กลับลงดินในแปลงนาข้าว เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินและเพิ่มผลผลิตข้าวโดยใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ยังมีกระถินยักษ์ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่วยืนต้นที่ขึ้นได้ดี โตเร็ว แตกกิ่งก้านมากมีใบดก ระบบรากลึกทนแล้งได้ดี และมีจุลินทรีย์ตรึงไนโตรเจนจากอากาศที่ปมราก จึงเป็นพืชที่เหมาะสมเป็นพืชสดบำรุงดิน การนำเอากระถินยักษ์มาปลูกบนคันนาแล้วตัดเอาใบและกิ่งอ่อนใส่เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว หรือการปลูกกระถินยักษ์ในระบบพืชควบกับข้าวสาลี โดยตัดเอาใบและกิ่งอ่อนกระถินยักษ์เป็นปุ๋ยพืชสดใช้ได้ตลอดไป โดยใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีจะเป็นหนทางในการปรับปรุงบำรุงดิน และเพิ่มผลผลิตข้าวสาลีได้ และจากการนำเอาเมล็ดสะเดามาสกัดเป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช ทำให้มีกากสะเดา เป็นวัสดุเหลือใช้เมื่อวิเคราะห์พบว่ามีไนโตรเจนมากกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ ควรนำมาเป็นปุ๋ยใช้ในนาข้าวได้
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ได้อัตราปุ๋ยหมักฟางข้าวในการเพิ่มผลผลิตข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสงเมื่อใส่อย่างเดียวหรือใส่ร่วมกับปุ๋ยเคมีในระยะยาว
2. เพื่อให้ได้อัตราใบและกิ่งอ่อนกระถินยักษ์ ที่ปลูกบนคันนาเป็นปุ๋ยพืชสดเพิ่มผลผลิตข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสงและไวต่อช่วงแสง เมื่อใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี
3. เพื่อศึกษาระบบการปลูกพืชควบโดยใช้กระถินยักษ์เป็นปุ๋ยพืชสดร่วมกับการปลูกข้าวสาลีในการเพิ่มผลผลิตข้าวสาลี
4. เพื่อให้ได้อัตรากากสะเดาที่เหมาะสมในการเพิ่มผลผลิตข้าวพันธุ์ไวต่อช่วงแสง
5. เพื่อศึกษาผลการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมักฟางข้าว กระถินยักษ์และกากสะเดา) ต่อการเปลี่ยนสมบัติทางกายภาพและเคมีของดิน)
ความเป็นมา
ในปีงบประมาณ 2524 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เห็นความสำคัญในการใส่ปุ๋ยหมักซึ่งเป็นปุ๋ยที่ผลิตจากเศษพืช และมูลสัตว์นำมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงบำรุงดินและเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยหมักที่ผลิตขึ้นเอง ตามโครงการเร่งรัดปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ(ปุ๋ยหมัก) เกษตรกร 20 จังหวัดสามารถผลิตปุ๋ยหมักได้ 57.460 ต้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (2525-2529) รัฐบาลมีนโยบายในการลดต้นทุนการผลิตโดยดำเนินงานตามโครงการเร่งรัดปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของดิน ส่งเสริมการเป็นประโยชน์ของปุ๋ยเคมี ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี ส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จักการผลิตและการใช้ปุ๋ยหมักรวมถึงการเพิ่มผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร มีเป้าหมายผลิตปุ๋ยหมัก 690,000 ตัน ในพื้นที่ 72 จังหวัดในปี 2530 - 2534 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยหมัก 870,000 ตัน ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยพืชสด 32,054 ไร่ ในปี 2534 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบายด้านดินและปุ๋ย โดยเน้นความจำเป็นในการยกระดับความสำคัญของการบำรุงดินให้เป็นนโยบายสำคัญ ในปี 2535 - 2539 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 ส่งเสริมการทำและใช้ปุ๋ยหมัก 910,000 ตัน ส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์และใช้ปุ๋ยพืชสด จัดอบรมผู้นำเกษตรกร เป้าหมายปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ 840,000 ไร่ โดยใช้ฟางข้าว กระถินยักษ์และกากสะเดา และในปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน จึงต้องสนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในนาข้าวต่อไป
คุณลักษณะดีเด่นของเทคโนโลยี
1. ฟางข้าวเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเมื่อนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักจะทำให้การใช้วัสดุอินทรีย์มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
2. ปุ๋ยหมักฟางข้าวมีธาตุอาหารพืชปริมาณมากพอสมควร กล่าวคือ มีไนโตรเจน 2.16 เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัส 1.18 เปอร์เซ็นต์ โพแทสเซียม 1.31 เปอร์เซ็นต์ แคลเซียม 2.29 เปอร์เซ็นต์ แมกนีเซียม 0.44 เปอร์เซ็นต์ และซัลเฟอร์ 0.41 เปอร์เซ็นต์
3. ปุ๋ยหมักฟางข้าวมีอัตราส่วนคาร์บอนและไนโตรเจนต่ำ ( C/N = 11.94 ) ทำให้ไนโตรเจน
ละลายออกมาเป็นประโยชน์ต่อข้าวได้เร็ว ปุ๋ยหมักฟางข้าวทำให้สมบัติทางกายภาพของดินดีขึ้น คือ ดินจับตัวเป็นเม็ดมากขึ้น ลดความแข็งของดินและลดความหนาแน่นรวม
4. ปุ๋ยหมักฟางข้าวทำให้ดินมีอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น ช่วยดูดปุ๋ยไนโตรเจนจากปุ๋ยเคมีไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
ช่วยลดการสูญเสียไนโตรเจน ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและช่วยในการเจริญเติบโต มีรากมากขึ้น ดัชนีพื้นที่ใบข้าวเพิ่มขึ้น ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น
5. การปลูกกระถินยักษ์บนคันนา เพื่อนำมาเป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว เป็นการนำพื้นที่ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์
6. กระถินยักษ์มีธาตุอาหารไนโตรเจนสูง 3.7 - 4.3 เปอร์เซ็นต์ และมีธาตุอาหารพืชต่าง ๆ (แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม และไนเตรท) ในระดับสูง
7. ใบและกิ่งอ่อนของกระถินยักษ์เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น รักษาธาตุอาหารในดิน ใบและกิ่งอ่อนของกระถินยักษ์ช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี เพิ่มผลผลิตและคุณภาพของข้าว
8. ระบบการปลูกพืชควบกระถินยักษ์และข้าวสาลี ช่วยในการปรับปรุงบำรุงดินและเพิ่มผลผลิตข้าวสาลี จากการใช้กระถินยักษ์เป็นปุ๋ยพืชสด
9. การใช้กากสะเดาซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้มาเป็นปุ๋ยอินทรีย์กับข้าว
ทำให้ดินมีสมบัติทางกายภาพดีขึ้นให้ธาตุอาหารและเพิ่มผลผลิตข้าว
การประเมินคุณค่าของเทคโนโลยี
1. การใช้ปุ๋ยหมักฟางข้าวร่วมกับปุ๋ยเคมีติดต่อกัน 20 - 22 ปี ทำให้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ปุ๋ยหมักฟางข้าวอัตรา 1,000 กิโลกรัมต่อไป ร่วมกับปุ๋ยเคมี 8-4-4 กิโลกรัมของ N-P2O5-K2O ต่อไร่ ให้ผลผลิตข้าว กข.7 เพิ่มขึ้น 115 เปอร์เซ็นต์, 99 เปอร์เซ็นต์ และ 72 เปอร์เซ็นต์ ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก สถานีทดลองข้าวพิมาย และสถานีทดลองข้าวสุรินทร์ ตามลำดับ และผลผลิตข้าว กข.7 เพิ่มขึ้น 146 เปอร์เซ็นต์, 117 เปอร์เซ็นต์ และ 89 เปอร์เซ็นต์ เมื่อใช้ปุ๋ยหมักฟางข้าวอัตรา 2,000 กิโลกรัมต่อไป ร่วมกับปุ๋ยเคมี 8-4-4 กิโลกรัมของ N-P2O5-K2O ต่อไร่ ตามลำดับ
2. การใช้ปุ๋ยหมักฟางข้าวติดต่อกัน 12 ปี ทำให้ดินมีอินทรียวัตถุที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น
3. การใช้ปุ๋ยหมักฟางข้าวทำให้สมบัติทางกายภาพของดินดีขึ้นกล่าวคือ ทำให้การจับตัวของเม็ดดินเพิ่มขึ้น ความแข็งของดินลดลง ความหนาแน่นของดินลดลง
4. การใช้ปุ๋ยหมักฟางข้าวช่วยเพิ่มการดูดธาตุอาหารในต้นและเมล็ดข้าว เพิ่มดัชนีพื้นที่ใบ ปริมาณรากและการดูดน้ำของราก
5. ใบและกิ่งอ่อนกระถินยักษ์อัตรา 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 12 กิโลกรัม N ต่อไร่ เพิ่มผลผลิตข้าว กข. 23 81 เปอร์เซ็นต์
6. ใบและกิ่งอ่อนกระถินยักษ์อัตรา 300 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 12 กิโลกรัม N ต่อไร่ หรือใบและกิ่งอ่อนกระถินยักษ์อัตรา 600 กิโลกรัมต่อไร่อย่างเดียวเพิ่มผลผลิตข้าวขาวดอกมะลิ 105 53 เปอร์เซ็นต์
7. การใช้กระถินยักษ์ติดต่อกัน 10 ปี ทำให้ดินมีสมบัติทางเคมีและกายภาพดีขึ้น ช่วยให้ข้าวดูดธาตุอาหารจากดินได้มากขึ้น ปรับปรุงบำรุงดินและเพิ่มอินทรียวัตถุในดินให้สูงขึ้น
8. การปลูกพืชควบระหว่างกระถินยักษ์กับข้าวสาลีร่วมกับปุ๋ยเคมีอัตรา 4-4-4 กิโลกรัมของ N-P2O5-K2O ต่อไร่ ติดต่อกัน 6 ปี ทำให้ผลผลิตข้าวสาลีเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 84 เปอร์เซ็นต์ และอินทรียวัตถุในดินเพิ่มขึ้นด้วย
9. การใส่กากสะเดาอัตรา 500 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มผลผลิตข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในดินทรายปนดินร่วนและดินเหนียวปนทราย 44 และ 56 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
คำแนะนำวิธีการใช้
1. การทำปุ๋ยหมักฟางข้าว กองฟางข้าวในที่ร่มมีขนาดกอง 2x5 เมตร รดน้ำให้ชุ่มพร้อมกับเหยียบให้แน่นพอสมควร จนกองสูงประมาณ 25 เซนติเมตร โรยมูลสัตว์และปุ๋ยยูเรียหรือแอมโมเนียมซัลเฟตเพื่อช่วยให้ฟางข้าวสลายตัวเร็วขึ้น แล้วกองชั้นต่อ ๆ ไป ทำเช่นเดียวกันจนกองมีความสูง 1.00 -1.50 เมตร โดยใช้ฟางข้าว มูลสัตว์และปุ๋ยเคมีอัตราส่วน 100 ต่อ 10 ต่อ 1 ควรกลับกองปุ๋ยทุก ๆ เดือน หลังกลับกองปุ๋ยครั้งที่สองแล้ว 2 อาทิตย์ จึงกลับอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นกองปุ๋ยหมักก็จะเหมาะแก่การนำไปใช้แล้ว ปกติแล้วปุ๋ยหมักจะมีค่าของคาร์บอน/ไนโตรเจนประมาณ 20
2. ใช้ปุ๋ยหมักฟางข้าวอัตรา 2 ตันต่อไร่ โดยหว่านให้ทั่วแปลงขณะเตรียมดินแล้วไถกลบลงไปในดินทันทีก่อนปักดำข้าว 20 วัน ใส่ปุ๋ย 16-20-0 ในดินเหนียวหรือ 16-16-8 ในดินทรายอัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ ก่อนปักดำข้าว 1 วัน แล้วคราดกลบและใส่ปุ๋ยยูเรียอัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ที่ระยะกำเนิดช่อดอก สำหรับนาหว่านน้ำตมใส่ปุ๋ย 16-20-0 หรือ 16-16-8 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ หลังข้าวงอก 30 วัน และใส่ปุ๋ยยูเรียอัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ที่ระยะกำเนิดช่อดอก
3. การปลูกกระถินยักษ์เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าวใช้กระถินยักษ์พันธุ์เปรูหรือ K8 ปลูกบนคันนา ควรเริ่มปลูกในช่วงฤดูฝนหรือในระยะที่ดินมีความชื้นพอ ถ้าเป็นคันนาแคบควรปลูกเป็นแถวเดียวระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ถ้าคันนากว้างควรปลูกเป็นแถวคู่ระยะระหว่างต้น x ระยะระหว่างแถวเท่ากับ 50 x 50 เซนติเมตร การตัดแต่งกิ่งเพื่อทำเป็นปุ๋ยพืชสด ถ้าฝนตกตามปกติกระถินยักษ์จะโตเร็ว เริ่มตัดใบและกิ่งอ่อนได้ใน 4-5 เดือนของปีแรก ควรตัดแต่งครั้งแรกเมื่อกระถินยักษ์สูง 2 เมตร โดยตัดให้เหลือตอสูงเหนือพื้นดิน 1 เมตร ส่วนของกระถินยักษ์ที่จะนำไปใส่เป็นปุ๋ยปรับปรุงบำรุงดินให้เลือกตัดเอาเฉพาะใบและกิ่งอ่อนและตัดแต่งทุก 2 เดือน หรือเมื่อต้นกระถินยักษ์สูง 2 เมตร
4. การใส่กระถินยักษ์เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว ใช้ใบและกิ่งอ่อนของกระถินยักษ์หว่านในแปลงปลูกข้าวแล้วไถกลบก่อนปักดำข้าว 15 วัน โดยใช้ใบและกิ่งอ่อนอัตรา 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 12 กิโลกรัมN ต่อไร่ (ยูเรีย 26 กิโลกรัมต่อไร่) ที่ระยะกำเนิดช่อดอก สำหรับข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสง ส่วนข้าวพันธุ์ไวต่อช่วงแสงใช้ใบและกิ่งอ่อนของกระถินยักษ์หว่านแล้วไถกลบก่อนปักดำข้าว 15 วัน โดยใช้ใบและกิ่งอ่อนอัตรา 300 กิโลกรัมต่อไร่ และใส่ปุ๋ยยูเรียอัตรา 12 กิโลกรัมNต่อไร่ (ยูเรีย 26 กิโลกรัมต่อไร่) ที่ระยะกำเนิดช่อดอกหรือใช้ใบและกิ่งอ่อนกระถินยักษ์อัตรา 600 กิโลกรัมต่อไร่ อย่างเดียวก่อนปักดำข้าว 15 วัน
5. การปลูกกระถินยักษ์ร่วมกับข้าวสาลี โดยปลูกกระถินยักษ์ในปีแรก โดยปลูกเป็นแถบ 2 แถวคู่ระยะ 50 x 50 เซนติเมตร ขวางความลาดเทของพื้นที่สลับกับแถบของข้าวสาลีในอัตราส่วนกระถินยักษ์กว้าง 1 เมตร ข้าวสาลีกว้าง 3 เมตร ในปีที่ 2 และปีต่อ ๆ ไป ตัดกระถินยักษ์ส่วนที่เกิน 50 เซนติเมตร ใส่เป็นปุ๋ยพืชสดในพื้นที่ปลูกข้าวสาลีร่วมกับการใช้ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ ที่ระยะหลังข้าวสาลีงอก 20 วัน และตัดกระถินยักษ์ส่วนที่เกิน 50 เซนติเมตร ใส่เป็นปุ๋ยพืชสดในพื้นที่ปลูกพืชหลัก เช่น ข้าวไร่ เป็นต้น ปลูกสลับกับข้าวสาลี
6. ใส่กากสะเดา อัตรา 500 กิโลกรัมต่อไร่ ไถกลบก่อนปักดำข้าว 1 สัปดาห์
การเผยแพร่
เผยแพร่โดยกลุ่มงานวิจัยความอุดมสมบูรณ์ของดินและปุ๋ยข้าวและธัญพืชเมืองหนาว กองปฐพีวิทยา กรมวิชาการเกษตร ลาดยาว จตุจักร กทม. 10900.
อ้างอิง : moac.go.th