data-ad-format="autorelaxed">
การเพาะเมล็ดและการดูแลต้นกล้า
วัสดุเพาะเมล็ดที่แนะนำคือ “พีทมอส” (Peat Moss) เนื่องจากมีธาตุอาหารที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตในช่วงแรกของต้นกล้า และขุยมะพร้าวร่อนซึ่งมีคุณสมบัติอุ้มน้ำได้ดี โดยใช้พีทมอสสองส่วนผสมกับขุยมะพร้าวร่อนหนึ่งส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากันบรรจุลงถาดหลุมรดน้ำให้มีความชื้นพอประมาณ จากนั้นนำเมล็ดดาวเรืองจิ้มลงหลุมโดยนำด้านที่มีลักษณะแหลมเป็นด้านที่จิ้มลงหรืออาจใช้วิธีการวางเมล็ดลงในหลุมแล้วกลบด้วยขุยมะพร้าวก็ได้ หลังจากนั้น 3-5 วัน เป็นช่วงที่เมล็ดพัฒนาการงอกให้ต้นกล้าได้รับการพรางแสงประมาณ 80% เมื่อต้นกล้ามีใบเลี้ยงบานเต็มที่ ให้มีการพรางแสงประมาณ 50% เป็นเวลา 2-3 วัน จากนั้นเมื่อต้นกล้าพัฒนาใบจริงขึ้นมา 1 คู่ จึงสามารถให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดปกติโดยไม่มีการพรางแสง เมื่อต้นกล้าอายุได้ประมาณ 15-18 วัน หลังจากวันเพาะ หรือให้สังเกตว่าต้นกล้ามีใบจริงประมาณ 2-3 คู่ หรือรากเจริญเต็มหลุม จึงสามารถย้ายปลูกลงแปลงได้ ในช่วงนี้เกษตรกรควรเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งหากต้นกล้าที่เพาะมีความสมบูรณ์แข็งแรงดี การเจริญเติบโตหลังจากลงแปลงก็จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การย้ายกล้าในกรณีที่ต้นกล้ามีอายุมากเกินไปหรือเกิน 20 วัน จะทำให้ระบบรากแพร่กระจายได้ช้า การเจริญเติบโตก็ช้าไปด้วย
การเตรียมแปลง
เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากสำหรับการปลูกดาวเรือง การไถตากดินจะเป็นการช่วยฆ่าเชื้อโรคในดินซึ่งจะเป็นการช่วยลดการเกิดโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อรา-แบคทีเรียในดิน ควรมีการไถตากดินก่อนปลูกอย่างน้อยประมาณ 2 สัปดาห์ และทำการยกแปลงโดยแปลงควรมีขนาดกว้าง 1-1.2 ม. การเตรียมแปลงแนะนำให้มีการหว่านปูนขาว 300-400 กก./ไร่ จากนั้นก่อนปลูก ควรมีการใส่ปุ๋ยรองพื้น สูตร 0-46-0 หรือสูตรเสมอ หรืออาจเป็นปุ๋ยคอกก็ได้ เช่น ขี้ไก่อัดเม็ด ขี้วัว เป็นต้น หากดินเป็นดินเหนียวจัด ควรมีการปรับปรุงดินก่อนปลูกโดยการเติมอินทรีย์วัตถุ เช่น แกลบดิบเปลือกถั่ว รวมถึงปุ๋ยคอกและปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น เพื่อเป็นการปรับโครงสร้างของดินให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูก
การย้ายปลูก
แนะนำให้ย้ายปลูกในช่วงบ่ายหรือเย็นเป็นต้นไป เนื่องจากต้นกล้าสามารถตั้งตัวได้ดีกว่าการย้ายปลูกตั้งแต่ช่วงเช้า ระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ประมาณ 40-60 ซ.ม. ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 1-1.2 ม. แล้วแต่ฤดูกาล ช่วงหน้าหนาวและหน้าร้อน แนะนำให้ปลูกแถวคู่จะช่วยในการเก็บความชื้นในดิน ส่วนหน้าฝนแนะนำให้ปลูกแถวเดี่ยวซึ่งสามารถช่วยลดการเกิดโรคได้
การเด็ดยอด
หลังจากปลูกลงแปลงได้ประมาณ 10-15 วัน ทำการเด็ดยอดดาวเรือง โดยให้ดาวเรืองเหลือใบจริงไว้ 3 คู่ (6 ใบ) ทำการเด็ดคู่ที่ 4 ทิ้งไป ช่วงนี้ให้ระวังแมลงศัตรูดาวเรืองจำพวกเพลี้ยไฟ ไรแดง โดยจะทำลายยอดอ่อนที่ขึ้นมาใหม่ ทำให้ดาวเรืองชะงักการเจริญเติบโตได้
การเก็บเกี่ยว
หลังจากดาวเรืองอายุได้ประมาณ 60-65 วัน จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญมาก ควรให้ปุ๋ยดาวเรืองอย่างสม่ำเสมอ หรือทุก 7-10 วัน เพื่อให้อายุการเก็บเกี่ยวยาวนานและต้นไม่โทรมเร็ว โดยแปลงต้องมีความชื้นอยู่เสมอ
แมลงศัตรูที่สำคัญที่ควรระวังของดาวเรือง
- เพลี้ยไฟ จะเข้าทำลายดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน จะทำให้ใบหงิกงอไม่แตกใบใหม่ มักเกิดในช่วงหลังจากเด็ดยอด และในสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ควรฉีดพ่นสารเคมีในกลุ่ม ฟูโนบูคาร์บฟิโพรนิลทุก ๆ 5-7 วัน หรือทุก 2-3 วัน หากมีการระบาดมาก
- ไรแดง พบมากในช่วงฤดูร้อนส่วนใหญ่อยู่ใต้ใบชอบอยู่เป็นกลุ่ม หากมีปริมาณมากจะสร้างเส้นใยคล้ายใยแมงมุม พืชที่โดนทำลายจะแสดงอาการเป็นจุดด่างๆ สีเหลือง ควรฉีดพ่นสารเคมีในกลุ่ม อมิทราช, ไดโคโฟลทุก ๆ 5-7 วัน
- หนอนชอนใบ ตัวหนอนจะชอนไชเป็นทางยาว ใบที่ถูกทำลายจะแสดงลักษณะแคระแกร็น บิดเบี้ยว ควรฉีดพ่นสารเคมีในกลุ่มคาร์แท็ปไฮโดรคลอไรด์, อบาแม็กติน ทุก ๆ 5-7 วัน
- หนอนเจาะดอก จะเข้าทำลายในช่วงที่ดอกตูมหรือดอกเริ่มบาน หากรุนแรงจะทำให้กลีบดอกร่วงเสียหายไม่สามารถจำหน่ายได้ ควรป้องกันโดยการฉีดพ่นสารเคมีในกลุ่ม คาร์แท็ปไฮโดรคลอไรด์, ไซเพอร์เมทริน 35 ในช่วงดอกตูมทุก 3-5 วัน หากพื้นที่นั้นมีการระบาด
ตารางการดูแลรักษาดาวเรืองตัดดอกสายพันธุ์ทองเฉลิม
อายุต้นกล้า | การใส่ปุ๋ย + สารเคมี | อาหารเสริม (ฉีด-พ่น) |
1-18 วัน | ต้นกล้าอยู่ในถาดหลุม | |
เริ่มปลูกลงแปลงวันแรก | รดสารเคมีกลุ่มแคปแทนและ กลุ่มคลอไพริฟอส เพื่อป้องกัน เชื้อราและแมลง (หลังจากย้าย ปลูกทันที) | |
ลงแปลง 3-5 วัน | ปุ๋ยสูตร 25-7-7 หรือ 15-0-0 อัตรา 35-50 กก./ไร่ | แมกนีเซียม + ปุ๋ยเกร็ดตัวหน้าสูง |
เด็ดยอด 10-15 วัน | ปุ๋ยสูตร 25-7-7 หรือ 15-0-0 อัตรา 35-50 กก./ไร่ | แมกนีเซียม + ปุ๋ยเกร็ดตัวหน้าสูง |
ช่วงดอกตูม 30-35 วัน | ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 อัตรา 35-50 กก./ไร่ | แมกนีเซียม + สังกะสี + ปุ๋ยเกร็ด สูตรเสมอ ทุก ๆ 7-10 วัน |
ดอกเริ่มบาน 40-45 วัน | ปุ่ยสูตร 8-24-24 หรือ 13-13-21 อัตรา 35-50 กก./ไร่ | ปุ๋ยเกร็ดตัวกลางและตัวท้ายสูง + สังกะสี + แคลเซียมโบรอน ทุก ๆ 7-10 วัน |
ระยะเก็บเกี่ยว 60-70 วัน | ปุ่ยสูตร 8-24-24 หรือ 13-13-21 อัตรา 35-50 กก./ไร่ | ปุ๋ยเกร็ดตัวกลางและตัวท้ายสูง + สังกะสี + แคลเซียมโบรอน ทุก ๆ 7-10 วัน |
หมายเหตุ : ควรทำการฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชและแมลงทุก ๆ 5-7 วัน หรือทุก ๆ 2-3 วันหากพื้นที่นั้นเกิดการระบาด
ที่มาข้อมูล: เว็บไซต์ http://www.thongchalerm.com/