data-ad-format="autorelaxed">
การปลูกมะปราง
มะปรางเป็นไม้ผลที่ค่อนข้างทนทานต่อความแห้งแล้ง แต่น้ำยังเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและการออกดอกติดผลของมะปราง โดยเฉพาะในฤดูแล้งถ้าขาดน้ำมะปรางจะไม่มีการแตกยอดใหม่ หรือใบอ่อนที่แตกใหม่ก็ไม่ค่อยสมบูรณ์ สำหรับสวนนี้ไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำเพราะสวนตั้งอยู่ไม่ห่างจากแม่น้ำยมจึงวางท่อส่งน้ำจากแม่น้ำยมมาถึงสวนได้ ส่วนการให้ปุ๋ยก็ใช้ทั้งปุ๋ยหมักปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี ซึ่งปุ๋ยเคมีนั้นใช้น้อยมาก ปุ๋ยหมักก็ใช้เศษวัชพืชในสวนใบและต้นกล้วย ต้นพืชตระกูลถั่วกลบดิน และมีการทำปุ๋ยอินทรีย์น้ำใช้เองโดยใช้กล้วย ฟักทอง มะละกอสุกหมักรวมกับหัวเชื้อจุลินทรีย์ กากน้ำตาล หมักไว้ ประมาณ 7-8 วันก็นำไปใช้ได้
1. การปลูกมะปรางโดยการเพาะเมล็ด
การขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นวิธีที่ง่ายและสามารถขยายพันธุ์มะปรางได้จำนวนมาก มีข้อเสียที่มีการกลายพันธุ์และให้ผลผลิตช้าประมาณ 7 - 8 ปี แต่อย่างไรก็ตามยังมีเกษตรกรบางแห่งปฏิบัติอยู่ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากพันธุ์มะปรางที่เป็นต้นกิ่งทาบ หรือต้นต่อยอด มีราคาแพง ต้นละ 150 - 500 บาท พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกมะปรางได้ 25 ต้น (ระยะปลูก 8x8 เมตร) ใน 1 ไร่ จะเป็นค่าพันธุ์มะปรางชนิดผลใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นมะปรางหวานหรือมะยงจากสวนที่มีชื่อเสียงดีและเชื่อถือได้มาเพาะเมล็ด ซึ่งต้นเพาะเมล็ดดังกล่าวนั้นอาจจะให้ผลผลิตมีคุณภาพต่ำ คอยหาทางเปลี่ยนยอดพันธุ์ภายหลัง และเท่าที่ศึกษายังพบว่ามีเกษตรกรบางแห่ง เช่น สุโขทัย อุตรดิตถ์ ใช้วิธีการปลูกมะปรางจากต้นเพาะเมล็ดลงไปในสวนก่อนพอมีอายุได้ 1 - 2 ปี ค่อยดำเนินการเปลี่ยนยอดพันธุ์ชนิดผลใหญ่ภายหลัง ซึ่งวิธีหลังนี้จะใช้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการซื้อมะปรางพันธุ์ดีมาปลูกโดยตรง ลดความเสี่ยงจากการที่มะปรางบางต้นตาย หรืออาจจะมีขโมยมาลักไปก็ได้ แต่มีข้อจำกัดตรงที่การเปลี่ยนยอดภายหลังนั้น เกษตรกรจะต้องมีความรู้ ความสามารถในการเปลี่ยนยอดพันธุ์มะปรางพันธุ์ดีเป็นอย่างดี จึงจะประสบความสำเร็จ การเพาะเมล็ดมะปรางมีหลายวิธี ซึ่งแตกต่างกันแล้วแต่วัตถุประสงค์ เช่น การเพาะเมล็ดมะปรางเพื่อปลูกโดยตรง เพื่อใช้เป็นต้นต่อยอด เพื่อใช้เป็นต้นตอติดตา เพื่อใช้เป็นต้นตอเสริมราก และเพื่อใช้เป็นต้นตอการทาบกิ่ง ซึ่งแต่ละวัตถุประสงค์มีวิธีการเพาะเมล็ด ดังนี้
1.1 การเพาะเมล็ดมะปรางเพื่อปลูกโดยตรง
เป็นต้นตอต่อยอด เป็นต้นตอติดตา และเพื่อเป็นต้นตอเสริมราก ขั้นตอนการเพาะเมล็ด - ดำเนินการผสมดินปลูก ซึ่งประกอบด้วยดินร่วน 3 ส่วน ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 ส่วน และขี้เถ้าแกลบดำ 2 ส่วน ผสมวัสดุดังกล่าวให้เข้ากันดี แล้วนำไปกรอกดินใส่ถุงพลาสติกสีดำที่จัดเตรียมไว้แล้วขนาดถุง 4x7 นิ้ว หรือ 5x9 นิ้ว จัดเรียงไว้ในเรือนเพาะชำ หรือไว้ในที่ร่ม เช่น ใต้ต้นไม้ ไม่ควรเพาะเมล็ดมะปรางกลางแจ้งที่ได้รับแสงแดดโดยตรง เพราะต้นกล้ามะปรางที่ขึ้นมาใหม่ ยอดจะไหม้และมีเปอร์เซ็นต์ต้นตายมาก และถ้าเป็นไปได้ก่อนเรียงถุงพลาสติกสีดำที่กรอกใส่ถุงดังกล่าวแล้วนั้น ควรมีการปูพื้นด้วยผ้าพลาสติก เพื่อป้องกันรากมะปรางบางต้นออกมานอกถุงและดิน ซึ่งเวลาเคลื่อนย้ายถุงต้นมะปรางออกไปปลูก รากมะปรางอาจฉีกขาด มีผลให้มะปรางเหี่ยวเฉา ตายได้ และในการจัดเรียงถุง เพื่อเพาะเมล็ดนั้น ควรจัดเรียงถุงให้เป็นแถวทางด้านกว้าง ประมาณ 10 - 15 ถุง ส่วนความยาวตามความเหมาะสมจัดเป็นชุด 500 - 1,000 ถุง และแต่ละชุดควรเว้นช่องว่างไว้ประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อสะดวกในการดูแลรักษาต้นกล้า มะปรางในโอกาสต่อไป - นำผลมะปรางที่จะใช้เพาะเมล็ด โดยเลือกเฉพาะผลที่สุกและสมบูรณ์มาล้างเอาเนื้อออกให้หมด ผึ่งไว้ในร่ม ไม่ควรนำออกตากแดดเมล็ดมะปรางจะตายนึ่ง หลังจากล้างเอาเนื้อมะปรางออกแล้ว สามารถนำเมล็ดมะปรางไปเพาะเมล็ดได้ ซึ่งก่อนเพาะเมล็ดควรมีการนำเมล็ดมะปรางไปจุ่มสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา ก่อนทำการเพาะเมล็ดถุงแต่ละเมล็ด แต่ถ้ายังไม่พร้อมจะเพาะเมล็ดได้ ก็สามารถเก็บเมล็ดมะปรางไปเพาะในวันต่อๆ ไปได้ แต่ไม่ควรเกิน 30 วัน เพราะถ้าทิ้งไว้นานเกินไป เปอร์เซ็นต์การงอกจะลดลงมาก ในการเพาะเมล็ดควรใช้ไม้ไผ่กลมเล็กๆ แทงลงไปในดินลึกประมาณ 2 - 3 เซนติเมตร แล้วนำเมล็ดมะปรางมาหยอดลงในแนวนอนกลบเมล็ดด้วยดินเพาะ นำฟางข้าวหรือเศษหญ้าที่แห้งมาคลุมถุงเพาะชำมะปรางบางๆ ลดน้ำให้ความชื้นอยู่เสมอ อย่าให้แห้งหรือแฉะเกินไปประมาณ 5 - 10 วัน เมล็ดมะปรางจะงอกเป็นต้นกล้าขึ้นมา - เมื่อเมล็ดมะปรางงอกเป็นต้นกล้าแล้ว ควรมีการรดน้ำให้ปุ๋ยทางใบและมีการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะช่วงมะปรางแตกใบอ่อนใหม่ๆ มักจะมีเพลี้ยไฟมาดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ใบอ่อนมะปรางใบไหม้ ใบไม่สมบูรณ์ในที่สุด การเลี้ยงต้นกล้ามะปรางในเรือนเพาะชำประมาณ 1 ปี ต่อจากนั้นจึงนำมะปรางดังกล่าวไปปลูกโรงแปลงหรือไปใช้เป็นต้นตอต่อยอด เป็นต้นตอติดตาหรือใช้เป็นต้นตอเสริมรากตามแต่ละวัตถุประสงค์
1.2 การเพาะเมล็ดมะปราง เพื่อเป็นต้นตอทาบกิ่ง
ขั้นตอนการเพาะเมล็ด - จัดทำกระบะเมล็ดมะปรางในเรือนเพาะชำหรือใต้ร่มไม้ ซึ่งจะใช้กระบะอิฐบล็อกหรือกระบะไม้ไผ่ก็ใช้ได้ นำผ้าพลาสติกกันฝนมาปูที่พื้น เพื่อป้องกันรากมะปรางลงไปในดินมาก เวลาถอนต้นตอ รากจะขาดมีผลให้ต้นต้นมะปรางเหี่ยวเฉาหรือใช้เวลาตั้งตัวนานหลายวัน - นำขุยมะพร้าวมาใส่ลงในกระบะอิฐบล็อก หรือกระบะไม้ไผ่ให้มีความสูงของขุยมะพร้าวประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร รดน้ำให้ความชื้นกระบะอยู่เสมอ - นำเมล็ดมะปรางที่จัดเตรียมไว้เช่นเดียวกันการเพาะลงถุงพลาสติกสีดำ มาจุ่มสารเคมีป้องกันเชื้อราแล้วนำเมล็ดดังกล่าวไปหว่านลงกระบะเพาะ ให้เมล็ดมะปรางกระจัดกระจายทั่วกระบะ อย่าให้เมล็ดมะปรางติดกันเป็นกระจุก ต่อจากนั้นนำขุยมะพร้าวมาหว่านกลบเมล็ดมะปรางอีกครั้ง ความหนาประมาณ 3 - 5 เซนติเมตร ให้ฟางข้าวหรือเศษหญ้าคลุมกระบะบางๆ รดน้ำให้ความชื้นกระบะเพาะอยู่เสมออย่าให้แห้งหรือแฉะเกินไป ประมาณ 5 - 10 วัน เมล็ดมะปรางจะงอกเป็นต้นกล้า - เมื่อเมล็ดงอกเป็นต้นกล้าแล้ว ควรมีการรดน้ำ ให้ปุ๋ยทางใบและมีการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงเสมอ เลี้ยงต้นกล้าอยู่ในกระบะเพาะ 6 เดือน - 1 ปี ถอนต้นตอไปทาบกิ่งได้
2. การตอน
เป็นวิธีการทำให้มะปรางออกรากในขณะที่กิ่งยังติดอยู่กับต้นพันธุ์ดี เป็นวิธีที่ปฏิบัติมานานแล้ว แต่มีข้อจำกัดที่กิ่ง ตอนไม่มีรากแก้ว การเพาะเมล็ดหรือต้นทาบกิ่งอาจเจริญเติบโตช้า หรือโค่นล้มได้ง่าย อย่างไรก็ตามสามารถปรับปรุงแก้ไขได้โดยการปลูกต้นกิ่งตอนลงไปก่อน แล้วมีการเสริมรากภายหลัง ในการตอนมะปรางควรตอนในช่วงฤดูฝน วิธีการตอน - เลือกต้นมะปรางที่จะตอนจากต้นมะปรางพันธุ์ดีที่สมบูรณ์ มีอายุ 4 - 5 ปีขึ้นไป ซึ่งกิ่งที่จะใช้ตอนนั้นควรเป็นกิ่งที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป เป็นกิ่งเพสลาด สังเกตที่ผิวเปลือกของกิ่งเป็นสีน้ำตาลปนเขียวเป็นกิ่งที่สมบูรณ์ไม่เป็นกิ่งที่เป็นโรคหรือแมลงรบกวนกิ่งขนาดเท่าแท่งดินสอดำหรือมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย - ควั่นกิ่งที่จะตอนรอบกิ่งมะปรางสองรอยตรงบริเวณใต้ทางแยกของกิ่ง ให้รอยแผลห่างกันเท่ากับความยาวของเส้นรอบวงของกิ่งหรือประมาณ 2 - 3 เซนติเมตร ต่อจากนั้นใช้มีดกรีดระหว่างรอยควั่นเป็นแนวตรงจากรอยควั่นด้านบนลงล่างแล้วลอกเปลือกออกให้หมด นำสันมีดตอนมาขูดเยื่อเจริญของรอยควั่นออกโดยขูดเบาๆ และที่สำคัญอย่าใช้ด้านคมของมีดตอนขูดเนื้อเจริญ เพราะอาจขูดเข้าไปในเนื้อไม้ลึกเกินไป มีผลทำให้กิ่งมะปรางแห้งตายได้ หลังจากควั่นกิ่งแล้วควรทิ้งไว้ประมาณ 10 - 15 วัน ค่อยหุ้มกิ่งตอนด้วยขุยมะพร้าวต่อไป - นำสารเร่งรากที่ใช้กับไม้กึ่งเนื้อเข็งทาบบริเวณแผลด้านบนเพื่อกระตุ้นให้มะปรางออกรากได้เร็วขึ้น - นำขุยมะพร้าวที่พรมน้ำบีบจนน้ำหมดแล้ว ใส่ในถุงพลาสติกขนาด 3x 7 นิ้ว หรือ 4x6 นิ้ว มัดปากถุงให้เรียบร้อย - นำดินที่จัดเตรียมไว้แล้วมาหุ้มรอยแผลด้านบนบีบดินให้แน่น แล้วนำขุยมะพร้าวที่เตรียมไว้ในถุงพลาสติกมาหุ้มกิ่งตอนโดยใช้มีดกรีดตรงกลางถุงแล้วแบะถุงออกหุ้มรอบแผล
นำเชือกฟางมามัดด้านบนและล่างให้แน่น ไม่ให้ขุยมะพร้าวที่หุ้มหมุนได้ ซึ่งถ้ามัดไม่แน่นแล้ว วัสดุที่หุ้มกิ่งตอนจะสูญเสียความชื้นเร็วเกินไป มะปรางจะออกรากช้าหรือไม่ออกรากเลย ซึ่งช่วงที่ตอนอยู่นั้นควรมีการรดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ อย่าให้ขุยมะพร้าวแห้ง หลังจากนั้นประมาณ1 - 2 เดือน จะมีรากงอกออกมา ทิ้งเอาไว้ก่อนจนกว่ารากมะปรางจะมีสีน้ำตาลและมีรากฝอยออกมา - เมื่อกิ่งตอนมะปรางออกรากดีแล้ว ให้ตัดกิ่งตอนมะปรางไปแช่น้ำประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง ตัดแต่งกิ่งและใบที่มากเกินไปออกเพื่อลดการคายน้ำ ต่อจากนั้นนำกิ่งตอนไปชำลงถุงพลาสติกสีดำ ขนาดถุง 8x10 นิ้ว ซึ่งประกอบด้วยดินปลูกเป็นดินร่วน 3 ส่วน ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 ส่วน และขี้เถ้าแกลบดำ 2 ส่วน ดูแลรักษาต้นกิ่งตอนในเรือนเพาะชำหรือใต้ต้นไม้ที่มีแสงแดดรำไร มีการรดน้ำให้ความชื้นอยู่เสมอ มีการพ่นปุ๋ยทางใบและสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงเป็นระยะตามความเหมาะสม หลังจากนั้น 2 - 3 เดือน เมื่อเห็นต้นกิ่งตอนแข็งแรงดีแล้ว ให้นำไปปลูกลงแปลงหรือปลูกลงสวนต่อไป
การเตรียมดินและการปลูกมะปราง
มะปรางเป็นไม้ผลเมืองร้อนที่ปลูกง่ายปลูกได้ในดินหลายชนิด ทั้งดินเหนียว ดินร่วนและดินร่วนปนทราย และปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีอัตราการเจริญเติบโตช้ากว่าไม้ผลที่สำคัญหลายชนิด แต่มีอายุยืนยาว 80 - 100 ปี ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากมะปรางเป็นไม้ผลที่มีระบบรากแก้วหยั่งลึกลงไปในดินในแนวดิ่ง มีรากแขนงและรากฝอยหาอาหารในระดับผิวเล็กน้อย ในช่วงแรกที่มะปรางมีอายุน้อย 1 - 3 ปี รากมะปรางจึงหาอาหารเพื่อการเจริญเติบโตได้ไม่มาก ฉะนั้นในการปลูกมะปรางเพื่อเป็นการค้าที่มีการเจริญเติบโตเร็วและให้ผลผลิตสูงต่อไปในอนาคตนั้น เกษตรกรผู้ปลูกมะปรางจะต้องเตรียมดินปลูกที่เหมาะสม การเตรียมดินปลูก ในพื้นที่ราบและที่ดอน เช่น จังหวัดสุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร และนครสวรรค์ ควรมีการไถเตรียมดิน กำจัดวัชพืชในช่วงฤดูแล้ง พอต้นฤดูฝนทำการไถพรวนแล้วขุดหลุมปลูก ส่วนในที่ลุ่มและมีน้ำขัง เช่น แถบจังหวัดนนทบุรี อ่างทอง ควรปลูกมะปรางแบบสวนยกร่องโดยให้ร่องสูงจากระดับน้ำประมาณ 1 - 1.5 เมตร สันร่องกว้าง 6 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ขุดหลุมตรงกลางสันร่อง ปลูกแบบแถวเดียว การขุดหลุม หลังจากเตรียมพื้นที่เรียบร้อยแล้วให้ขุดหลุมกว้าง ยาว และลึกอย่างละ 75 - 100 เซนติเมตร อย่างน้อยที่สุด 50 เซนติเมตร ( 1 ศอก) แยกดินเป็น 2 ส่วน ชั้นบนแยกไว้ด้านหนึ่ง ชั้นล่างแยกไว้อีกด้านหนึ่ง ไม่ให้ปะปนกัน
เมื่อขุดหลุมเสร็จแล้วตากดินแต่ละหลุมไว้ 15 - 20 วัน ต่อจากนั้นนำปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักใส่ลงไปในหลุม ๆ ละ 2 - 3 ปี๊ป ผสมดินกับปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักให้เข้ากันดี โดยเอาดินบนลงก่อนแล้วค่อยตามด้วยดินชั้นล่างพูนดินหลุมปลูกสูงจากพื้นดินปกติประมาณ 5 - 6 นิ้ว เผื่อไว้สำหรับดินในหลุมยุบตัวลงภายหลัง ระยะการปลูก ในพื้นที่ราบหรือที่ดอน ควรใช้ระยะการปลูกระหว่างต้น 8 เมตร ระหว่างแถว 8 เมตร (4x4วา) หรือจะปลูกแถวชิด ใช้ระยะห่างต้น 4 เมตร และระหว่างแถว 4 เมตร (2x2วา) ก็ใช้ได้แต่จะต้องมีการตัดต้นตรงกลาง ทิ้งภายหลัง เมื่อทรงพุ่มชนกันเหลือ 8x8 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ระยะ 8x8 เมตร จะปลูกมะปรางได้ 25 ต้น ระยะชิด 4x4 เมตร จะต้องใช้ต้นพันธุ์ 50 ต้นต่อไร่ ส่วนการปลูกแบบสวนยกร่องควรใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 6 เมตร ระหว่างแถว 6 เมตร ปลูกแถวเดียวในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกมะปรางได้ 45 ต้น การเตรียมพันธุ์ ต้นพันธุ์มะปราง หรือกิ่งพันธุ์มะปรางที่พร้อมจะปลูกลงแปลงในสวนนั้น ควรมีลักษณะแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคและแมลงรบกวน และมีการชำอยู่ในถุงพลาสติกสีดำ หรืออยู่ในวัสดุเพาะชำอย่างน้อย 2 - 3 เดือน ไม่ควรเป็นกิ่งพันธุ์ที่มาจากกิ่งทาบที่ตัดลงมาจากต้นใหม่ ๆ หรือเป็นต้นพันธุ์ที่เคลื่อนย้ายมาจากต่างจังหวัดใหม่ ๆ เพราะต้นพันธุ์มะปรางเหล่านี้จะปรับตัวเข้ากับพื้นที่ปลูกใหม่ไม่ทัน จะมีเปอร์เซ็นต์ต้นตายมาก และก่อนที่จะนำต้นพันธุ์มะปรางไปปลูกลงแปลงหรือลงสวนควรมีการรดน้ำต้นมะปรางให้ชุ่ม เวลานำถุงพลาสติกออกจากต้น มะปรางดินปลูกจะไม่แตกง่าย ต้นมะปรางจะไม่ช้ำหรือชะงักการเจริญเติบโต
การปลูก
เมื่อมีการเตรียมต้นพันธุ์และเตรียมหลุมปลูกดีแล้ว ในแหล่งที่มีระบบน้ำชลประทานดีจะปลูกมะปรางควรปลูกต้นฤดูฝนเพราะต้นไม้จะได้รับน้ำฝนและความชื้นอย่างสม่ำเสมอ เจริญเติบโตได้เร็วขึ้นและเป็นการประหยัดแรงงานในการรดน้ำ ส่วนเวลาปลูกนั้นควรปลุกมะปรางในช่วงตอนเช้าหรือตอนเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่มีอากาศไม่ร้อนเกินไป นำต้นพันธุ์มะปรางที่จะปลูกไปวางไว้แต่ละหลุมปลูก ถ้าเป็นต้นกิ่งทาบควรใช้มีดกรีดพลาสติกที่พันโคนต้นออกเสียก่อน ต่อจากนั้นถ้าเป็นกิ่งพันธุ์ที่ชำอยู่ในถุงพลาสติกสีดำ ให้ใช้มีดกรีดด้านข้างก้นถุงพลาสติกจะหลุดออก ต่อจากนั้นยกต้นมะปรางไปปลูกลงหลุมปลูกที่จัดเตรียมไว้ ความลึกอย่างน้อย 25 เซนติเมตร กลบดินลงไปในหลุมเล็กน้อย แล้วดึงถุงพลาสติกสีดำส่วนที่เหลือขึ้นมา ใช้มีดตัดถุงออกจากต้นมะปราง การปลูกแบบนี้ดินปลูกที่อยู่กับถุงเพาะชำต้นมะปรางจะไม่แตกออก มะปรางจะตั้งตัวได้ดี กลบดินปลูกลงหลุมให้สูงกว่าระดับดินเดิมเล็กน้อย ใช้มือกดบริเวณรอบ ๆ โคนต้นให้แน่น นำหลักไม้ไผ่ เช่น ไม้ลวกหรือไม้เลี้ยง ยาว 80-100 เซนติเมตร ปักหลักที่โคนต้น ผูกต้นมะปรางกับหลักเพื่อกันลมโยก ถ้าบริเวณนั้นมีฟางข้าวหรือเศษหญ้าแห้ง ควรนำมาคลุมโคนต้นด้วย ต่อจากนั้นรดน้ำต้นมะปรางที่ปลูกใหม่อยู่เสมอ ข้อควรระวังถ้าพื้นที่ปลูกมีปลวกมาก ควรมีการใส่สารเคมีป้องกันกำจัดปลวกหรือแมลงในดินรองก้นหลุมก่อนปลูกด้วย
ผลผลิต
ผลผลิตจากสวนนี้จะออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม เป็นผลที่มีขนาดใหญ่ รสชาติหวาน เมล็ดเล็ก เนื้อแน่น และผลผลิตมะปรางจากสวนนี้ยังได้ชื่อว่า "มะปรางปลอดภัยจากสารพิษ"โดยมีรางวัลจากหน่วยงานต่าง ๆ การันตีคุณภาพ
การตลาด
กลยุทธ์ทางการตลาดของคุณบุญชอบคือจะทำในสิ่งที่แตกต่างจากสวนอื่น เน้นผลผลิตมีคุณภาพ เช่น ปลูกไม้ผลกลุ่มมะปรางหวาน ขณะที่สวนอื่น ๆ มักเน้นปลูกมะปราง -มะยง (ชิด) เป็นต้น โดยมีการพัฒนาคัดเลือกพันธุ์จากประสบการณ์ของตนเอง กว่า 20 ปีจนได้มะปรางหวานที่มีขนาดและรสชาติที่ได้คุณภาพดีเป็นที่ถูกใจของตลาดและผู้บริโภคจนหลายเป็นลูกค้าประจำและเข้ามาซื้อถึงสวน มีการคัดเลือกผลที่มีคุณภาพดี ผลใหญ่บรรจุกล่องเพื่อจำหน่ายในตลาด อตก. กรุงเทพฯ ถ้าเป็นเกรดเอขาย ก.ก. 200-300 บาท
การจัดการศัตรูพืชแบบธรรมชาติ
สำหรับการกำจัดศัตรูพืชในสวนจะคำนึงถึงความสมดุลของระบบนิเวศ ความปลอดภัยของทั้งผู้ปฏิบัติงานในสวนและผู้บริโภคเป็นสำคัญ โดยในสวนมี แมลงปอ ที่จะช่วยจับแมลงหวี่ เพลี้ยไฟ ในหนองน้ำก็มี ลูกอ๊อด ซึ่งจะเจริญเติบโตเป็น กบ คอยกินแมลงปีกแข็งที่เป็นศัตรูไม้ผล มี กิ้งก่า กินแมลงปีกแข็งและแมลงวันทอง ส่วนผีเสื้อกลางคืนก็จะถูก ค้างคาว จับกินเป็นอาหาร ซึ่งหากมีการจัดการและควบคุมสิ่งแวดล้อมในสวนให้ดีก็จะสามารถสร้างระบบนิเวศขนาดย่อมขึ้นได้ ใช้กลไกเหล่านี้เป็นแรงงานของสวนโดยธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระในการจัดการแมลงศัตรูพืชได้ นอกจากนี้ยังใช้สมุนไพรหลาย ๆ ชนิดมาหมักรวมกันแล้วนำมาพ่น เช่น หางไหล หนอนตายหยาก สาบเสือ บอระเพ็ด ฟ้าทะลายโจร สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้น ข่า ผลมะกรูด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การใช้สมุนไพรในการกำจัดศัตรูพืช ดังกล่าวเป็นวิธีที่ดีแต่การนำสมุนไพรหลาย ๆ ชนิดมาหมักรวมกันแล้วพ่นนั้นมีผลการศึกษาออกมาว่าสารฤทธิ์ของสมุนไพร แต่ละชนิดจะมีฤทธิ์เสริมหรือหักล้างกันเพราะถ้าสารออกฤทธิ์หักล้างกัน วิธีการหมักรวมกันก็ไม่น่าจะเกิดประโยชน์อันใดอีกทั้งเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ การใช้สารสกัดจากสมุนไพรเพียงชนิดเดียวก็น่าจะเพียงพอสำหรับศัตรูพืช แต่ละชนิด เช่น สะเดา หรือหนอนตายหยาก เป็นต้น
ข้อมูลองค์ความรู้จาก rakbankerd.com