data-ad-format="autorelaxed">
ปอเทือง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crotalaria jncea
ลักษณะทางพฤกษาศาสตร์ : ปอเทือง เป็นพืชตระกูลถั่ว ฤดูเดียว ลำต้นตั้งตรงแตกกิ่งก้านสาขามาก สูงประมาณ 150 – 190 เซนติเมตร ใบเป็น ใบเดียวยาวรี ช่อดอกเป็นแบบบราซีม (racemes)ซึ่งอยู่ปลายกิ่งก้านสาขา ประกอบด้วย ดอกย่อย 8 – 20 ดอก ดอกสีเหลืองมีการผสมข้ามฝัก เป็นทรงกระบอกยาว 3 – 6 เซนติเมตร กว้าง 1 – 2 เซนติเมตร หนึ่งฝักมีประมาณ 6 เมล็ด เมื่อเขย่าฝักแก่จะมีเสียงดัง เนื่องจากเมล็ดกระทบกัน
เมล็ดมีรูปร่างคล้ายหัวใจสีน้ำตาลหรือดำ เมล็ด 1 กิโลกรัม จะมีเมล็ด จำนวน 40,000 – 50,000 เมล็ด หรือ 1 ลิตร จะมีประมาณ 34,481 เมล็ด
วิธีการปลูก : ปลูกโรยเป็นแถว ระหว่างแถว 80 – 100 ซม. หรือปลูกเป็นหลุม ใช้ระยะปลูก 50 X 100 หลุม ๆ ละ 1 – 3 ต้น
อัตราเมล็ดที่ใช้ปลูก : การปลูกแบบหว่านเพื่อไถกลบใช้เมล็ดประมาณ 3 – 5 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกเป็นหลุมใช้เมล็ด 2 – 4 กิโลกรัมต่อไร่
การดูแลรักษา : จะทำการถอนเพื่อจัดระยะปลูกเมื่ออายุ 2 – 3 สัปดาห์ ต้องพรวนดินกลบโค่นและกำจัดวัชพืช ใช้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา 20 – 30 กิโลกรัมต่อไร่ พ่นยากำจัดเชื้อรา และแมลงศัตรูพืช อาจมีการพ่นปุ๋ยทางใบ และสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชในช่วงออกดอกติดฝัก เช่น ปุ๋ย 10-52-17 และ NAA ความเข้มข้น ประมาณ 100 – 200 ppm. อาจจะเพิ่มผลผลิตถึง 150 – 200 กิโลกรัมต่อไร่ ในระยะเก็บเกี่ยว หากมีฝนซึ่งมักจะตกในช่วงระหว่างฤดูหนาวกับฤดูแล้ง ทำให้ฝักปอเทืองขึ้นรา ดังนั้น จึงควรเก็บให้ทันอย่าให้ถูกฝน
การใช้ประโยชน์ : ปอเทืองเป็นพืชตระกูลถั่วที่ให้น้ำหนักสด
ต่อไร่ 2 -5 ตัน/ไร่ เมื่อไถกลบจะปลดปล่อยธาตุอาหาร โดยเฉพาะไนโตรเจนในปริมาณสูง นิยมปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้กับดิน โดยเฉพาะ ในการปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ เจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่ดอน โดยปลูกในรูปแบบของพืชหมุนเวียน โดยหว่านหรือโรยเมล็ดก่อนการปลูกหลัก เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย หรืออาจปลูกในรูปแบบของพืชแซม โดยปลูกระหว่างแถวพืชหลัก เช่น ระหว่างแถว อ้อย มันสำปะหลัง แล้วไถ/สับกลบเมื่อปอเทืองอายุประมาณ 50 – 60 วัน ในขณะที่ดินยังมีความชื้นแล้วทิ้งไว้ 7 – 10 วัน ปลูกหลังจากพืชหลัก
ปุ๋ยพืชสด
ปุ๋ยพืชสด คือ ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ได้จากการไถกลบหรือตัด สับ ต้น ใบ และส่วนต่าง ๆ ของพืชในขณะที่ยังสดปกตินิยม
ใช้พืชตระกูลถั่วเพื่อเจริญเติบโตเร็วขึ้นได้ในดินหลายชนิด ที่สำคัญ คือ พืชตระกูลถั่วสามารถจับหรือตรึงธาตุไนโตรเจน (ที่เป็นธาตุอาหารหลักของพืชจากอากาศได้) โดยไถกลบในช่วงออกดอกซึ่งเป็นช่วงที่มีธาตุอาหารและน้ำหนักสูงสุด ทิ้งไว้ ให้ย่อยสลายผุพังแล้วปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืชที่จะปลูกตามมา พืชที่ใช้ปลูกเป็นปุ๋ยพืชสด ได้แก่ ปอเทือง ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม โสนอัฟริกัน ถั่วมะแฮะ ไมยราบไร้หนาม พืชตระกูลถั่วต่าง ๆ เป็นต้น
ประโยชน์ของปุ๋ยพืชสด
1.เพิ่มอินทรียวัตถุ (Organic matter) การไถกลบพืชปุ๋ยสดลงในดินจะทำให้การเพิ่มขึ้นของอินทรียวัตถุในดิน หลังจากพืชปุ๋ยสดนั้นสลายตัวสมบูรณ์แล้ว และยังเป็นการชดเชยปริมาณอินทรียวัตถุในดินที่สูญเสียไป เนื่องจากการเพาะปลูกหรืออื่น ๆ ก็ตามด้วย หากทำการไถกลบพืชปุ๋ยสดอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ ก็จะทำให้ดินนั้นมีปริมาณอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้นอันจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดิน อีกทั้งอินทรียวัตถุยังช่วยในการรักษาและปรับปรุงโครงสร้างของดินให้มีสภาพเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอีกด้วย
2.เพิ่มไนโตรเจนให้แก่ดิน ปุ๋ยพืชสดที่ได้จากการไถกลบและสลายตัวในดินโดยสมบูรณ์แล้ว จะเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้แก่ดินเป็นอย่างดี ประมาณ 9.10-36.30 กิโลกรัมต่อไร่ ต่อการไถกลบ 1 ครั้ง ซึ่งได้จากการสลายตัวของพืชปุ๋ยสดนั้นเอง และแบคทีเรียที่ชื่อ Rhizobium sp.ซึ่งอาศัยอยู่ในปมรากพืชตระกูลถั่วสามารถตรึงไนโตรเจน ธาตุไนโตรเจนนี้จะเป็นประโยชน์แก่พืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ปลูกตามมา โดยพืชสามารถดูดไปใช้ได้
โดยเฉลี่ยประมาณ 50-80 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณไนโตรเจนในพืชทั้งหมด
ทำให้สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรียและปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต
3.รักษาปริมาณธาตุอาหารในดิน เนื่องจากพืชที่ปลูกเป็นพืชปุ๋ยสด จะดูดหรือใช้ประโยชน์ปุ๋ยซึ่งตกค้างอยู่จากการใส่ให้พืชหลักหรือพืชเศรษฐกิจ อันเป็นการป้องกันการสูญเสียมิให้ธาตุอาหารพืชนั้น ๆ ถูกชะล้างไป และเมื่อไถกลบพืชปุ๋ยสดนั้นแล้ว ปริมาณธาตุอาหารก็จะกลับลงไปสู่ดินใหม่ เพื่อให้พืชหลักในฤดูถัดไปดูดใช้ประโยชน์
4.ปุ๋ยพืชสดที่เป็นตระกูลถั่วบางชนิดมีระบบรากลึก สามารถที่จะดึงเอาธาตุอาหารพืชที่อยู่ในดินลึก ซึ่งพืชชนิดอื่น ๆ ที่ระบบรากสั้นมากสามารถนำมาใช้ในดินชั้นบนได้ และรากของพืชปุ๋ยสดที่ชอนไชอยู่ในดินจะทำให้มีการระบายของน้ำและอากาศในดินมากขึ้น
5.ช่วยในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ใช้เป็นพืชคลุมดิน ก็จะช่วยมิให้หน้าดินเกิดการชะล้างพังทลาย (erosion) อันเกิดจากน้ำและลม และเมื่อเศษใบ หรือกิ่งของพืชคลุมนั้นหมดอายุที่หลุดร่วงลงทับถมในหน้าดิน และต่อมาก็ผุสลายตัวเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน
6.ช่วยในการปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพของดินให้ดีขึ้น เพื่อให้เหมาะสมแก่การปลูกพืช ซึ่งปุ๋ยพืชสดเมื่อสลายตัวสมบูรณ์แล้ว จะเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่วัตถุให้แก่ดิน อันจะเป็นตัวแทรกอยู่ระหว่างเม็ดดิน ทำให้ดินนั้นเกาะตัวกันอย่างหลวม ๆ ทำให้ดินนั้นอุ้มน้ำดีขึ้น
7.ช่วยในการป้องกันกำจัดวัชพืช ในกรณีที่พืชปุ๋ยสดที่ปลูกเป็นพืชคลุมดินเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ก็จะป้องกันมิให้วัชพืชอื่น ๆ ที่ไม่ต้องการขึ้นได้อันเป็นการลดต้นทุนในการป้องกันกำจัดวัชพืชอีกด้วย
8.ช่วยในการควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช การใช้พืชปุ๋ยสดทำให้เชื้อสาเหตุโรคพืช Aspergillus flavus, Sclerotium rolfsi และ Rhizoctonia solani และนอกจากนี้ยังพบว่าการใช้พืชปุ๋ยสดสามารถตัดวงจรที่ระบาดของโรคใบขาวในอ้อยได้อีกด้วย
9.ช่วยเพิ่มผลผลิตของพืชหลักให้สูงขึ้น และคุณภาพดีขึ้น การใช้ปุ๋ยพืชสดสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี โดยพบว่าการใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีอัตราครึ่งหนึ่งตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร จะทำให้ผลผลิตพืชหลักที่ปลูกตามมาสูงสุด และได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงสุด ซึ่งพืชปุ๋ยสดที่ปลูกจะต้องมีน้ำหนักสด ต่ำกว่า 1.5-2 ตันต่อไร่
รวบรวมโดย.. นายนิรัญ เทพรัตน์ หัวหน้าศูนย์เรียนรู้ยางพาราจังหวัดพัทลุง
อ้างอิง : สถานีพัฒนาที่ดินพระนครศรีอยุธยา