data-ad-format="autorelaxed">
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพจน์ โตวิจักษ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน แถลงผลประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2559 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดย นายวันชัย กล่าวว่า เนื่องจากปีนี้แล้งมาตลอด แต่คาดว่าเดือน พ.ค. จะเข้าสู่ภาวะปกติ ที่เปลี่ยนจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝน โดยฝนจะเริ่มตกในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. และคาดว่าจะมีฝนตกมากกว่าปีที่แล้ว แต่จะทิ้งช่วงในปลายเดือน ก.ค.-ส.ค. แต่เชื่อว่าปริมาณน้ำฝนจะใกล้เคียงและมากกว่าปกติ ขณะที่พายุจะเกิดขึ้นปีละ 1-2 ลูก ปีนี้ก็เป็นตามเกณฑ์ โดยส่วนใหญ่เกิดหลังฤดูฝน
ด้าน นายสุพจน์ กล่าวว่า น้ำสามารถใช้อุปโภคบริโภค จนถึงเดือน ก.ค. ในกรณีที่ฝนไม่ตกเลย และน้ำปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 4 พันกว่าล้าน ลบ.ม. แต่สามารถบริหารจัดการได้ และเมื่อกรมอุตุฯ ยืนยันว่าฝนตก ก็ไม่มีปัญหา ขณะที่ผลการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์น้ำ 58-59 ในส่วนประปาหมู่บ้าน ที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่าภายในปี 60 ทุกหมู่บ้านจะมีน้ำประปา ซึ่งยืนยันว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย โดยขณะนี้มีการดำเนินการไปแล้ว 5,583 หมู่บ้าน ทำไปแล้ว 75% จาก 7,490 หมู่บ้าน นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังมีแนวคิดให้นำการจัดการน้ำจากต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ อิสราเอล มาประยุกต์ใช้ โดย นายกฯ ระบุว่า ให้ดูประเทศอื่นๆ ว่าจัดการน้ำอย่างไร และนำสิ่งที่ดีมาปรับใช้กับประเทศไทย ขณะที่คลังข้อมูลน้ำนั้น มีการมอบหมายให้สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) มีหน้าที่บูรณาการงานร่วมกัน ทุกหน่วยงานที่ต้องใช้น้ำ จะใช้ข้อมูลในชุดเดียวกันทั้งหมดนี้จากหน่วยงานดังกล่าว
นายสุเทพ กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นห่วงเกษตรกรที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ในบางพื้นที่ แต่เมื่อทราบว่าฤดูฝนจะเข้าสู่ภาวะปกติก็ถือเป็นเรื่องที่ดี โดยกรมชลประทานวางแนวทางในกรณีที่ฝน จะประกาศให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาดำเนินการเพาะปลูกก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่ม ส่วนเกษตรกรในพื้นที่ดอน ต้องขอความร่วมมือให้ปลูกในภายหลัง เพราะต้องมีการทดน้ำเข้าสู่ระบบส่งน้ำและบริหารจัดการพื้นที่และช่วงเวลาให้ได้ ส่วนพื้นที่ทั่วไปแนะนำให้เกษตรกรเพาะปลูกตามฤดูกาล
นายสุเทพ กล่าวว่า กรมชลประทานมีข้อเสนอเข้าใช้พื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ในการศึกษาโครงการต่างๆ ที่ยังติดขัด จึงมีการเร่งรัดให้รวดเร็ว โดยเฉพาะโครงการที่ผ่านการศึกษาผลกระทบต่างๆ แล้วว่า จะมีวิธีการอย่างไรที่จะให้กรมชลประทานสามารถเข้าไปดำเนินการได้เร็วที่สุด นอกจากนี้การระบายน้ำฝนชุมชนถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ประชุมจึงขออนุมัติหลักการศึกษาทำเส้นทางระบายน้ำคู่ขนานวงแหวน แต่ในส่วนที่ได้รับงบประมาณพัฒนาไป แต่ปี59 ยังคงล้าช้า จึงขออนุมัติหลักการใช้งบประมาณเหลือจ่ายต่างๆ เข้าไปเร่งรัดเพิ่มเติมอีก
ข้อมูลจาก naewna.com/local/212330