data-ad-format="autorelaxed">
การปลูกแตงโม
การปลูกแตงโมผลสดมีพื้นที่ปลูกมากในเขตอำเภอเมือง อำเภอพรรณานิคม อำเภอพังโคน อำเภอเต่างอย นอกจากนั้นยังมีการปลูกกระจายอยู่เกือบทุกอำเภอ การจำหน่ายจะมีพ่อค้าคนกลางไปรับซื้อในแปลงปลูก เกษตรกรบางรายก็จำหน่ายเอง พันธุ์ที่นิยมปลูกคือพันธุ์จินตหรา และพันธุ์ตอปิโด
ขั้นตอน การปลูกแตงโม
1. การเตรียมดินปลูก
เกษตรกรจะเตรียมดินโดยการไถพรวน 2 ครั้ง โดยการว่าจ้างรถแทรกเตอร์หรือรถไถนาเดินตาม ครั้งแรกไถดะ ความลึก 30-40 เซนติเมตร แล้วตากดินทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อโรค ไข่ของแมลงและตัวหนอน รวมทั้งวัชพืช จากนั้นทำการไถพรวนอีกครั้ง พร้อมหว่านปูนขาวและปุ๋ยคอกลงไปในแปลงปลูกเพื่อปรับสภาพดิน แล้วทำการยกแปลงปลูกความกว้าง 70-80 เซนติเมตร ความยาวแปลงปลูกขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ บางระยะจะใช้ผ้าพลาสติกคลุมแปลงปลูกเพื่อรักษาความชื้นและป้องกันวัชพืช
2. การปลูกแตงโม
การปลูกแตงโมมีวิธีการปลูก 2 แบบ คือ
1. การปลูกโดยการหยอดเมล็ดลงหลุมปลูก วิธีนี้จะมีการปลูกไม่มากนัก
2. การปลูกโดยการเพาะเมล็ดในถาดเพาะหรือเพาะลงถุงพลาสติก โดยใช้ดินผสมเป็นวัสดุเพาะ หยอดเมล็ดลงถาดเพาะหรือถุง 1-2 เมล็ด เมื่อต้นกล้ามีอายุ 2-3 สัปดาห์ ก็ทำการย้ายปลูกลงแปลงปลูก
การปลูกลงแปลงปลูก ระยะระหว่างต้น 80-90 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 2-3 เมตร เพื่อความสะดวกในการจัดเถาแตงโม
3. การดูแลรักษาแตงโม
3.1 การให้น้ำ แตงโมต้องการความชุ่มชื้นในการเจริญเติบโต ในการปลูกในช่วงฤดูแล้งจึงจำเป็นต้องดูแลความชุ่มชื้นของดินปลูก วิธีการให้น้ำโดยการปล่อยน้ำไปตามร่องแปลงปลูก 3-5 วันต่อครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพดินปลูก การให้น้ำมากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาเชื้อราได้ง่าย
3.2 การใส่ปุ๋ย ในระยะเตรียมดินมีการใช้ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมเป็นการเพิ่มธาตุอาหารในดิน และช่วยทำให้ดินปลูกโปร่งมีการอุ้มน้ำดีขึ้น นอกจากนั้นจะมีการใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มธาตุอาหารเพื่อการเจริญเติบโตของแตงโม เวลาในการใส่ปุ๋ยมี 2 ครั้ง หลังการปลูก
ครั้งที่ 1 ใส่ยูเรีย (46-0-0) รอบ ๆ ต้น เมื่อแตงโมมีใบจริง 4-5 ใบ
ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 ในอัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่ทางด้านข้างของแถวแตงโมแล้วกลบดิน
3.3 การจัดเถาแตงโม เพื่อให้แตงโมมีการเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ จึงต้องมีการจัดเถาแตงโม เพื่อให้เลื้อยไปในทางเดียวกันและมีการตัดแต่งกิ่งแขนง โดยจะเริ่มจัดเถาเมื่อแตงโมเจริญเติบโตมีความยาวเถา 30-50 เซนติเมตร และตัดเถาให้เหลือต้นละ 4 เถา และมีการริดกิ่งแขนงที่ไม่ต้องการออก
3.4 การปลิดผลทิ้ง แตงโมผลแรกที่เกิดจากเถาหลัก ส่วนใหญ่จะมีผลเล็ก มีคุณภาพต่ำ จึงจำเป็นต้องมีการปลิดผลทิ้งตั้งแต่ผลยังเล็ก โดยพิจารณาจากขนาดผลที่จะปลิดทิ้งต้องโตไม่เกินขนาดลูกปิงปอง การไว้ผลในแต่ละเถาจะต้องไว้ 1-2 ผล จึงจะทำให้ได้ผลผลิตที่ดี
3.5 การปฏิบัติต่อผลแตงโม เมื่อแตงโมติดผลแล้ว ผลมีขนาดเท่ากับกะลามะพร้าว ก็นำฟางรองใต้ผลเพื่อไม่ให้ผลสัมผัสดินโดยตรง หากมีกลับผลแตงโมให้ด้านที่สัมผัสฟางถูกแสงแดดก่อนเก็บเกี่ยว 10-14 วัน เพื่อให้ผลแตงมีสีสม่ำเสมอทั่วทั้งผล จะทำให้ผลแตงโมมีรสหวานขึ้น
3.6 การป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปัญหาที่เกษตรกรพบมาก คือ โรคเหี่ยว ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อรา และโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หากพบจะมีการถอนต้นทิ้ง และหากมีแมลงเต่าทองระบาดในแปลงปลูกจะมีการฉีดพ่นสารเคมีพวกเซฟวิน 85% นอกจากนั้นอาจพบการเกิดโรคราน้ำค้างของแตงโมก็ทำการฉีดพ่นยาแคปแทน ไซแนบ มาเน็บชนิดใดชนิดหนึ่ง ส่วนแมลงที่มักพบคือ แมลงเต่าทองที่กัดกินใบแตงเป็นวง ๆ การป้องกันกำจัด โดยใช้เซฟวิน 85% ส่วนเพลี้ยไฟที่มีการทำลาย ก็ต้องฉีดพ่นด้วยแลนเนท หรือไดเมทโธเอท
4. การเก็บเกี่ยวแตงโม (Harvesting)
การสังเกตการเก็บเกี่ยวผลแตงโม มีวิธีการทำได้หลายวิธี คือ
1. การนับอายุ ซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุ์แตงโม และสภาพอุณหภูมิของอากาศ แตงโมพันธุ์จินตหรา จะเก็บเกี่ยวได้หลังดอกบานประมาณ 30-45 วัน แตงโมพันธุ์ตอร์ปิโด จะเก็บเกี่ยวได้หลังดอกบานประมาณ 45-50 วัน
2. การสังเกตจากมือเกาะที่อยู่ใกล้ขั้วผลมากที่สุด จะเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นสีเหลือง และแห้งจากส่วนปลายมาหาโคน
3. การเคาะฟังเสียง เพื่อตรวจเช็คความอ่อนแก่ของผลแตงโม เมื่อเคาะฟังเสียงแล้ว มีเสียงผสมระหว่างเสียงกังวาลและเสียงทึบ แตงโมจะแก่พอดี
4. การสังเกตจากรอยด่างที่ก้นผล ส่วนที่ติดดินจะมีสีเหลืองเข้ม แสดงว่าเป็นแตงโมแก่จัด ถ้ายังคงมีสีขาว แสดงว่ายังอ่อนอยู่ไม่ควรเก็บ
การเก็บเกี่ยวผลแตงโม จะทำการเก็บตอนบ่าย หลีกเลี่ยงการเก็บผลแตงโมในตอนเช้า เพราะแตงโมจะมีความชื้นในผลสูงทำให้ผลแตกได้ง่าย
การจำหน่ายแตงโม
เกษตรกรผู้ปลูกจะจำหน่ายในรูปการขายเหมาทั้งสวนให้กับพ่อค้าที่เข้าไปซื้อที่แปลงปลูก หรือจำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางในท้องถิ่น ที่จะนำไปจำหน่ายในนอกเขตพื้นที่หรือต่างจังหวัด
อ้างอิง : http://www.pongrang.com