data-ad-format="autorelaxed">
การเลี้ยงปลาในนาข้าว
เอกสารคำแนะนำกรมประมงพ.ศ. 2540
ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรนานาชนิดสมดังคำกล่าวของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" แต่ปัจจุบันคำกล่าวนี้กำลังจะสูญสิ้นความหมา ยไป ทั้งนี้เพราะสภาพบ้านเมืองได้พัฒนาขึ้นตามกาลสมัย ทำให้สภาพของแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของปลาและสัตว์น้ำเปลี่ยนสภาพเสื่อมโทรมและตื้นเขินยิ่งขึ้นทุกวัน อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณปลาลดน้อยลง ไม่เพียงพอแก่ความต้องการของพลเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ปลายังเป็นอาหารจำพวกเนื้อที่สำคัญประจำมื้อประจำวันของคนไทยควบคู่ไปกับข้าว ทั้งยังเป็นอาหารโปรตีนจำพวกเดียวเท่านั้นที่พี่น้องชาวไทยได้พึ่งพาอาศัยเป็นอาหารหลักอยู่ เพราะอาหารประเภทเนื้อสัตว์อื่นๆ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัวและ เป็ด ไก่ นับวันจะหายากและทั้งราคาแพงยิ่งขึ้น หากเปรียบเทียบในด้านคุณค่าของอาหารประเภทเนื้อสัตว์แล้ว เนื้อปลามีคุณค่าทางโภชนาการสูง อีกทั้งยังเป็นอาหารที่ย่อยง่ายที่สุด นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบบางอย่าง เช่น กรดอะมิโน ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างการสูงกว่าอาหารในจำพวกโปรตีนชนิดอื่นอีกด้วย
กรมประมงได้พิจารณาเห็นความจำเป็นที่จะต้องเร่งผลิตสัตว์น้ำให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการประจำวันของประชาชน โดยได้ค้นคว้า ทดลอง และส่งเสริมให้มีการเลี้ยงปลาในนาขึ้น ทั้งนี้ เพื่อมุ่งที่จะเพิ่มอาหารโปรตีนจากปลาและเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวนา โดยดัดแปลงผืนนาเดิมที่เคยทำอยู่เพียงเล็กน้อย ก็สามารถเลี้ยงปลาควบคู่ไปกับการปลูกข้าวได้
ปกติระหว่างฤดูทำนาในระยะนี้น้ำเอ่อนองเข้าผืนนา ปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติจะแพร่กระจายจากแม่น้ำ ลำคลอง เข้าไปอาศัยเลี้ยงตัวและเจริญเติบโตในแปลงนาปีหนึ่ง ๆ เฉลี่ยแล้วประมาณ 4 กิโลกรัมเศษต่อไร่ ดังนั้นหากชาวนาจะคิดดัดแปลงผืนนาของตนที่ใช้ปลูกข้าวอยู่ให้มีการเลี้ยงปลาในผืนนาควบคู่ไปด้วยแล้ว นาข้าวซึ่งเคยได้ปลาเป็นผลพลอยได้พิเศษอยู่ก่อนเพียงเล็กน้อย ก็จะให้ผลผลิตปลาเพิ่มขึ้นเป็น 20 กิโลกรัมต่อไร่หรือกว่านั้น โดยที่ประเทศไทยมีเนื้อที่นาทั่วทั้งประเทศประมาณ 43 ล้านไร่ หากสามารถคิดใช้ผืนนาให้เป็นประโยชน์นอกเหนือจากการปลูกข้าวแต่อย่างเดียวเพียงแค่ 1 ใน 100 ของเนื้อที่นาทั่วประเทศ โดยคัดเลือกแปลงนาที่เหมาะสม ดัดแปลงและปรับปรุงเพื่อใช้เลี้ยงปลาควบคู่ไปกับการทำนา โดยปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักวิชาแล้วในปีหนึ่ง ๆ จะได้ผลผลิตจากปลาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนหมื่น ๆ ตัน ซึ่งวิธีการนี้เป็นการเพิ่มอาหาร และรายได้บนผืนนาเดิมของพี่น้องชาวไทยนั่นเอง และจากวิธีการดังกล่าวนี้ก็จะเป็นการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำให้ได้มากพอกับความต้องการของประเทศอีกด้วย
การเลี้ยงปลาในนานั้นมิใช่เป็นของใหม่ ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียเลี้ยงปลาในนาข้าวได้ผลดีกันมาเป็นเวลานานแล้ว เช่น ที่ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินโดนีเซีย ในประเทศเราได้เริ่มทำกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2491 แต่เพิ่งจะสนใจเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายเพียงไม่กี่ปีมานี้เอง
ประโยชน์จากการเลี้ยงปลาในนาข้าว
1. ชาวนาสามารถใช้ประโยชน์จากผืนนาได้เต็มที่ ตามปกติในผืนนาจะมีอาหารธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ พืชและสัตว์เล็ก ๆ ทั้งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและที่ปรากฏอยู่ทั่วไป อาหารธรรมชาติเหล่านี้ตามปกติแล้วมิได้มีการใช้ประโยชน์แต่อย่างใด ยิ่งถ้าหากชาวนาทำนาตามแบบที่ทางราชการแนะนำ คือ มีการใส่ปุ๋ยในแปลงนาด้วยแล้วอาหารธรรมชาติจะยิ่งสมบูรณ์มากขึ้น แต่อาหารธรรมชาติอันมีคุณค่านี้ถูกทอดทิ้งโดยมิได้ใช้ให้เป็นประโยชน์แต่อย่างใด หากชาวนาสนใจหันมาเลี้ยงปลาในนาข้าว ปลาที่เลี้ยงก็จะสามารถใช้อาหารธรรมชาติอันเป็นอาหารของปลาโดยเฉพาะให้เป็นประโยชน์อย่างคุ้มค่า โดยเปลี่ยนเป็นอาหารจำพวกโปรตีนในรูปของเนื้อปลาให้แก่เจ้าของนาและผู้เลี้ยงตลอดจนอาจเพิ่มรายได้ให้อีกทางหนึ่งด้วย
2. ปลาช่วยกำจัดวัชพืช ชาวนาย่อมตระหนักดีถึงความยุ่งยากในการกำจัดวัชพืชที่ขึ้นรกในแปลงนาในระหว่างทำนา วัชพืชจะแย่งอาหารจากต้นข้าวทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ นาจะให้ผลผลิตต่ำ ชาวนาจะต้องเสียทั้งเวลาและเหน็ดเหนื่อยในการกำจัดวัชพืชดังกล่าว หากมีการเลี้ยงปลาในนาข้าวแล้วปลาจะช่วยกำจัดโดยกินวัชพืชนานาชนิดในแปลงนาเป็นอาหาร โดยชาวนาไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยอีกด้วย
3. ปลาช่วยกำจัดศัตรูของต้นข้าว หนอนและตัวอ่อนของแมลงชนิดที่อยู่ในน้ำและที่ร่วงหล่นลงไปในนาอันเป็นศัตรูร้ายแรงของต้นข้าว จะกลับเป็นอาหารวิเศษสุดของปลา
4. ปลาช่วยพรวนดินในนา จากการที่ปลาว่ายวนเวียนในน้ำรอบ ๆ กอข้าวบนผืนนา การเคลื่อนไหวของครีบและหางปลาจะช่วยพัดโบกมวลดินในผืนนามิให้ทับอัดกันแน่น อันเป็นเสมือนการพรวนดินให้แก่ต้นข้าว ซึ่งจะช่วยทำให้ต้นข้าวเจริญงอกงามขึ้นกว่าปกติ
5. ปลาช่วยเพิ่มปุ๋ย มูลและสิ่งขับถ่ายจากปลาซึ่งประกอบด้วยธาตุไนโตรเจน และอื่น ๆ จะเป็นปุ๋ยโดยตรงสำหรับต้นข้าว
6. การเลี้ยงปลาในนาข้าว ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวให้สูงขึ้นกว่าการปลูกข้าวแต่เพียงอย่างเดียว
การเลือกสถานที่
ผืนนาทุกแห่งมิใช่จะเหมาะสมต่อการเลี้ยงปลาในนาเสมอไปการเลี้ยงปลาในนาข้าวจึงมักจะมีอุปสรรคอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องน้ำ เช่นในบางท้องที่อาศัยเฉพาะน้ำฝน หรือบางที่ชาวนาไม่สามารถรักษาระดับน้ำในผืนนาไว้ได้ตลอดระยะเวลาที่ต้องการ ดังนั้น หากเพียงแต่นาที่จะเลี้ยงปลาสามารถเก็บกักน้ำในผืนนาไว้ให้ได้มากกว่าปกติเพียงประมาณ 1-2 คืบ (30 เซนติเมตร) เป็นอย่างน้อยตลอดฤดูกาลทำนาและทั้งสามารถควบคุมปริมาณน้ำโดยไม่ให้ท่วมผืนนาได้อีกด้วยแล้ว นาแปลงนั้นก็สามารถที่จะเลี้ยงปลาในนาได้ผลดี จึงควรที่จะยึดหลักในการเลือกผืนนาให้มีสภาพดังนี้
1. อยู่ใกล้แหล่งน้ำ หนอง บึง ลำราง ทางน้ำไหลที่สามารถนำน้ำเข้าแปลงนาได้ แปลงนาที่อาศัยน้ำฝนทำนาแต่เพียงอย่างเดียวควรเก็บกักน้ำได้ไม่น้อยกว่า 90 วัน
2. ไม่เป็นที่ลุ่มจนน้ำท่วม หรือที่ดอนเกินไปจนไม่สามารถเก็บกักน้ำได้
3. สะดวกต่อการดูแลรักษา
4. พื้นที่ที่ปลูกข้าวได้ผลดีจะสามารถดัดแปลงมาทำการเลี้ยงปลาควบคู่กับการปลูกข้าวได้
ขนาดของแปลงนาข้าว
แปลงนาที่เลี้ยงปลาในนาข้าว จะมีขนาดและรูปร่างอย่างไรก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่ และความพร้อมของผู้เลี้ยง แต่แปลงขนาดตั้งแต่ 5 ไร่ขึ้นไปจะมีความเหมาะสมและให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า
การเตรียมแปลงนาข้าว
การเตรียมแปลงนาเพื่อใช้เลี้ยงปลาในผืนนาไปด้วยนั้น ควรเตรียมให้เสร็จก่อนระยะเตรียมดินและไถคราด โดยปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
1. แปลงนาที่เป็นที่ลุ่มและสามารถเก็บกักน้ำได้ลึกอย่างน้อย 1 ศอก (50 เซนติเมตร) ตลอดฤดูทำนา ควรเสริมคันนาให้สูงขึ้นจากระดับพื้นนาเดิมประมาณ 3 คืบ (80 เซนติเมตร) และมีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอ เพื่อป้องกันน้ำท่วมและการพังทลายของคันนา
2. แปลงนาที่มีบ่อล่อปลาอยู่แล้ว ก็ให้ดัดแปลงโดยเสริมคันนาให้แข็งแรงสามารถเก็บน้ำได้ลึกอย่างต่ำ 1-2 คืบ (30 เซนติเมตร) โดยให้พื้นที่ของแปลงนามีขนาดประมาณ 10 เท่า ของพื้นที่บ่อล่อปลา
3. และเพื่อความสะดวกในการจับปลา จึงสมควรขุดบ่อปลาบริเวณที่ลึกที่สุดของแปลงนา เพื่อให้ปลามารวมกันในขณะที่ลดระดับน้ำในแปลงนาข้าว โดยมีพื้นที่ประมาณ 5-10 ตารางวา (20-40 ตารางเมตร) แล้วแต่ขนาดของแปลงนาและลึกกว่าร่องนาประมาณ 1 ศอก (50 เซนติเมตร)
4. บ่อรวมปลานี้ยังใช้เป็นบ่ออนุบาลลูกปลาที่มีขนาดเล็กให้มีขนาดใหญ่ คือ มีความยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ซึ่งเหมาะที่จะปล่อยเลี้ยงในแปลงนาได้ดี โดยการอนุบาลลูกปลาไว้ล่วงหน้าประมาณ 1 เดือนก่อนถึงฤดูทำนา
5. พันธุ์ข้าว ใช้พันธุ์ข้าวที่กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำในแต่ละท้องถิ่นหากเป็นไปได้ ควรเลือกใช้ข้าวพันธุ์หนักที่สามารถอยู่ในนาได้นานวัน
พันธุ์ปลาที่ควรเลี้ยงในนาข้าว
พันธุ์ปลาที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงในนาข้าว ควรมีคุณสมบัติดังนี้
1. เลี้ยงง่าย
2. เติบโตเร็ว
3. อดทน
4. หาพันธุ์ได้ง่าย
5. ไม่ทำลายต้นข้าว
6. เนื้อมีรสดีเป็นที่นิยมของท้องถิ่น
พันธุ์ปลาดังกล่าว ได้แก่ ปลาไน ปลาตะเพียนขาว ปลานิล ปลานวลจันทร์เทศ และปลาหัวโต หรือปลาซ่ง ซึ่งปลาต่าง ๆ เหล่านี้กินอาหารธรรมชาติที่เกิดขึ้นในแปลงนา ประเภทพืชและสัตว์เล็ก ๆ ได้ดีจึงโตเร็ว และนอกจากนี้ยังกินอาหารเสริมต่าง ๆ ที่หาได้ในท้องถิ่นอีกด้วย
แปลงนาซึ่งเป็นที่ลุ่มและพื้นนาลาดเอียงบางด้าน ก็ให้ใช้ด้านต่ำเป็นที่พักปลาโดยขุดดินด้านนี้มาเสริมคันนาให้สูงขึ้นมากพอที่จะเก็บกักน้ำให้ท่วมที่ดอนได้ ประมาณ 1-2 คืบ (30 เซนติเมตร)
แปลงนาที่อยู่ในพื้นที่ราบและไม่เป็นที่ลุ่มเกินไป ควรขุดร่องรอบผืนนาให้มีความกว้าง 2 ศอก (1 เมตร) ลึก 3-4 คืบ (80 เซนติเมตร - 1 เมตร) แล้วนำดินที่ขุดขึ้นเสริมคันนาให้สูงจากระดับผืนนาเดิมประมาณ 1 ศอก (50 เซนติเมตร) เพื่อเก็บกักน้ำให้ท่วมแปลงนาได้ลึก 1-2 คืบ (30 เซนติเมตร)
ช่วงเวลาการปล่อยปลา
หลังจากไถคราดและปักดำเสร็จเรียบร้อยแล้วประมาณ 15-20 วัน เมื่อเห็นว่าต้นข้าวแข็งแรง และรากยึดติดดินดีแล้ว จึงนำปลาไปปล่อยลงเลี้ยง
ขนาดและจำนวนพันธุ์ปลา
ขนาดและจำนวนปลาที่จะปล่อยลงเลี้ยงในนาแปลงหนึ่ง ๆ นั้นควรใช้ปลาขนาดความยาว 5-10 เซนติเมตร เพราะเป็นปลาขนาดที่เติบโตได้รวดเร็ว และพอที่จะเลี้ยงตัวหลบหลีกศัตรูได้ดี
จำนวนปลาที่จะปล่อยลงเลี้ยงนั้น ควรปล่อยในอัตราที่เหมาะสมต่อเนื้อที่นาอย่าให้มากหรือน้อยเกินไป หากมากเกินแล้วปลาจะเจริญเติบโตช้า เพราะปลาจะแย่งที่อยู่อาศัยและแย่งอาหารกันเอง ในเนื้อที่นา 1 ไร่ควรปล่อยปลาลงเลี้ยงประมาณ 400-800 ตัว แล้วแต่ขนาดของปลาหรือถ้าจะเลี้ยงปลาหลายชนิดรวมกันควรใช้สัดส่วนของปลาไนต่อปลาตะเพียนต่อปลานิล เท่ากับ 4 ต่อ 2 ต่อ 2 จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นหรือปล่อยปลาไน ปลาตะเพียน และปลานิลขนาด 3-5 เซนติเมตร อัตรา 500 ตัวต่อไร่ รวมกับปลาจีน 30-50 ตัวต่อไร่ ใช้เวลาเลี้ยง 6 เดือน จะได้ขนาดตลาดต้องการ และหากแปลงนามีน้ำสมบูรณ์อาจพิจารณาปล่อยปลาหัวโตหรือปลานวลจันทร์เทศอย่างหนึ่งอย่างใดหรือรวมกันเสริมลงไป ไม่เกิน 10-20 ตัวต่อพื้นที่ 1 ไร่ก็ได้ หลังจากปล่อยพันธุ์ปลาลงในแปลงนาแล้วในสัปดาห์ที่ 1-2 ควรให้อาหารสมทบแก่ลูกปลาขนาดเล็ก พวกรำละเอียดโปรยให้บริเวณที่ปล่อยปลาหลังจากนั้นจึงปล่อยให้ปลาหาอาหารกินเองในแปลงนา
อาหารและการให้อาหาร
การเลี้ยงปลาในนาเป็นการให้อาหารธรรมชาติในผืนนาที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ แต่อาหารธรรมชาตินี้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของปลา จำเป็นต้องเร่งให้เกิดอาหารธรรมชาติ โดยการใส่ปุ๋ยและให้อาหารสมทบ
ปุ๋ย ปุ๋ยที่เหมาะสมได้แก่ มูลสัตว์ที่หาได้ในท้องถิ่นใส่ในอัตราเดือนละ 50-80 กิโลกรัมต่อไร่ โดยการหว่านในร่องนาหรือกองไว้ที่มุมแปลงนาด้านใดด้านหนึ่งแล้วแต่ความสะดวก หรือผสมใช้ทำเป็นปุ๋ยหมักก็ได้ ส่วนการใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์นั้นสามารถใส่ได้ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำ
อาหารสมทบ ได้แก่ รำ ปลายข้าวต้มผสมรำ ปลวก แมลง ผัก และหญ้า ชนิดที่ปลากินได้ จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้การปลูกสร้างคอกสัตว์ เช่น ไก่ เป็ด ไว้บนแปลงนาจะเป็นการเพิ่มอาหารปลาเนื่องจากมูลสัตว์สามารถใช้เป็นปุ๋ยแก่ปลาได้ด้วย
การดูแลรักษา
1. ศัตรู โดยทั่วไปได้แก่ ปลาช่อน งู กบ เขียด หนู และนกกินปลา ก่อนปล่อยปลาจึงควรกำจัดศัตรูภายในผืนนาออกให้หมดเสียก่อน และควรระมัดระวังโดยพยายามหาทางป้องกันศัตรูที่จะมาภายหลังอีกด้วย
2. ระดับน้ำ ควรจะรักษาระดับน้ำให้ท่วมผืนนาหลังจากปล่อยปลาแล้วจนถึงระยะเก็บเกี่ยวอย่างน้อยประมาณ 1-2 คืบ (30 เซนติเมตร) เพื่อปลาจะได้หากินบนผืนนาได้ทั่วถึง
3. หมั่นตรวจสอบคันนาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันคันนารั่วซึมและพังทลาย สาเหตุมักเกิดจากการเจาะทำลายของปูนา และฝนตกหนัก
4. ยาปราบศัตรูพืช ไม่ควรใช้ยาปราบศัตรูพืชในแปลงนาที่มีการเลี้ยงปลาร่วมอยู่ด้วย เพราะยาฆ่าแมลงหรือยาปราบศัตรูพืชส่วนใหญ่เป็นอันตรายต่อปลาแม้ใช้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้ปลาถึงตายได้ แต่ในกรณีที่ต้นข้าวเกิดโรคระบาดจำเป็นจะต้องฉีดยาฆ่าแมลง ควรจับปลาออกให้หมดเสียก่อน
5. การใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ชนิดเม็ดที่ละลายได้ยากจะต้องระมัดระวังให้มากเพราะปลาอาจจะกินปุ๋ยทำให้ตายได้ ควรละลายน้ำแล้วสาดให้ทั่วผืนนา
ผลผลิตที่ได้
การเลี้ยงปลาในนาข้าวนอกจากจะได้ข้าวตามปกติแล้ว จากผลการทดลองพบว่าแปลงนาที่มีการเลี้ยงปลาควบคู่กับการปลูกข้าว จะได้ข้าวเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณไร่ละ 5 ถัง นอกจากนี้ยังได้ปลาอีกอย่างน้อยประมาณไร่ละ 20 กิโลกรัม ซึ่งถ้าหากมีการใส่ปุ๋ยและให้อาหารสมทบด้วยแล้วจะได้ผลผลิตปลาเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5 เท่า
การเลี้ยงปลาในนาข้าวเป็นอาชีพที่ชาวนาสามารถปฏิบัติได้เกือบตลอดปีเพราะนอกจากจะเลี้ยงปลาในนาในระยะที่ทำนาตามปกติแล้วหลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จ ชาวนายังสามารถใช้ผืนนาเดิมเลี้ยงปลาในระยะหลังการเก็บเกี่ยวได้อีกในกรณีที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ โดยเพิ่มระดับน้ำให้ท่วมผืนนาอย่างน้อยประมาณ 1-2 คืบ (30 เซนติเมตร) ตลอดระยะเวลาที่เลี้ยงปลา ผืนนาที่เคยถูกทอดทิ้งให้แห้งแล้งปราศจากประโยชน์จะกลับกลายสภาพเป็นบ่อเลี้ยงปลา ซังข้าวและวัชพืชบนผืนนาจะเน่าสลายกลายเป็นอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์แก่ปลา เป็นการใช้ประโยชน์จากผืนนาอีกครั้งหนึ่งจนกว่าจะถึงฤดูทำนาตามปกติ
การเลี้ยงปลาในนาข้าวเป็นการเพิ่มผลผลิตแก่พี่น้องชาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารได้เป็นอย่างดี หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะช่วยให้ชาวนามีการกินดีอยู่ดี กับทั้งจะเป็นการเสริมสร้างรายได้ของครอบครัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย ยิ่งกว่านั้นยังทำให้ชาวนาใช้ผืนนาในฤดูทำนาให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และแม้แต่หลังฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว ชาวนายังสามารถใช้ผืนนาให้เป็นประโยชน์ด้วยการเลี้ยงปลาได้อีก จึงควรที่พี่น้องชาวนาจะได้ริเริ่มดัดแปลงผืนนาของตนให้เกิดประโยชน์แก่ครอบครัว อันจะเป็นการช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้พัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นไป
คำแนะนำ
การป้องกันสัตว์น้ำจากภัยธรรมชาติ
"ภัยธรรมชาติ" หมายถึง อันตรายจากสิ่งที่เกิดมีและเป็นอยู่ตามธรรมชาติ ของสิ่งนั้น ๆ โดยมิได้มีการปรับปรุง อาทิ อุทกภัย และฝนแล้ง เป็นต้น กรมประมง จึงขอเสนอแนวทางป้องกันหรือลดความสูญเสียและความเสียหายแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากการประสบภาวะฝนแล้ง ฝนต้นฤดูและอุทกภัย ดังนี้
ภาวะฝนแล้ง
ภาวะฝนแล้งและฝนทิ้งช่วงทำให้ปริมาณน้ำมีน้อยทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำชลประทานซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเกิดผลกระทบต่อการประมง ตลอดจนสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการแพร่ขยายพันธุ์และการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ โดยมีวิธีการปฏิบัติดังนี้
1. ควบคุมการใช้น้ำและรักษาปริมาณน้ำในที่เลี้ยงสัตว์น้ำให้มีการสูญเสียน้อย เช่น การรั่วซึม การกำจัดวัชพืช
2. ทำร่มเงาให้สัตว์น้ำเข้าพักและป้องกันการระเหยน้ำบางส่วน
3. ลดปริมาณการให้อาหารสัตว์น้ำที่มากเกินความจำเป็นจะทำให้น้ำเสีย
4. เพิ่มปริมาณออกซิเจนโดยใช้เครื่องสูบน้ำจากก้นบ่อพ่นให้สัมผัสอากาศแล้วไหลคืนลงบ่อ
5. ปรับสภาพดินและคุณสมบัติของน้ำ เช่น น้ำลึก 1 เมตร ใส่ปูนขาว 50 กก./ไร่ ถ้าพื้นบ่อตะไคร่หรือแก๊สมากเกินไปควรใส่เกลือ 50 กก./ไร่ เพื่อปรับสภาพผิวดินให้ดีขึ้น
6. จับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นจำหน่ายหรือบริโภคในเวลาเช้าหรือเย็น เพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำในบ่อ
7. ตรวจสอบคุณสมบัติของน้ำจากภายนอกที่จะสูบเข้าบ่อเลี้ยง เช่น พบว่ามีตะกอนและแร่ธาตุต่าง ๆ เข้มข้น ควรงดการสูบน้ำเข้าบ่อ
8. งดเว้นการรบกวนสัตว์น้ำเพราะการตกใจจะทำให้สัตว์น้ำสูญเสียพลังงานและอาจตายได้
9. งดเว้นการขนย้ายสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด หากจำเป็นต้องทำอย่างระมัดระวัง
10. แจ้งความเสียหายตามแบบฟอร์มกรมประมง เพื่อการขอรับความช่วยเหลืออย่างถูกต้อง และรวดเร็ว
ภาวะฝนต้นฤดู
การเตรียมการรับภาวะฝนต้นฤดู เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควรปฏิบัติ ดังนี้
1. ไม่ควรสูบน้ำฝนแรกเข้าบ่อ เพราะน้ำจะพัดพาสิ่งสกปรกจากผิวดินลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ควรปล่อยให้น้ำมีปริมาณเพิ่มขึ้น จึงนำน้ำไปใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
2. ควรสูบน้ำในบ่อให้สัมผัสอากาศจะช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนและป้องกันการแบ่งชั้นของน้ำ
3. ป้องกันการไหลของน้ำฝนที่จะชะล้างแร่ธาตุและสารเคมีจากผิวดินลงสู่บ่อ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำได้
4. งดการรบกวน การจับและขนย้ายสัตว์น้ำ ควรรอจนกว่าคุณสมบัติของน้ำมีสภาพดีเป็นปกติ
5. งดจับสัตว์น้ำเพื่อการอนุรักษ์ เนื่องจากสัตว์น้ำจะผสมพันธุ์หลังจากฝนตกใหม่ ๆ
ภาวะอุทกภัย
การป้องกันสัตว์น้ำสูญหายจากภาวะอุทกภัยควรปฏิบัติตามสภาวะการณ์ก่อนเกิดภาวะอุทกภัย คือให้จับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดตลาดต้องการออกจำหน่าย ก่อนช่วงมรสุมในฤดูฝน พร้อมทั้งสร้างกระชังไนลอน กระชังเนื้ออวน บ่อซีเมนต์ หรือขึงอวนไนลอน เพื่อกักขังสัตว์น้ำ
"สัตว์น้ำจะปลอดภัย ให้ป้องกันหมั่นดูแล"