data-ad-format="autorelaxed">
การปลูกข้าวนาปรังภาคอีสาน
การปลูกข้าวนาปรังภาคอีสาน เกษตรกรจะทำนาปรัง เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ข้าวที่นิยมปลูก ส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่คือข้าวเหนียวพันธุ์ กข.10 และข้าวจ้าวพันธุ์ชัยนาถ 1 ปลูกเพื่อการบริโภคในครัวเรือนมีเหลือจึงแบ่งขาย แต่ราคาก็ไม่สูงเช่นเดียวกับข้าวนาปี เช่น ข้าวนาปีกิโลกรัมละ 10 บาท ข้าวนาปรัง กิโลกรัมละ 3-4 บาท ประกอบกับต้นทุนในการปลูกค่อนข้างสูง ทำให้พื้นที่ในการปลูกต่อรายไม่น้อย ประมาณ 5 - 10 ไร่ /รายเท่านั้น
การปักดำจะทำในช่วงต้นเดือนธันวาคมและจะเก็บเกี่ยวในช่วงปลายเดือนมีนาคมแต่อาจมีชาวนาบางรายที่ปักดำล่าช้าเช่นปักดำในช่วงเดือนมกราคมก็จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนเมษายน
การปลูกข้าวนาปรังนั้นสำคัญที่การควบคุมน้ำให้ขังอยู่ตลอด ทำให้ต้องผันน้ำเข้านาประมาณสัปดาห์ละ 1 ครั้ง รวมเวลาในการเพาะปลูกประมาณ3 - 4 เดือนจึงสามารถเก็บเกี่ยวได้
วิธีการทำนาปรัง
1. การเตรียมแปลงเพาะกล้า จะทำการไถดินและตากดินไว้ 10-15 วัน จากนั้นระบายน้ำให้ท่วมแปลง แล้วทำการไถดินและเตรียมดิน ทำการปรับแปลงกว้าง 3 เมตร ความยาวของแปลงขึ้นอยู่กับสภาพแปลง ระยะระหว่างแปลง 50 เซนติเมตร
2. การหว่านกล้า หว่านเมล็ดลงในแปลงเพาะกล้า ใช้เมล็ดพันธุ์ 5 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อต้นกล้าอายุได้ 7 วัน จะหว่านปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตราเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของต้นกล้า เมื่อต้นกล้า 30 วัน ก็ถอนย้ายกล้าไปปลูก
3. การเตรียมแปลงนา ทำการไถ 2 ครั้ง ครั้งแรกไถดะและตากดินไว้ 10-15 วัน แล้วปล่อยน้ำให้ท่วมขังประมาณ 10 เซนติเมตร จากนั้นไถพรวนและทำเทือกเพื่อให้ดินร่วนขึ้น
4. การปลูก การปลูกโดยใช้กล้าข้าวอายุ 30 วัน การปักดำโดยใช้กล้า 3 ต้น (1 จับ) ระยะระหว่างต้น 30 เซนติเมตร และระยะระหว่างแถว 50 เซนติเมตร
5. การดูแลรักษา
5.1 การใส่ปุ๋ย หลังการปักดำ 15 วัน จะใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-8 ในอัตรา 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 หลังการปักดำ 5 เดือน โดยใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-8 อัตรา 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ และใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 ก่อนข้าวออกดอก 30 วัน โดยใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 5-10 กิโลกรัมต่อไร่ และใช้ปุ๋ยอัดเม็ดชีวภาพหว่านลงในแปลงนาควบคู่กับปุ๋ยเคมี
5.2 การควบคุมระดับน้ำ หลังการปักดำต้นข้าวยังไม่แตกกอ จะระบายน้ำให้ท่วมสูงประมาณ 10 เซนติเมตร เมื่อต้นข้าวแตกกอแล้วจะปรับระดับน้ำให้สูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร หลังจากข้าวออกรวงจะระบายน้ำออกจากแปลงเพื่อให้แปลงนาแห้ง
5.3 การป้องกันกำจัดศัตรูพืช จะใช้น้ำหมักชีวภาพจากสะเดาในการฉีดพ่นในแปลงนา
5.4 การตรวจสอบต้นผิดปกติ จะทำการตรวจแปลงนาหากพบต้นข้าวที่มีลักษณะแตกต่างจากพันธุ์ปลูกก็จะทำการถอนทิ้ง เพื่อป้องกันการปลอมปน
6. การเก็บเกี่ยว
6.1 ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว ระยะที่เหมาะสมคือ ระยะที่ข้าวออกดอกแล้วประมาณ 30-35 วัน โดยสังเกตจากรวงข้าวจะโน้มลง เมล็ดข้าวมีสีฟางหรือเหลือง
6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว ส่วนใหญ่ทำการเก็บเกี่ยวโดยใช้แรงงานภายในครอบครัว
6.3 การตากข้าวก่อนนวด หลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะตากข้าวไว้ในขอบแปลงนา 2-3 วัน เพื่อให้เมล็ดข้าวแห้ง
7. การนวดข้าว จะใช้การนวดข้าวด้วยเครื่องนวดข้าว มีเพียงบางรายที่ใช้การนวดโดยแรงงานคน การนวดด้วยเครื่องนวดในอัตรา 270-350 บาทต่อข้าว 1,000 ฟ่อน
8. การตากข้าวหลังนวด หลังการนวดเสร็จแล้วจะมีตากข้าวบนลานตาก 2-3 วัน เพื่อให้เมล็ดข้าวแห้งก่อนนำไปเก็บรักษาหรือจำหน่ายต่อไป
9. การเก็บรักษา จะเก็บเมล็ดข้าวโดยบรรจุกระสอบก่อนนำไปเก็บรักษาเพื่อรอการจำหน่าย ส่วนใหญ่จะเก็บไว้ในยุ้งฉางของตนเอง
10.การตลาด ข้าวนาปรังจะปลูกเพื่อการบริโภคในครัวเรือนมีเหลือจึงแบ่งขาย ราคากิโลกรัมละ 3-4 บาท ต้นทุนในการปลูกค่อนข้างสูง ทำให้พื้นที่ในการปลูกต่อรายไม่น้อย ประมาณ 5 - 10 ไร่ /รายเท่านั้น
11. ข้อแนะนำ เมล็ดพันธุ์ข้าวจะเปลี่ยนทุกๆ 3 - 4 ปี เนื่องจากหากเก็บไว้ขยายพันธุ์นานหลายปีอาจจะทำให้ข้าวกลายพันธุ์และแข็งกว่าปกติซึ่งโดยปกติข้าวนาปรังเมื่อทำให้สุกแล้วจะแข็งไม่นิ่มเหมือนข้าวนาปีและหากใช้พันธุ์ข้าวเดิมนานหลายปีจะทำให้ข้าวแข็งยิ่งขึ้น
ที่มา : ศูนย์ทางด่วนข้อมูลทางการเกษตร*1677
สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน จ. อุบลราชธานี
อ้างอิง: http://www.rakbankerd.com/