data-ad-format="autorelaxed">
ทุเรียน (durian) ชื่อวิทยาศาสตร์ Durio zibethinus ,ชื่อวงศ์ (Family) : Bombaceaceae ชื่อท้องถิ่น ภาคเหนือ เรียก มะทุเรียน ภาคใต้ เรียก เรียน มาเลเซีย-ใต้ เรียก ดูรียัน (กัวลาลัมเปอร์-เคดาห์) ดือแย (กลันตัน-ตรังกานู) ทุเรียนมีถิ่นกำเนิดบริเวณหมู่เกาะอินเดีย ในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ผลที่มีขนาดผลใหญ่ มีหนามแหลม รสชาติหวานมัน ได้ชื่อว่าเป็นราชาของผลไม้ (King of the fruits) เนื้อทุเรียนให้ธาตุอาหารหลายชนิด ได้แก่ ไนโตรเจน แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส โพแทสเซียม และกำมะถัน เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยม มีตลาดทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ทำให้ในปัจจุบันทุเรียนเป็น ไม้ผลที่ได้รับความนิยมของคนทั่วโลก
ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงทั้งยังอุดมไปด้วยกำมะถันและคอเลสเตอรอล ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานเพราะหากกินเข้าไประดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วยังทำให้ร้อนในและรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว
ลักษณะทั่วไป
ทุเรียน เป็นไม้ผลยืนต้น ลำต้น ตรง สูง 5 - 15 เมตร แตกกิ่งเป็นมุมแหลม ปลายกิ่งตั้งกระจายกิ่งกลางลำต้นขึ้นไป เปลือกชั้นนอกของลำต้นสีเทาแก่ ผิวขรุขระหลุดลอกออกเป็นสะเก็ด ไม่มียาง ไม่คัน ใบ เป็นใบเดี่ยว เกิดกระจายทั่วกิ่ง เกิดเป็นคู่อยู่ตรงกันข้ามระนาบเดียวกัน ก้านใบกลมยาว 2 – 4 ซม. แผ่นใบรูปไข่แกมขอบขนานปลายใบใบเรียวแหลม ผิวใบเรียบลื่น มีไขนวล ใบด้านบนมีสีเขียว ด้านล่าง (ท้องใบ) มีสีน้ำตาลเส้นใบด้านล่างนูนเด่น ขอบใบเรียบ ดอก เป็นดอกช่อ เกิดตามลำต้น และกิ่งก้านยาว 1 – 2 ซม. ลักษณะดอกสมบูรณ์เพศ มีดอกสีขาวหอม ลักษณะดอกคล้ายระฆัง ผล เป็นผลสดชนิดผลเดี่ยว เปลือกทุเรียนมีหนามแหลม แตกตามแต่ละส่วนของผลเรียกเป็นพู เนื้อในมีตั้งแต่สีขาว เมื่อสุกมีสีเหลือง อ่อน เมื่อแก่ผลมีสีเขียว เมื่อสุกมีสีน้ำตาลอ่อน เนื้อจะนิ่ม กึ่งอ่อนกึ่งแข็ง มีรสหวาน เมล็ด มีเยื่อหุ้ม เมล็ดกลมรี เปลือกหุ้มสีน้ำตาลผิวเรียบ เนื้อในเมล็ดสีขาว รสชาติ รสฝาด
นิเวศวิทยาและการขยายพันธุ์
ขึ้นได้ดีในดินร่วนซุยหรือดินร่วนปนทราย ชอบแสงแดด ชอบน้ำปานกลาง ขยายพันธุ์ ด้วยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง เสียบยอด ปลูกได้ทุกภาคในประเทศไทย มีมากทางภาคใต้ ส่วนใหญ่นิยมการขยายพันธุ์โดยใช้วิธีตอนกิ่งจะได้พันธุ์ตรงตามต้นแม่
ทุเรียนจะให้ผลผลิตหลังการปลูก 5 - 6 ปี ช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูงประมาณ 10 ปีขึ้นไป ผลผลิตประมาณ 80 - 110 ผล/ต้น หรือประมาณ 240 - 320 กก./ตัน/ปี (คิดน้ำหนักเฉลี่ยผลละ 3 กก.) ฤดูกาลของผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออก คือ เมษายน - มิถุนายน และภาคใต้ คือ มิถุนายน - สิงหาคม
ประโยชน์
ทางด้านอาหาร เนื้อใช้รับประทาน หรือนิยมใช้กวน เนื้อไม้ทำวัสดุก่อสร้าง
สรรพคุณทางยา
ทางด้านสมุนไพร รากแก้ท้องร่วง แก้ไข้ ใบทำให้หนองแห้ง ขับพยาธิ เปลือกแก้น้ำเหลืองเสีย ช่วยสมานแผล
ส่วนต่างๆ ของทุเรียนสามารถนำมาใช้เป็นยาได้ดังต่อไปนี้
- ใบ มีรสขม เย็นเฝื่อน สรรพคุณ แก้ไข้ แก้ดีซ่าน ขับพยาธิ และทำให้หนองแห้ง
- เนื้อหุ้มเมล็ด มีรสหวาน ร้อน ทำให้ความร้อน แก้โรคผิวหนัง ทำให้ฝีแห้ง และขับพยาธิ
- เปลือกลูก มีรสฝาดเฝื่อน สมานแผล แก้น้ำเหลืองเสีย พุพอง แก้ฝี ตาน ซาง คุมธาตุ แก้คางทูม และไล่ยุงและแมลง
- ราก มีรสฝาดขม แก้ไข้ และแก้ท้องร่วง
คติความเชื่อ
บางตำรากล่าวว่าเป็นต้นไม้ตามทิศ ที่ควรปลูกไว้ในบริเวณบ้านโดยให้ปลูกทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ถือเป็นเคล็ดลับว่า “ความเป็นผู้คงแก่เรียน”
ทุเรียน พันธุ์การค้าของประเทศไทย
ทุเรียน พันธุ์การค้าของประเทศไทยที่สำคัญมี 4 พันธุ์ ได้แก่
- พันธุ์กระดุม ผลจะมีขนาดค่อนข้างเล็ก น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ผลมีลักษณะค่อนข้างกลมด้านหัวและด้านท้ายผลค่อนข้างป้าน ก้นผลบุ๋มเล็กน้อย หนามเล็กสั้นและถี่ ขั้วค่อนข้างเล็กและสั้น ลักษณะของพูเต็มสมบูรณ์ ร่องพูค่อนข้างลึก เนื้อละเอียดอ่อนนุ่มสีเหลืองอ่อน เนื้อค่อนข้างบาง รสชาติหวานไม่ค่อยมัน เละง่ายเมื่อสุกจัด เมล็ดมีขนาดใหญ่
- พันธุ์ชะนี (D123) ผลมีขนาดปานกลางถึงใหญ่ น้ำหนักประมาณ 2.5-3 กิโลกรัม ผลมีรูปทรงหวด กล่าวคือ กลางผลป่อง หัวเรียว ก้นตัด ร่องพูค่อนข้างลึกเห็นได้ชัด ขั้วผลใหญ่และสั้น เนื้อละเอียด สีเหลืองจัดเกือบเป็นสีจำปา ปริมาณมาก รสชาติหวานมัน เมล็ดค่อนข้างเล็กและมีจำนวนเมล็ดน้อย
- พันธุ์หมอนทอง (D159) ผลมีขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 3-4 กิโลกรัม ทรงผลค่อนข้างยาวมีบ่าผล ปลายผลแหลม พูมักไม่ค่อยเต็มทุกพู หนามแหลมสูง ฐานหนามเป็นเหลี่ยม ระหว่างหนามใหญ่จะมีหนามเล็กวางแซมอยู่ทั่วไป ซึ่งเรียกหนามชนิดนี้ว่า เขี้ยวงู ก้านผลใหญ่แข็งแรง ช่วงกลางก้านผลจนถึงปากปลิงจะอ้วนใหญ่เป็นทรงกระบอก เนื้อหนาสีเหลืองอ่อนละเอียด เนื้อค่อนข้างแห้งไม่แฉะติดมือ รสชาติหวานมัน เมล็ดน้อยและลีบเป็นส่วนใหญ่
- พันธุ์ก้านยาว (D158) ผลมีขนาดปานกลาง น้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม ทรงผลกลมเห็นพูไม่ชัดเจน พูเต็มทุกพู หนามเล็กถี่สั้นสม่ำเสมอทั้งผล ก้านผลใหญ่และยาวกว่าพันธุ์อื่นๆ เนื้อละเอียดสีเหลืองหนาปานกลาง รสชาติหวานมัน เมล็ดมากค่อนข้างใหญ่
เพิ่ม พันธุ์พวงมณี ผลมีขนาดเล็กแต่ลูกคล้ายพันธุ์ชะนีตอนนี้เป็นที่นิยมมาก เพราะรสชาติดีและไม่เหม็น
---------------
เทคนิคการผสมเกสรทุเรียน
ทุเรียนเป็นผลไม้เมืองร้อนชนิดหนึ่ง ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดชุมพร และประเทศไทย และยังเป็นสินค้า Product Champion ที่กระทรวงเกษตรแลสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญและส่งเสริมให้เกษตรกรจัดการดูแลตั้งแต่กระบวนการผลิต ไปจนถึงการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นว่าทุเรียนเป็นไม้ผลที่ให้ผลตอบแทนที่ดีต่อเกษตรกรถ้าหากเกษตรกรสามารถบริหารจัดการกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องผลิตทุเรียนให้ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด โดยใช้ต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม และมีวิธีการผลิตที่ปลอดภัย ไม่เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การผลิตที่มีคุณภาพต่อไป
ทำไมจึงต้องผสมเกสรทุเรียน
ถ้าเกษตรกรปล่อยให้ เกสรทุเรียนผสมกันเองตามธรรมชาติ ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้น
1. ทุเรียนจะติดผลน้อย โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์ชะนีจะติดผลไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์ก้านยาวจะติดผลไม่เกิน 7 เปอร์เซ็นต์
2. ทุเรียนมักจะติดผลปลายกิ่งหรือกิ่งเล็ก ทำให้การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวลำบากต้องมีการโยงกิ่ง มักทำให้กิ่งฉีกหักได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อมีลมพายุ หรือฝนตกหนักจากสาเหตุ 2 ประการนี้ หากปล่อยทิ้งไว้ จะทำให้การปลูกทุเรียนได้รับผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับการลงทุนและผลผลิตมีคุณภาพต่ำตามมา
การแก้ไข
การนำเทคนิคการผสมเกสรทุเรียนมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการติดผลของทุเรียนจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้การติดผลของทุเรียนเกิดขึ้นได้ช้า เร็ว หรือมีขนาดของผลเท่า ๆ กัน และมีคุณภาพดีได้ด้วยนั้น เพียงใช้ขั้นตอนการปฏิบัติง่าย ๆ ดังนี้
การเตรียมอุปกรณ์
อุปกรณ์ที่ใช้ในการผสมเกสรทุเรียน มีดังนี้
1. พู่กัน
2. บันได
3. ถุงผ้าขาวบาง
4. กรรไกรตัดแต่งกิ่ง
5. กรรไกรเล็ก
6. ขวดหรือกระบอกพลาสติด
7. ไฟฉายหรือแสงสว่างชนิดอื่น
8. ป้ายสำหรับบันทึกชื่อพันธุ์ วัน เดือน ปี
ขั้นตอนการผสมเกสรทุเรียน
1. เวลา 09.00 – 12.00 น. ใช้กรรไกรเล็กตัดแต่งดอกพันธุ์แม่ให้เหลือเฉพาะดอกขาว และตัดเกสรตัวผู้ออกทิ้ง หลังจากนั้นใช้ถุงผ้าขาวบางคลุมดอกขาวพันธุ์แม่ไว้
2. เวลา 19.00 – 19.30 น. ทำการเก็บละอองเกสรตัวผู้ของพันธุ์พ่อ โดยใช้กรรไกรเล็กตัดเฉพาะอับละอองเกสรตัวเองผู้ที่แตกใส่ไว้ในขวดหรือกระบอกพลาสติก สำหรับละอองเกสรนี้สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าซึ่งจะมีลักษณะเป็นละอองสีขาวเกาะติดอยู่ที่อับละอองเกสร
3. เวลา 19.30 น. เป็นต้นไปเริ่มทำการผสมเกสร โดยใช้ปลายพู่กันแตะละอองเกสรตัวผู้แล้วนำไปแตะที่ยอดเกสรตัวเมียพันธุ์แม่ ซึ่งดอกเกสรพันธุ์แม่นี้จะมีลักษณะดอกกลม สีเหลือง แล้วคลุมด้วยผ้าขาวบางไว้ตามเดิม ผูกป้ายบันทึก เขียนชื่อพันธุ์ วัน เดือน และ ปี ที่ทำการผสมเกสร กิ่งทุเรียน ในแต่ละต้นมักมีจะมีระดับความสูงต่ำต่างกัน จึงแนะนำให้ปฏิบัติด้วยวิธีการ ดังนี้
วิธีผสมเกสรกิ่งที่อยู่ในระดับต่ำ
1. ตัดดอกทุเรียนที่กำลังบาน และพร้อมที่จะผสมเกสรของพันธุ์พ่อในเวลา 19.00 – 19.30 น. ไปทำการผสมเกสรโดยให้ส่วนของอับเกสรตัวผู้ที่มีละอองเกสร ตัวผู้สีขาวไปแตะกับยอดเกสรตัวเมียพันธุ์แม่
2. ตัดเฉพาะชุดของเกสรตัวผู้พันธุ์พ่อ โดยใช้มือจับก้านเกสรตัวผู้ ซึ่งที่ปลายก้านจะมีอับละอองเกสรตัวผู้เกาะอยู่ แล้วนำไปแตะกับยอดเกสรตัวเมียพันธุ์แม่
3. ตัดเฉพาะอับละอองเกสรตัวผู้ ที่มีละอองเกสรสีขาวเกาะอยู่ภายในดอกพันธุ์พ่อใส่ขวด แล้วใช้ปลายพู่กันแตะละอองเกสรตัวผู้นำไปแตะที่ยอดเกสรตัวเมียพันธุ์แม่
วิธีผสมเกสรกิ่งที่อยู่ในระดับสูง
1. เก็บละอองเกสรตัวผู้พันธุ์พ่อใส่ขวดผูกเชือกแล้วคล้องคอ ซึ่งเกษตรกรจะต้องทำการปีนขึ้นต้นทุเรียนแล้วใช้ปลายพู่กันแตะละอองเกสรตัวผู้ในขวด นำไปแตะที่ยอดเกสรตัวเมียพันธุ์แม่
2. ทำการเก็บละอองเกสรตัวผู้พันธุ์พ่อใส่ในกระป๋องพลาสติก แล้วใช้แปลงขนอ่อนต่อด้ามไม้ยาว ใช้ปลายแปลงแตะละอองเกสรตัวผู้ในกระป๋อง นำไปแตะที่ยอดเกสรตัวเมียพันธุ์แม่ วิธีนี้ไม่ต้องปีนขึ้นไปผสมเกสรบนต้นทุเรียน
ในกรณีต้นพันธุ์พ่ออยู่ใกล้กับต้นพันธุ์แม่ ไม่ว่าจะเป็นกิ่งต่ำหรือกิ่งสูง สามารถใช้แปลงขนอ่อนแตะละอองเกสรตัวผู้พันธุ์พ่อ แล้วนำไปแตะที่ยอดเกสรตัวเมียพันธุ์แม่ได้เลย
คู่พันธุ์ที่เหมาะสมในการผสมเกสร
การเลือกคู่พันธุ์ทุเรียนที่เหมาะสมสำหรับการผสมเกสร เพื่อให้ทุเรียนติดผลได้ดี สามารถเลือกจากคู่พันธุ์ที่เหมาะสมได้ ดังนี้
- เกสรตัวผู้พันธุ์หมอนทองและก้านยาว ผสมกับ พันธุ์แม่ชะนี
- เกสรตัวผู้พันธุ์หมอนทองและชะนี ผสมกับ พันธุ์แม่ก้านยาว
- เกสรตัวผู้พันธุ์หมอนทองและชะนี ผสมกับ พันธุ์แม่อีหนัก
- เกสรตัวผู้พันธุ์หมอนทองต่างต้นและชมพูศรี ผสมกับ พันธุ์แม่หมอนทอง
- เกสรตัวผู้พันธุ์ชะนีและชมพูศรี ผสมกับ พันธุ์แม่กระดุม
ผลทุเรียนที่เกิดจากการผสมเกสร
ผลทุเรียนที่ได้จากการใช้เทคนิคการผสมเกสรนั้นจะสังเกตได้ 2 ลักษณะดังนี้
ลักษณะภายนอก
1. การเจริญเติบโตของผลทุเรียนจะเร็วกว่าการผสมเกสรกันเองตามธรรมชาติ
2. รูปทรงของผลสวยงามไม่บิดเบี้ยว พูเต็มเกือบทุกพู
ลักษณะภายใน
1. ลักษณะเนื้อทุเรียน สีเนื้อทุเรียน รสชาติ ไม่แตกต่างจากทุเรียนที่ผสมเกสรกันเองตามธรรมชาติ
2. ในแม่พันธุ์ชะนี จะได้พูเต็ม และจำนวนพูต่อผลมาขึ้น
3. ในแม่พันธุ์กระดุมทอง จะได้เมล็ดลีบตั้งแต่ 29-55 เปอร์เซ็นต์
4. ในแม่พันธุ์หมอนทอง จะได้ความหนาของเนื้อมากตั้งแต่ 1.9 – 2.28 เซนติเมตร และมีเมล็ดลีบตั้งแต่ 40 – 59 เปอร์เซ็นต์
ประโยชน์ที่ได้รับ
1. สามารถกำหนดตำแหน่งการติดผล ตามกิ่งที่มีขนาดใหญ่ หรือกิ่งที่อยู่ในระดับต่ำได้
2. จะช่วยให้ทุเรียนติดผลดีขึ้น
3. ช่วยให้การปฏิบัติและดูแลรักษาสวนทำได้สะดวก
4. สามารถกำหนดวันเก็บเกี่ยวได้ และเก็บเกี่ยวได้ง่าย
5. จะทำให้ผลทุเรียนแก่ใกล้เคียงกัน หรือพร้อมกัน
6. รูปทรงผลสวยงาม พูเต็มเกือบทุกพู น้ำหนักและขนาดผลดี
7. ลักษณะคุณภาพของเนื้อทุเรียน และรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง
8. ได้รับผลผลิตทุเรียนมากขึ้น
9. ผลผลิตทุเรียนจะเป็นที่ต้องการของตลาด
เอกสารอ้างอิง
ทรงพล สมศรี 2532 “การผสมเกสรทุเรียนให้ติดผลดกและคุณภาพดี” เอกสารประกอบการสัมมนาอนาคตไม้ไทย ปี 32 จังหวัดจันทบุรี
ทรงพล สมศรี 2532 “การศึกษาการผสมเกสรทุเรียนพันธุ์ชะนีและก้านยาวโดยใช้เกสรตัวผู้พันธุ์ต่าง ๆ ” วิทยาสารสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กรุงเทพฯ
วันทนา บัวทรัพย์ มนตรี วงศ์รักษ์พานิช, 2533 “การปลูกทุเรียน” กรมส่งเสริมการเกษตร
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://chumphon.doae.go.th
th.wikipedia.org
อ้างอิง : http://e-learning.konmun.com/Fruit/durian-id49.aspx