ห่างหายการเขียนบทความด้านการเกษตรมานาน วันนี้ฟ้าครึ้มฝนอีกวัน สมองแล่น ขอแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับดินให้เพื่อนๆ ฟังนะคะ
การจะปลูกพืชให้ได้ผลดีสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือดินหรือโครงสร้างของดิน ไม่ใช่ปุ๋ยและปุ๋ยก็ไม่ใช่แค่ธาตุอาหารหลักอย่าง NPK นะคะ การให้ปุ๋ยซึ่งเป็นธาตุหลักอย่างเดียว บางครั้งพืชก็ไม่สามารถนำธาตุหลักไปใช้ประโยชน์ได้ หากขาดธาตุรองที่ส่งเสริมกัน ใส่ปุ๋ยไนโตรเจน (N) ใส่อย่างไรก็ไม่เขียว หรือ พืชไม่โต เพราะอะไร เพราะยังมีปัจจัยเรืองธาตุรองที่เกียวข้องกัน ในเรืองความสามารถในการดูดไนโตรเจนขึ้นไปใช้อีก (เรื่องปุ๋ย จะแยกออกเป็นอีกหนึ่งบทความวันหลังนะคะ)
แต่ที่สำคัญหลักๆเลยต้องพิจารณาเรืองดินเป็นหลักก่อน ดินที่เรารู้จักส่วนใหญ่ จะมีแค่ ดินเหนียว ดินร่วน และ ดินทราย แต่ยังมีเนื้อดินที่มีลักษณะผสมกันอีกหลายแบบ
1. ดินเหนียว
- ดินเหนียวสีดำ ดินแบบนี้มักจะปลูกพืชไร่ได้ผลมาก เช่น ถั่วลิสง ข้าวโพด ข้าวฟ่าง เพราะในดินเหนียวสีดำนี้ จะมีธาตุอาหารหลัก โปแทสเซี่ยมและฟอสฟอรัส ค่อนข้างสูง แต่จะไม่เก็บธาตุไนโตรเจน ดินแบบนี้พบมากแถบจังหวัดที่เคยเป็นลุ่มน้ำมาก่อน หรือติดกับแม่น้ำ อย่าง กาญจนบุรี , นครสวรรค์ , โคราช, เพชรบูรณ์ ลพบุรี หรือพื้นที่มีภูเขานะคะ จะมีอินทรีย์วัตถุในดินสูงและเก็บความชื้นได้ดี ปลูกพืชไร่ได้ผลสูงโดยที่แทบไม่ต้องใส่เคมี ตัว PK เลย (แต่ต้องดูว่าดินผ่านการปลูกพืชกี่รอบแล้ว ยังเหลือธาตุอาหารอยู่เยอะหรือไม่ด้วยนะคะ )
- ดินเหนียวที่มีสีแดง หรือออกสีน้ำตาลแดง ดินแบบนี้มักจะมีหินลูกรังปนอยู่มาก พบมากในที่ราบเชิงเขา ดินแบบนี้มีลักษณะเหมือนดินเหนียวสีดำแต่จะมีธาตุอาหารน้อยกว่า โดยเฉพาะตัว N ถ้าพบดินแบบนี้ปลูกพืชส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเขียว หรือโตไม่ดี หากดินปนลูกรังแบบนี้แนะนำให้ปลูกพืชรากสั้น หากินไม่กว้างมาก อย่างสัปรด จะชอบดินแบบนี้ พบมากแถบภาคกลาง อย่าง อุทัยธานี กำแพงเพชร แพร่ น่าน โคราช แถบ อำเภอโชคชัย ปากช่อง สูงเนิน นะคะ
2. ดินร่วน
- ดินร่วนปนเหนียวสีน้ำตาล เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณใกล้เคียงกับดินเหนียวสีดำ แต่ปลูกพืชได้หลากหลายกว่า อ้อยและมันสำปะหลัง จะเจริญเติบโตดีในสภาพดินแบบนี้ ดินแบบนี้พบมากที่จังหวัด กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม พิษณุโลก อุทัยธานี และจังหวัดรอบๆค่ะ
3. ดินทราย+ร่วนทราย
เป็นดินที่พบมากทางภาคอิสาน เหมาะกับการปลูกข้าว และพืชอายุสั้น หมุนเร็ว ดินแบบนี้จะมีธาตุอาหารค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะตัวโพแทสเซี่ยม และมีอินทรียวัตถุในดินน้อยมากๆ เพราะไม่เกิดการทับถมของตะกอนจากแม่น้ำ และมักจะพบดินเป็นกรดค่อนข้างมากเลย หรือที่อิสานเราจะเรียกว่า ดินเป็นเอียด หรือเป็นกรด เวลาปลูกข้าว หรือพืชอื่น จะตายเป็นเวิ้งๆ เป็นโซน เป็นดินหัวโล้นไปเลย ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นแม้แต่หญ้าในบริเวณนั้น
ดังนั้นดินแบบนี้ เวลาจะปลูกข้าว หรือพืชหมุนเร็ว ต้องเน้นปุ๋ยทุกอย่างเลย การปรับโครงสร้างของดินด้วยอินทรียวัตถุอย่าง ขี้วัวขี้ควาย การปลูกปอเทิอง การปลูกพืชตระกูลถั่ว จะช่วยปรับดินให้ลดความเป็นกรดและเพิ่มความสมบูรณ์ของดินให้ดีได้ จากนั้นค่อยใส่ธาตุหลัก NPK ให้กับพืช จะทำให้ผลผลิตของพืชเพิ่มขึ้นมาได้ค่ะ มันสำปะหลัง ก็สามารถปลูกในดินแบบนี้ได้ ทำให้หัวมันสำปะหลังแทงไปได้ดี แต่ต้องใส่ปุ๋ยให้มากโดยเฉพาะตัว K ที่เป็นอาหารจำเป็นสำหรับการสร้างหัวและแป้งค่ะ
แต่หากอยากทราบธาตุอาหารในดินที่แน่นอน แนะนำให้ตรวจดินก่อนปลูกพืชจะตอบโจทย์ที่สุดค่ะ เพราะธาตุอาหารไม่ว่าจะเป็น ธาตุหลัก NPK หรือธาตุรอง มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า นอกจากการวิเคราะห์จากลักษณะของพืชที่ปลูก แต่พบข้อผิดพลาดมากค่ะ
บทความโดย ปริม ฟาร์มเกษตร
สนับสนุนโดย
iLab ตรวจดิน วิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน
www.iLab.Asia ปุ๋ยตรา FK จากฟาร์มเกษตร ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์
Law of the minimum